ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกึ่งล็อกดาวน์ 6 จว. เห็นชอบสินเชื่ออิ่มใจ ให้ผู้ประกอบการกู้ไม่เกินแสน ไม่ต้องมีหลักประกัน

วันที่ 6 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.อนุมัติโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) กรอบวงเงินจำนวน 2,519.38 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ นายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 4 ประเภทกิจการได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจการกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ ดังนี้

1) นายจ้างที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ณ วันที่ 28 มิ.ย.2564 หรือนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. – 30 ก.ค. 2564 จำนวน 41,940 ราย โดยจะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง

2) ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ทั้งนี้กรณีที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ราย ให้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเพียงครั้งเดียวในอัตรา 2,000 บาท

อนุชา

สำหรับวิธีการจ่ายเงินเยียวยานั้น กรณีบุคคลธรรมดาและผู้ประกันตนมาตรา 33 จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้ง หรือตามวิธีการอื่นๆที่กระทรวงแรงงานกำหนด โดยเริ่มโอนเงินเยียวยาครั้งแรกภายในวันที่ 23 ก.ค. 2564 และโอนเงินซ้ำทุกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ที่ประชุม ครม. ยังมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม เร่งลงทะเบียนนายจ้าง และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างของนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ในช่วงวันที่ 29 มิ.ย. - 30 ก.ค. 2564 เพื่อยืนยันว่ามีการประกอบธุรกิจและมีการจ้างงานตามจำนวนที่แจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมไว้จริง รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างรายใหม่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้นด้วย

อนุชา.jpg

นอกจากนี้ อนุชา เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ ภัตตาคาร ร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เป็นร้านแบบเคลื่อนที่ได้ เช่น หาบเร่ แผงลอย รถเข็น เป็นต้น ที่มีรายได้ลดลง ให้มีสภาพคล่องเพียงพอ ลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหรือสินเชื่อนอกระบบ

หลักเกณฑ์โครงการ ฯ คือ ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน (Clean Loan) คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 2,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินจะเริ่มดำเนินการให้บริการสินเชื่อตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินโครงการจนถึงอนุมัติเต็มวงเงินสินเชื่อหรือถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ ฯ

มาตรการสินเชื่ออิ่มใจจะช่วยเหลือผู้ประกอบร้านอาหาร/เครื่องดื่มได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ราย เฉลี่ยรายละ 50,000 บาท ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากที่ผู้บริโภคมีการหลีกเลี่ยงใช้บริการภายในร้านหรือเปลี่ยนพฤติกรรมจากการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเป็นการซื้ออาหารกับ รวมทั้งที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนที่กำหนดให้ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม เปิดดำเนินการเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่อื่น ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง