ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมมลพิษรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช้านี้ (2 ก.พ.) ลดลงเกือบทุกพื้นที่ เหลือ 5 จุด เกินมาตรฐาน ชี้พรุ่งนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากลมพัดอ่อน ฟาก 'คมนาคม' จี้ รฟม-บริษัทก่อสร้างรถไฟฟ้าทำตามนโยบาย One Transport ปลอดฝุ่น PM 2.5

กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เช้าวันนี้ (2 ก.พ.) ว่า ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงลดลง จากเมื่อวานเกือบทุกพื้นที่ โดยยังเหลือแค่พื้นที่ริมถนน จำนวน 5 สถานี ที่ปริมาณ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า วันพรุ่งนี้ (3 ก.พ.) ปริมาณ PM2.5 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีก ทั้งจากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่มีลมพัดอ่อน แต่จากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินมาตรการในการบรรเทาสถานการณ์อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองลดลงได้

ขณะที่วานนี้ (1 ก.พ.) นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายมานิตย์ สุธาพร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย One Transport ปลอดฝุ่น PM 2.5 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ณ สถานที่ก่อสร้างสถานีกลันตัน (YL12) บริเวณหน้าศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค ถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ กรุงเทพมหานครโดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. พร้อมด้วย นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการ รักษาการรองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา PCYL บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการฯ และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างโครงการฯ ร่วมกิจกรรม 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ กล่าวว่า รฟม. ได้ติดตามตรวจวัดค่าฝุ่น PM 10 ซึ่งเกิดจากการก่อสร้าง และค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ก่อสร้างสถานีทุกสถานีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงก่อนเริ่มงานก่อสร้างของโครงการฯ แล้ว โดยพบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ซึ่งตรวจวัดได้ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2561) ของพื้นที่ก่อสร้างสถานีกลันตัน มีค่าสูงกว่าค่าฝุ่นที่วัดได้ในปีปัจจุบัน (ปี 2562) ซึ่งอาจเนื่องมาจากปัจจัยสภาพแวดล้อม

อย่างไรก็ดี รฟม. ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ จัดรถดูดฝุ่น ล้างพื้นที่ถนนศรีนครินทร์และถนนลาดพร้าวบริเวณแนวก่อสร้างอยู่เสมอ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้เน้นย้ำให้ รฟม. เอาใจใส่พื้นที่แนวสายทางซึ่งอยู่โดยรอบเขตก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยกำชับผู้รับจ้างงานก่อสร้างให้ล้างทำความสะอาดถนนกรณีที่มีดินเลอะออกมานอกแนวแบริเออร์ เพื่อไม่ให้ดินแห้งเกาะถนน และการใช้เครื��องฉีดน้ำฝอยเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์มลพิษทางอากาศในปัจจุบัน รวมถึงหมั่นบำรุงรักษาเครื่องจักรให้มีคุณภาพ มีการล้าง เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง และตรวจวัดค่าไอเสียเครื่องจักรให้อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ รฟม. กำกับดูแลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ให้เป็นไปตามแผนงาน เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2564 

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการฯ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม (Civil Work) ร้อยละ 14.02 และได้ดำเนินงานงานวางระบบรถไฟฟ้า (M&E) ควบคู่กัน โดยมีความก้าวหน้าร้อยละ 4.81 (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมกราคม 2562)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :