ไม่พบผลการค้นหา
กรมการขนส่งทางรางเร่งดันร่าง พ.ร.บ. กำกับกิจการขนส่งทางราง เข้าสภาฯ หวังมีอำนาจทำงานปรับปรุงค่าโดยสาร นำภาษีท้องถิ่นมาหนุนค่ารถไฟฟ้า ฟากนักวิจัยทีดีอาร์ไอเผย ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงกว่าสิงคโปร์ร้อยละ 20 แนะรัฐเปิดทางนำค่าโดยสารรถไฟฟ้ามาลดหย่อนภาษี พร้อมเพิ่มวงเงินบัตรคนจน

นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างศึกษาระบบกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางสำหรับประเทศ โดยภายในปีนี้ คาดว่าร่าง พ.ร.บ. กำกับกิจการขนส่งทางรางจะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ทำให้กรมการขนส่งทางรางมีบทบาทหน้าที่เต็มในการดำเนินงาน

สำหรับภารกิจสำคัญลำดับต้นๆ ของกรมการขนส่งทางราง คือ การปรับปรุงอัตราค่าโดยสารใหม่ล่าสุด มีแนวคิดว่าจะนำเงินภาษีที่จัดเก็บโดยท้องถิ่นจากการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีมาอุดหนุนอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า เพื่อให้ราคาถูกลง หรือ พิจารณาถึงกองทุนอื่นๆ เพื่อนำมาดำเนินการในลักษณะเดียวกัน 

รถไฟฟ้ามีแต่คนชั้นกลาง-รายได้สูงใช้ ค่าใช้จ่ายปีละ 1.2 หมื่นบาท/คน

นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1,000-2,000 บาท หรือ คิดเป็นกว่า 12,000 บาทต่อปี ซึ่งหากนำอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยเทียบกับเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ถือว่าไทยมีราคาสูงกว่าถึงร้อยละ 20 

ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องออกนโยบายช่วยเหลือ ควรเปิดให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายในการโดยสารรถไฟฟ้ามาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี เพื่อจูงใจประชาชนให้หันมาใช้บริการขนส่งมวลชน  

รวมถึงออกนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยหันมาใช้รถไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันด้วยราคาค่าโดยสารที่ค่อนข้างสูง กลุ่มที่ใช้รถไฟฟ้าส่วนใหญ่จึงเป็นชนชั้นกลางและคนมีรายได้สูง แต่คนจนกลับไม่ได้ใช้บริการ แม้จะมีมาตรการอุดหนุนให้ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้รถไฟฟ้าวงเงิน 500 บาทต่อเดือน แต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่สอดคลองกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เฉลี่ย 30-40 บาทต่อเที่ยวต่อวัน ดังนั้นจึงอยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มวงเงินโดยสารรถไฟฟ้าแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เป็นเดือนละ 700-800 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับภาระค่าใช้จ่าย

อีกประเด็นที่ทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงในปัจจุบัน ก็มาจากประชาชนเดินทางข้ามระบบ ทำให้ต้องเสียค่าแรกเข้าเพิ่ม และส่งผลให้ประชาชนส่วนมากเดินทางตามแนวรถไฟฟ้าหลักระบบเดียว ดังนั้นการพัฒนาตั๋วร่วมให้เป็นรูปธรรม เช่น เมื่อใช้บริการรถไฟฟ้าแล้ว สามารถมีส่วนลดค่ารถเมล์ได้ร้อยละ 50 หรือ การยกเว้นค่าแรกเข้าเมื่อเปลี่ยนเส้นทาง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :