ไม่พบผลการค้นหา
กรณีศึกษาขนส่งมวชนฟรีในลักเซมเบิร์ก เมื่อรัฐบาลอยากให้ประชาชนใช้ขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น จึงกำจัดค่าโดยสารทิ้งไป แล้วหันไปชดเชยรายได้จากการเก็บภาษีกับคนรวยแทน

ราคาในการมีชีวิตอยู่ของคนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เงินได้กลับไม่ได้โตสอดคล้องกัน เมื่อต้องมาเจอทั้งโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้คนจำนวนไม่น้อยตกงาน รายได้ลดลง แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น คำถามคือ รัฐบาลทำอะไรได้บ้าง 

‘เราไม่ทิ้งกัน’ ‘เราชนะ’ หรือ ‘เรารักกัน’ คือสารพัดมาตรการ ‘ชื่อเพราะ’ ที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อหวังเยียวยาประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม แม้ยังไม่มีตัวเลขออกมาสนับสนุนอย่างชัดเจนว่าเศรษฐกิจดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ในระยะยาวและในมิติที่ยั่งยืน ยังมีนโยบายอีกมากที่รัฐบาลทำได้ ในฐานะผู้ให้บริการและรับใช้ประชาชน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านโครงสร้างพื้นฐานของสังคมอย่าง ‘ขนส่งมวลชน’ 

บีทีเอส สยามพารากอน โควิด กรุงเทพมหานคร  คนกรุง8.jpg

ขณะที่ประชาชนโดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ กลายเป็นตัวประกันระหว่าง ‘บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)’ กับ ‘กรุงเทพมหานคร’ และ ‘รัฐบาล’ ที่มีปัญหาการค้างชำระหนี้กันมากกว่า 30,000 ล้านบาท ผสมรวมกับประเด็นการต่อสัมปทาน ขณะที่คนไทยในต่างจังหวัดไม่ต้องเจอปัญหาดังกล่าวเพราะการพัฒนาไปไม่ถึงตั้งแต่แรก 

‘วอยซ์’ อยากชวนมองความหวังจากตัวอย่างในต่างประเทศ ที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีร่วมกันผลักดันจนประชากรของลักเซมเบิร์กมีขนส่งสาธารณะใช้ได้ฟรีและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง 


ลักเซมเบิร์ก : ประเทศแรกของโลก

1 มี.ค. 2563 คือวันแรกที่แผนปฏิรูปการเก็บค่าโดยสารทั้งรถบัส, รถราง และรถไฟของประเทศลักเซมเบิร์กถูกบังคับใช้ ทั้งประชาชนในประเทศและนักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องเสียเงินสักฟรังก์ลักเซมเบิร์ก (LUF) เดียว

ยกเว้นเพียงแต่ ‘รถไฟชั้นหนึ่ง’ (first-class train) เท่านั้น ที่ผู้โดยสารยังต้องเสียค่าโดยสารอยู่

ลักเซมเบิร์ก ขนส่งมวลชน รอยเตอร์ส

แท้จริงแล้ว แผนปฏิรูปการไม่เก็บค่าโดยสารดังกล่าวถูกเสนอขึ้นตั้งแต่ปี 2561 และวางไทม์ไลน์จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2562 แต่ถูกเลื่อนมาจนถึงปีที่ผ่านมา 

‘ฟร็องซัว บอส’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและโยธาธิการของลักเซมเบิร์ก หัวแรงสำคัญของนโยบายดังกล่าวชี้ว่า เป้าหมายหลักคือการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดให้กับพลเมืองทั้ง 614,000 คนของประเทศ 

เนื่องจากประชากรถึง 200,000 คนภายในประเทศ ต้องเดินทางออกไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเบลเยียม, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่าเป็นประจำ 

