ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กที่มียอดสมาชิกทะลุแสนรายภายในหนึ่งวันเผยกับวอยซ์ว่า "เราแค่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี" และประเทศนี้ให้ไม่ได้

ตั้งแต่พบคลัสเตอร์ทองหล่อ ช่วงต้นเดือน เม.ย.2564 จนนำไปสู่การระบาดรอบใหม่ ครั้งที่ 3 ความผิดพลาดในการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแต่จะเพิ่มขึ้น 

ในห้วงเวลาเดียวกัน สหรัฐอเมริกาที่เพิ่งมีประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งได้เพียง 100 วัน สามารถกระจายวัคซีนกว่า 200 ล้านโดส วางแผนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ลูกจ้างของรัฐเกือบ 40% และส่งเสริมกองทุนการศึกษาในเด็กเพื่อลดความยากจน 

หันกลับมามองประเทศใกล้ๆ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไต้หวันประจำไตรมาสที่ 1/2564 พุ่งกว่า 8% ตัวเลขคนตกงานไม่ได้เพิ่มขึ้นแม้แต่น้อยตลอดวิกฤตโรคระบาด ประชาชนประเทศชานมไข่มุกยังมีเงินจับจ่ายใช้สอยเป็นปกติ 

ส่วนประเทศชื่อคล้ายอย่าง 'ไทยแลนด์' หลายชีวิตแทบจะมีชีวิตรอดอยู่บนสารพัดเงินแจกชื่อเพราะอย่าง "เราชนะ" หรือ "ไทยชนะ" ที่ไม่เคยทำให้คนในชาติ "ชนะ" ได้อย่างแท้จริง 


เมื่อความหวังไม่มีที่ "ไทย"

ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟสบุ๊กดังกล่าวเผยกับ 'วอยซ์' ว่า ในฐานะผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโรคระบาดและการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด ตนเองตั้งกลุ่มดังกล่าวขึ้นมา "เอาตลก" เท่านั้นในตอนแรก โดยมีสมาชิกเริ่มต้นเป็นเพื่อนและคนรู้จักซึ่งได้รับผลกระทบไม่แพ้กันราว 50 คน 

ทว่าผลตอบลัพธ์ในชั่วพริบตากับหลั่งไหลเข้ามาอย่างมหาศาล ระยะเวลาผ่านไปไม่ถึง 1 วันเต็ม นับตั้งแต่กลุ่ม "ย้ายประเทศกันเถอะ" ถือกำเนิด ตัวเลขสมาชิกพรั่งพรูเข้ามาแล้วมากกว่า 150,000 ราย และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

Screen Shot 2021-05-02 at 3.04.06 PM.png

"เราแค่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี" คือคำตอบที่ได้รับกลับมาเมื่อวอยซ์เอ่ยถามผู้ประกอบการวัยหนุ่มว่าเขารู้สึกอย่างไรกับภาวะการเลือกทิ้งบ้านเกิดแล้วหวังไปมีชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศ 

"เราไม่อยากแก่ในประเทศนี้ หลายคนเขามองว่าทำไมไม่สู้ที่นี่ เราไม่ได้อยากชนะ เราแค่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี นี่เป็นวิธีสู้ของเรา คือเราท้อแล้ว เราว่ามันไม่ได้ผิดนะที่คนอยากมีชีวิตดีกว่านี้ ในเมื่อที่นี่ให้ไม่ได้ เขาก็ต้องไปหาที่อื่น กลุ่มเรามีทั้งแพทย์ พยาบาล ครู นักวิชาการ นักธุรกิจ หลากหลายอาชีพมาก ทั้งที่เขาเหล่านี้คือหัวแรงสำคัญในการจ่ายภาษี พัฒนาประเทศ แต่พวกเขาไม่อยากอยู่กันแล้ว"

"เราไม่ได้อยากชนะ เราแค่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี"

"เศร้าที่สุดคือเราเห็นเด็กมัธยม ม.สอง ม.สาม ถามว่าหนูเรียนจบแล้วหนูไปไหนได้บ้าง หนูไม่อยากเรียนปริญญาตรีที่นี่ เขาอายุเท่านี้ แต่ผู้ใหญ่ทำลายความฝันเขาไปขนาดนี้แล้ว เราจำได้ว่าตอนที่เราอายุเท่านั้น เราเคยมีความหวัง เราเคยมีความฝัน เราเคยมีความสดใสในวัยของเรา แต่เด็กอายุเท่านี้ กลับโดนผู้ใหญ่ทำลายความฝันเขาไปหมด จนเขาไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว"

อีกสิ่งหนึ่งที่นักธุรกิจวัยทำงานชี้ว่าตนสังเกตได้จากกลุ่มที่เติบโตอย่างรวดเร็วคือเนื้อหาภายในกลุ่มมีสัดส่วนน้อยมากที่เป็นการตัดพ้อหรือแม้แต่เสียดสีผู้เห็นต่างทางการเมือง เนื้อหาแทบทั้งหมดเต็มไปด้วยข้อมูลและประสบการณ์ตรงจากสมาชิกที่ได้ไปอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจริงๆ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า ประชาชนไทยจำนวนไม่น้อย หมดหวังแล้วกลับประเทศของพวกเขา 

"เขาผลัดกันเข้ามาแชร์ประสบการณ์ มันไม่ใช่เว้าวอน มันไม่มีใครบ่น แขวะสลิ่มยังน้อย กูต้องทำยังไง ถึงจะออกจากประเทศได้ มันเลยจุดจะบ่นแล้ว พวกกูไม่ไหวแล้ว"

