ไม่พบผลการค้นหา
หมอกควันจากอินโดนีเซีย พัดเข้าปกคลุมมาเลเซีย สิงคโปร์ และทางตอนใต้ของไทย มาเลเซียชี้ต้นเพลิงเกิดในพื้นที่สวนปาล์มเกาะสุมาตราและบอร์เนียว ทางอินโดนีเซียยืนกรานปฏิเสธ ล่าสุดมาเลเซียสั่งปิดโรงเรียนบางแห่ง เตรียมทำฝนเทียม

เยียวบียิน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ของมาเลเซีย อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งอาเซียน หรือเอเอสเอ็มซี (Asean Specialised Meteorological Centre: ASMC) ว่าหมอกควันที่กำลังปกคลุมมาเลเซียอยู่ในขณะนี้ มีต้นกำเนิดจากเกาะบอร์เนียวและสุมาตราของอินโดนีเซีย โดยระบุว่าพบจุดความร้อนหรือฮอตสป็อต ถึง 16,000 จุดในวันที่ 12 กันยายน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเอเอสเอ็มซีชี้ว่าจุดที่เป็นฮอตสป็อตนั้น เป็นพื้นที่ดินพรุ ซึ่งบ่งชี้ว่าต้นเพลิงเกิดในพื้นที่การเกษตร

ทางด้าน สิถี นูร์บายา บาการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซีย ปฏิเสธว่าหมอกควันในมาเลเซียนั้นเกิดในประเทศมาเลเซียเอง ไม่ได้มาจากอินโดนีเซียทั้งหมด พร้อมอ้างว่าทางมาเลเซียมีความไม่โปร่งใสเรื่องสถานการณ์ไฟป่าของตัวเอง แต่ทางเยียวบียินจากมาเลเซีย โต้กลับว่าสิถี นูร์บายา ไม่ควรปฏิเสธความจริง พร้อมเสริมว่าจะปล่อยให้ข้อมูลเป็นตัวบอกเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ชาวมาเลเซียจำนวนมากจะชื่นชมที่เยียวบียินยืนหยัดบนหลักของข้อมูล แต่ก็มีผู้แสดงความต้องการให้มีการออกมาตรการจัดการต้นตอและทางแก้ไขปัญหาฝุ่นควันมากกว่าการชี้ว่าใครผิด โดยระบุว่าหมอกควันนั้นเกิดขึ้นทุกปีมานับทศวรรษแล้ว

ทั้งนี้ อินโดนีเซีย เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ โดยสวนปาล์มที่ตั้งอยู่ในเกาะบอร์เนียวและสุมาตรานั้น ผลิตน้ำมันปาล์มมากถึง 96 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และข้อมูลจุดฮอตสป็อตจากเอเอสเอ็มซีนั้นก็สัมพันธ์กับตำแหน่งพื้นที่ผลิตน้ำมันปาล์มนี้

สืบเนื่องจากปัญหาหมอกควันดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 13 กันยายน กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซีย ประกาศสั่งปิดใช้งานพื้นที่สวนปาล์มที่ดำเนินการโดยบริษัทอย่างน้อย 30 ราย โดยในจำนวนนี้มีบริษัทสิงคโปร์ 1 ราย และบริษัทมาเลเซีย 4 ราย ทั้งนี้ ทางอินโดนีเซียได้ดำเนินการสอบสวนบริษัทเหล่านี้มาตั้งแต่เดือนที่แล้ว

ทางด้าน เทเรซา ก๊อก รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมปฐมภูมิมาเลเซีย ได้ออกมาตำหนิว่านี่เป็นการกล่าวหาอย่างร้ายแรง และอาจเข้าทางกลุ่มรณรงค์ต่อต้านน้ำมันปาล์มซึ่งจะส่งผลเสียกับทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งต่างเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำปาล์มรายใหญ่

สถานการณ์ฝุ่นปัจจุบัน มาเลเซียหนัก สิงคโปร์เสี่ยง ไทยยังมาตรฐาน

ปัญหาหมอกควันจากอินโดนีเซียนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นนับสิบปีแล้ว และโดนประเทศผู้ได้รับผลกระทบอย่างไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์กดดันมาตลอด

