ไม่พบผลการค้นหา
‘กาญจนา’ โฆษก กต. เผยยอดแรงงานไทยในอิสราเอลอยากกลับบ้าน 1,099 คน ระบุ รบ. เดินหน้าประสาน ‘มาเลเซีย’ คุย ‘ปาเลสไตน์’ เพื่อรักษาชีวิตตัวประกันไทย ชี้ทางการไทยต้องรอบคอบในการกำหนดท่าที ย้ำสถานทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟไม่นิ่งนอนใจ

วันที่ 9 ต.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าของรัฐบาลไทยในประเด็นความไม่สงบระหว่าง รัฐอิสราเอล และปาเลสไตน์ ในบริเวณพื้นที่ชายแดนอิสราเอล และฉนวนกาซ่า ว่า ตามที่ได้รับรายงาน สถานการณ์ยังคงมีความรุนแรง และมีการโจมตีด้วยอาวุธ ส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลอิสราเอลพยายามกระชับพื้นที่ รวมถึงมีความพยายามช่วยเหลือตัวประกันผู้ถูกจับกุมจากประเทศต่างๆ ซึ่งมีการยืนยันแล้วอย่างน้อย 100 ราย 

กาญจนา กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐอิสราเอล ได้ประกาศให้อิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม กองทัพมีอำนาจในการสั่งการด้านความปลอดภัย พร้อมประกาศอพยพประชาชน รวมถึงประชาชนคนไทย ออกจากเมืองที่อยู่ใกล้กับฉนวนกาซ่า ภายใน 24 ชั่วโมง 

รวมถึงได้รับแจ้งว่า รัฐบาลอิสราเอลได้กำชับคณะทูตถึงสถานการณ์ต่างๆ เพื่อลดความกังวลของสถานทูตประเทศต่างๆ ในรัฐอิสราเอล พร้อมย้ำว่า ทางท่าอากาศยานของรัฐอิสราเอลยังคงเปิดทำการปกติ และมีเที่ยวบินเข้าออก ร้อยละ 50 จากจำนวนก่อนเกิดภาวะสงคราม ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐอิสราเอลยังคงปลอดภัย จึงไม่แนะนำให้มีการอพยพ แต่ได้ยื่นข้อเสนอว่า หากประเทศไหนประสงค์จะอพยพประชาชน ก็สามารถติดต่อผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศรัฐอิสราเอลเพื่ออพยพโดยใช้เครื่องบินพาณิชย์ได้ 

ส่วนผลกระทบของแรงงานไทย และมาตรการที่รัฐบาลไทยได้ปรึกษาหารือนั้น ล่าสุดได้รับแจ้งจากสถานทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟ (เมืองหลวงรัฐอิสราเอล) ว่า มีคนไทยได้รับบาดเจ็บ 8 ราย ซึ่งได้รับการดูแลในโรงพยาบาลเรียบร้อย และในแง่ของการถูกจับกุมเป็นตัวประกัน ตัวเลขคือ 11 คน ส่วนผู้เสียชีวิต ทางสถานทูตได้รับแจ้งจากนายจ้างแล้วเบ็ดเสร็จ 12 ราย โดยรายชื่อดังกล่าวนั้น กระทรวงการต่างประเทศยังไม่อยากเปิดเผยออกไปตามสื่อเพื่อรักษามารยาทแก่ญาติของผู้เสียชีวิต

โดยการอพยพประชาชนนั้น ศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ได้มีการประชุมว่า จะใช้เครื่องบินกองทัพอากาศในการดำเนินการอพยพ ซึ่งการดำเนินการอพยพนั้นจะต้องวางแผนทั้งเส้นทาง วันเวลาในการอพยพ เนื่องจากต้องทำการขออนุญาตเส้นทางการบินภายหลังน่านฟ้าเปิด รวมถึงต้องจัดการเรื่องหนังสือเดินทางที่จะออกให้เป็นหนังสือเดินทางราชการ ซึ่งจะทำให้มีการดำเนินการได้อย่างรวดเร็วต่อไป 


กาญจนา กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการออกแบบฟอร์มการแจ้งความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยให้แก่แรงงานไทยในรัฐอิสราเอล โดยยอดล่าสุดของการตอบรับในวันที่ 8 ต.ค. เวลา 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นอิสราเอล) พบว่า มีผู้ประสงค์กลับเมืองไทยทั้งสิ้น 1,099 คน และยังไม่ขอกลับ 22 คน ทั้งนี้ คงมีการทยอยแจ้งความจำนงเข้ามา เนื่องจากจำนวนแรงงานไทยในรัฐอิสราเอลมีประมาณ 30,000 คน และคนไทยในฉนวนกาซ่านั้นมีมากถึง 5,000 คน 

โดยการดำเนินการอพยพจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่นั้น ต้องรอสัญญาณของผู้ที่แจ้งความประสงค์เดินทางกลับ และความพร้อมของการดำเนินการลำเลียงผู้คนไปยังพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงการเตรียมการในเรื่องธุรการการบิน 

สำหรับการติดต่อไปทางสถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อประสานไปยังกลุ่มปาเลสไตน์ในการรักษาตัวประกันนั้น กาญจนา กล่าวว่า รัฐบาลได้สั่งการไปทางสถานทูตฯ โดยยังรอการรายงานจากสถานทูตฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่ และยังมีการประสานไปยังประเทศอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงอิสราเอลเพื่อเตรียมแผนรับมือในการอพยพคนไทยต่อไป 

กาญจนา กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ และรัฐบาลไทยมีความเห็นอกเห็นใจพี่น้องแรงงานไทยในรัฐอิสราเอล ในสถานการณ์วิกฤตสิ่งที่พยายามจะสื่อสารออกมานั้นจะไม่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และรัฐบาลเข้าใจดีถึงความละเอียดอ่อนของปัญหา และการกำหนดท่าทีต่างๆ ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่มีใครสามารถยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์ 

“การดำเนินการในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตเป็นเรื่องมีความละเอียดอ่อนต้องมีความรอบคอบในสิ่งที่จะสื่อสารออกไป การดำเนินการช้า หรือเร็ว เป็นสิ่งแล้วแต่บุคคลจะคิด แต่เราพยายามจะทำทุกอย่างให้เร็วที่สุด ทางสถานทูตไทยที่กรุงเทลอาวีฟไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการประสานอย่างใกล้ชิดตลอด” กาญจนา ย้ำ