ด้วยเหตุนี้ ทั้งตัวเขาเองรวมถึงทีมงานและสมาชิกกลุ่มจึงร่วมกันตั้งโครงการสอนภาษาต่างประเทศให้กับผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะตัวเองเพื่อเพิ่มโอกาสในการไปทำงานต่อต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากภาษาอังกฤษ ก่อนจะทยอยขยายฐานออกไปยังภาษาอื่นๆ เพราะเขาเชื่อว่าเวลานี้มีแต่ประชาชนที่จะช่วยกันได้เท่านั้น


เทรนด์อนาคต : อยู่ไม่ไหวก็ต้องไป

การย้ายถิ่นฐานของผู้คนทั่วโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งยังไม่มีแนวโน้มจะลดลงแต่อย่างใด รายงานจากสำนักงานกลยุทธ์และระบบนโยบายของสหภาพยุโรป ชี้ว่าตัวเลขการย้ายถิ่นฐานของพลเมืองโลก เพิ่มขึ้นจาก 173 ล้านคน ในปี 2543 เป็น 258 ล้านคน ในปี 2559 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของจำนวนพลเมืองทั่วโลกด้วยซ้ำ 

กลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วยังคงเป็นประเทศเนื้อหอมที่ผู้อพยพต้องการไปตั้งรกรากสร้างชีวิตใหม่มากที่สุด ตั้งแต่ปี 2543-2559 ประเทศกลุ่มนี้อ้าแขนรับผู้อพยพไปแล้วถึง 64% ของผู้อพยพทั้งหมด หรือราว 165 ล้านคน

ขณะที่ผู้อพยพอีก 81 ล้านคน ออกจากประเทศตนเองเพื่อไปพึ่งพิงประเทศรายได้ปานกลาง ส่วนผู้อพยพอีก 11 ล้านคน เดินทางไปยังประเทศรายได้ต่ำ 

ลักเซมเบิร์ก ขนส่งมวลชน รอยเตอร์ส

ความแตกต่างสำคัญของ 'ผู้อพยพ' ในศตวรรษที่ 21 คือ พวกเขาไม่ใช่แรงงานที่ประเทศร่ำรวยเหล่านี้ไม่ต้องการอีกต่อไป โดยเฉพาะกับประเทศในทวีปยุโรปเนื่องจากภาวะสังคมสูงวัย 

หากไม่มีตัวเลขผู้อพยพเข้าไปยังประเทศในทวีปยุโรป จำนวนประชากรที่เคยอยู่ที่ราว 512 ล้านคน ในปี 2559 (นับรวมสหราชอาณาจักร) จะลดลงมาเหลือ 471 ล้านคน ในปี 2593 หรือคิดเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่หายไปถึง 41 ล้านคน นั่นหมายความว่า ประเทศเหล่านี้ต้องการผู้อพยพเข้าไปเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

ในมิติคล้ายคลึงกัน แคนาดา ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน และวางนโยบายเปิดรับแรงงานทักษะสูงเข้าไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจเต็มที่ ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งแคนาดา ณ ปี 2563 ประเทศมีประชากรรวมทั้งสิ้น 38 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีบุคคลที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปสูงถึง 6.8 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 17.8% 

ด้วยเหตุนี้ มาร์โค เมนดิซิโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงผู้อพยพ, ผู้ลี้ภัย และสิทธิพลเมืองแห่งแคนาดา วางแผนเปิดรับผู้อพยพชาวต่างชาติระหว่างปี 2564-2566 ด้วยตัวเลขรวมถึง 1.2 ล้านคน

ขณะที่ประเทศฝั่งยุโรปหรือประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยกำลังวางแผนระยะยาวเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะสังคมสูงวัย ประเทศไทยที่เรียกว่าเหยียบเข้ามาสู่ภาวะดังกล่าวแล้วกลับยังไม่เห็นนโยบายใดออกมารองรับอย่างเป็นรูปธรรม 

นับตั้งแต่ก่อนจะมีวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์ทางการเงินของกลุ่มผู้สุงอายุในประเทศไทยมีความเปราะบางแต่แรกอยู่แล้ว งานวิจัยของ ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า 34% ของผู้สูงอายุในไทยยังต้องทำงานเลี้ยงชีพตนเอง ขณะที่อีก 36% - 37% ไม่มีรายได้อื่น นอกจากการสนับสนุนของบุตรหลาน ส่วนเงินสนับสนุนจากรัฐบาลนั้นก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริง 

ตามข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่า เงินช่วยเหลือดังกล่าวเป็นแบบระบบขั้นบันได แบ่งตามอายุประชาชน วัย 60-69 ปี ได้รับเบี้ยเดือนละ 600 บาท ขณะที่วัน 70-79 และ 80-89 ได้รับเบี้ยเดือนละ 700 และ 800 บาท ตามลำดับ ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสนับสนุนตรงนี้รายละ 1,000 บาท/เดือน

ซ้ำร้ายเมื่อมองในภาพใหญ่ ระดับความยากจนของคนในชาติตามข้อมูลจากธนาคารโลกยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ยิ่งเมื่อประกอบกับวิกฤตโควิด-19 ที่ชาติไทยต้องใช้เวลานานกว่าประเทศอื่นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้ง 

หากผสานทุกมิติเข้าด้วยกัน ไม่มีสิ่งใดผิดแปลกแม้แต่น้อยที่กลุ่ม "ย้ายประเทศกันเถอะ" จะมีผู้ให้ความสนใจมากขนาดนี้

อ้างอิง; OECD, UN Migration, ESPAS, World Economic Forum, ILO

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;