รมว.คมนาคม ชี้ว่า เมื่อหักเม็ดเงินจากการเก็บค่าโดยสารออกไปประมาณ 41 ล้านยูโร (1,500 ล้านบาท) แน่นอนว่า ‘ภาระดังกล่าว’ ต้องไปตกอยู่กับใครสักคนหนึ่งและในที่นี้คือ ‘ผู้จ่ายภาษี’ บอส เสริมว่า “แค่เพราะบอกว่ามันขนส่งมวลชนฟรีไม่ได้หมายความว่าไม่มีใครจ่าย” 

ลักเซมเบิร์ก
  • ‘ฟร็องซัว บอส’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและโยธาธิการ ลักเซมเบิร์ก

อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายทั้งระบบขนส่งมวลชนของลักเซมเบิร์กอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านยูโร (18,700 ล้านบาท) ตัวเลขจากรายได้ค่าโดยสารที่หายไปจึงไม่ใช่สัดส่วนที่มีนัยสำคัญมากนัก พนักงานขนส่งมวลชนในประเทศจะยังมีงานทำต่อไป ทั้งยังไม่ต้องมาเสียเวลากับค่าโดยสารที่เคยมีราคาเฉลี่ยราว 2 ยูโร (75 บาท) ต่อเที่ยว และ 4 ยูโร (150 บาท) ต่อหนึ่งวัน อีกต่อไป 


5 เหตุผลสำคัญเบื้องหลังนโยบาย 

รัฐบาลลักเซมเบิร์กผ่านนโยบายดังกล่าวโดยตั้งอยู่บน 5 เหตุผลสำคัญ ได้แก่ 

  • เป็นมาตรการทางสังคมที่จะเข้าไปเก็บเงินภาษีจากผู้มีรายได้สูงอย่างมีนัยสำคัญ 
  • ลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน เนื่องจากลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่ประชาชนมีรถยนต์ในครอบครองมากที่สุดในยุโรป เมื่อเทียบสัดส่วนจำนวนรถยนต์ต่อประชากร 1,000 คน 
  • รัฐบาลต้องการเห็นตัวเลขผู้ใช้ขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น 20% ภายในเวลา 5 ปี 
  • เป็นการกระตุ้นประชาชนให้หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แบบที่เอื้อให้การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทำได้จริง 
  • รัฐบาลต้องการพัฒนาการลงทุนในขนส่งมวลชนสาธารณะเพื่อรองรับตัวเลขผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งมองว่าแนวนโยบายของรัฐบาลลักเซมเบิร์กอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

'มาร์คัส เฮส' ศาสตรจารย์ด้านเมืองศึกษาจากมหาวิทยาลัยลักเซมเบิร์ก ชี้ว่า เนื่องจากประชากรลักเซมเบิร์กที่นิยมไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้านมีรายได้ค่อนข้างสูง ประกอบกับราคาพลังงานของประเทศค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียง จึงยังมีความเป็นไปได้สูงที่ประชาชนจะเลือกซื้อรถยต์ส่วนบุคคลมากกว่าใช้ขนส่งสาธารณะอยู่ดี 


ขนส่งฯ ฟรีในประเทศอื่น

ในปี 2556 ‘ทาลลินน์’ เมืองหลวงของประเทศเอสโตเนีย มีนโยบายเอื้อให้พลเมืองที่มีถิ่นพำนักของอยู่ในเมืองทาลลินน์สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ฟรี แต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้รวมผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองอื่นหรือนักท่องเที่ยว 

เมืองแอดิเลดของรัฐเซาท์ออสเตรเลียมีนโยบายรถบัสและรถรางให้ใช้งานฟรี ในย่านใจกลางเมือง (ซีบีดี)

ขณะที่สหรัฐอเมริกานำแผนขนส่งมวลชนฟรีไปทดลองกับหลายเมืองในหลายรัฐ เนื่องจากรัฐบาลต้องการช่วยประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเดินทาง ที่สูงราว 15.9% ของรายได้ทั้งหมดลง 

อ้างอิง; CNN, BBC, The Telegraph, BI, CNBC, NYT

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;