หลังเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยเรื่องราวของคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิว ระบุมีคนไร้บ้านอย่างน้อย 2 คน ที่ถูกจับกุมในคืนวันที่ 12 และ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา รายแรกถูกจับเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ศาลสั่งลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1,500 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี แต่ภายหลังศาลเมตตาสั่งว่ากล่าวตักเตือนและให้ปล่อยตัว
อีกรายถูกจับคืนวันที่ 13 เม.ย.ขณะเดินกลับจากลานท่าแพไปยังที่พักบริเวณตลาดวโรรส ถูกคุมตัวนอนโรงพัก 1 คืน วันรุ่งขึ้น ศาลพิจารณาว่าเป็นความผิดครั้งแรก และถูกปรับเป็นเงิน 3,000 บาท แต่คนมีคนใจบุญช่วยจ่ายค่าปรับให้
กรณีที่เกิดขึ้นอาสาสมัคร "บ้านเตื่อมฝัน กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่" ซึ่งทำงานเป็นศูนย์ช่วยเหลือสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความกังวลว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักกับกลุ่มคนไร้บ้าน และมีความจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะเป็นที่อยู่อาศัย ดังเช่นสองคนที่ถูกจับกุม
ล่าสุดในวันนี้ (22 เม.ย.) นางจิราพร เชาวน์ประยูร ยามาโมโต้ เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ย่านตลาดวโรรส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มคนไร้บ้าน ใช้เวลาในช่วงกลางวันประกอบอาชีพรับจ้างเข็นผัก และอาศัยพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำปิงในบริเวณนี้เป็น "บ้าน" นอนหลับในช่วงกลางคืน พร้อมกับได้สอบถามข้อมูลกับนายบอย (นามสมมุติ) ชายวัย 30 ปี หนึ่งในสองที่ถูกจับกุมในคืนวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา
นายบอย เล่าว่า ออกจากบ้านมาตั้งแต่วัยรุ่น รับจ้างเข็นผักและรับจ้างทั่วไปย่านตลาดวโรรส ในช่วงกลางคืนจะอาศัยตึกร้างในบริเวณเดียวกันเป็นที่หลับนอน โดยมีเพื่อนอีก 2 คน ที่อยู่ด้วยกัน ในคืนวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลา 21.00 น. ได้เดินไปหาเพื่อนที่นัดหมายกันไว้ที่ลานท่าแพ ห่างจากตลาดวโรรสประมาณ 2 กม.แต่รอนานไม่เจอเพื่อน จึงเดินกลับ แต่ไม่ทันถึงที่พัก ก็ถูกตำรวจที่ตั้งด่านบริเวณดังกล่าวจับกุม เพราะเกินเวลา 22.00 น. จากนั้นตำรวจได้พาไปโรงพัก สภ.เมืองเชียงใหม่ เอาอาหารน้ำดื่มมาให้ และ ให้นอนที่โรงพัก 1 คืน ก่อนนำตัวส่งฟ้องศาลวันรุ่งขึ้น
นายบอย กล่าวต่อว่า ทราบถึงมาตรการเคอร์ฟิวและตั้งใจกลับที่พัก แต่ไม่ทันเวลา ส่วนที่เลือกเป็นคนไร้บ้าน ไม่อยากไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน เพราะอยู่ข้างนอก สามารถหางานทำได้ มีรายได้ ไม่เป็นภาระสังคม หลังจากนี้ก็คงเข็ด ไม่ออกไปจากตึกร้างหลังสี่ทุ่มอย่างแน่นอน
ด้านนางจิราพร ได้ให้คำแนะนำกับนายบอยถึงมาตรการทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ พร้อมกับบอกว่าขณะนี้ในจังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่มคนไร้บ้านประมาณ 120 คน ในจำนวนนี้บางส่วนอยู่ที่ศูนย์พักพิงของอาสาสมัครภาคเอกชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นเลือกที่จะออกมาอยู่ตามพื้นที่สาธารณะโดยในช่วงกลางวันจะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปแล้วเข็นผักอยู่ตามตลาดส่วนตอนกลางคืนก็จะนอนตามพื้นที่สาธารณะในบริเวณเดียวกัน
อย่างไรก็ตามมาตรการเคอร์ฟิวที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนกลุ่มนี้ได้ทราบและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
ส่วนมาตรการในการดูแลกลุ่มคนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ทางกระทรวง พม.มีสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งสันมหาพน อ.แม่แตง ซึ่งเป็นสถานที่รองรับคนไร้บ้าน แต่ยอมรับว่าส่วนใหญ่ไม่ต้องการเข้าไปอยู่