สำหรับบางส่วนของสถานการณ์ในปัจจุบันนั้น รัฐสลังงอร์ (Selangor) ทางตะวันตกของมาเลเซียได้สั่งหยุดโรงเรียนไปแล้ว 29 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน กระทบนักเรียนกว่า 45,000 คน เนื่องจากในช่วง 11 โมงเช้าของวันนั้นมีค่าดัชนีชี้วัดมลพิษทางอากาศ หรือเอพีไอ (Air Pollutant Index: API) อยู่ในระดับ 103-141 ซึ่งเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (unhealthy) ขณะที่บางจุดของเมืองกลัง (Klang) ในรัฐสลังงอร์นั้นมีค่าดัชนีมลพิษสูงกว่า 200 ทางรัฐบาลมีความพยายามจะทำฝนเทียมแต่ได้ระงับปฏิบัติการณ์ไปก่อนในวันเสาร์เนื่องจากสภาพอากาศแห้งไม่เอื้อต่อการทำฝนเทียม โดยจะปฏิบัติการอีกครั้งได้เร็วที่สุดในวันอาทิตย์

ส่วนรัฐยะโฮร์ (Johor) ประเทศมาเลเซีย สั่งหยุดโรงเรียนกว่า 300 แห่ง และตามกำหนดการมีแผนจะทำฝนเทียมในช่วงเที่ยงวันที่ 16 กันยายน

ไม่เพียงแต่อินโดนีเซียและมาเลเซียเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันในครั้งนี้ สิงคโปร์ซึ่งใช้ดัชนีชี้วัดเป็นดัชนีมาตรฐานมลพิษทางอากาศ หรือพีเอสไอ (Pollutant Standards Index: PSI) ก็ระบุว่าในช่วงเที่ยงวันเสาร์ที่ 14 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น ค่าพีเอสไอสูงขึ้นในระดับ 83-94 เกือบเข้าสู่ระดับที่มีผลต่อสุขภาพ (unhealthy: 101-200) แต่ทางตอนใต้ของสิงคโปร์มีค่า PM2.5 ต่อชั่วโมงสูงสุดที่ 64 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์ดูจะรุนแรงขึ้นในช่วง 5 ทุ่มของวันเดียวกัน ทางตอนเหนือสิงคโปร์มีค่า PM2.5 ต่อชั่วโมงสูงสุดที่ 77 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ทางตอนใต้สูงถึง 97 เกินระดับปกติซึ่งอยู่ที่ไม่เกิน 55 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรไปแล้ว

องค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ (National Environment Agency) ระบุว่าพบฮอตสปอตทั้งในเกาะสุมาตราและบอร์เนียวของอินโดนีเซีย แต่จากทิศทางลมแล้วหมอกควันในสิงคโปร์นั้นพัดมาจากเกาะสุมาตรา

ทั้งนี้ ทางสิงคโปร์ชี้ว่าระดับมลพิษทางอากาศยังอยู่ในระดับปานกลาง แต่สถานการณ์อาจแย่ลงหากกระแสลมไม่เป็นใจและต้นเพลิงในสุมาตรายังลุกลาม พร้อมเสริมว่าสิงคโปร์ยังมีโอกาสที่จะมีฝนตกเป็นช่วงสั้นๆ อยู่ แต่สภาพอากาศโดยทั่วไปในเกาะสุมาตราและบอร์เนียวซึ่งเป็นต้นกำเนิดของควันนั้นยังคงมีสภาพอากาศแห้ง

นอกจากนี้ ในวันที่ 14 กันยายน เว็บไซต์ท่าอากาศยานชางงีของสิงคโปร์ ระบุว่าภายในเวลา 19.50 น. มีเที่ยวบินรวม 11 เที่ยวบินที่ถูกยกเลิก และมีเที่ยวบินดีเลย์ 9 เที่ยวบิน โดยส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินสู่ประเทศอินโดนีเซีย และเที่ยวบินจากประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากปัญหาหมอกควันที่รุนแรงขึ้นบดบังทัศนวิสัย

สำหรับประเทศไทยนั้นมีหมอกควันบางส่วนถูกพัดเข้าสู่ภาคใต้ ทางสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เผยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในวันที่ 11 กันยายน ชี้ว่าหาดใหญ่มีคุณภาพอากาศปานกลาง ค่าเฉลี่ย 24 ของปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ที่ 43 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ยังสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้

ด้านสาธารณสุขจังหวัดยะลา เผยว่าทิศทางลมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้ และฮอตสปอตบางส่วนบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย เป็นผลให้เกิดหมอกควันข้ามแดนปกคลุมพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่าสูงขึ้น แต่สถานการณ์หมอกควันฯ จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 13 ก.ย ยังคงอยู่ในระดับไม่เกินมาตรฐาน

ที่มา: Strait Times / CNA / Business Insider

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: