ไม่พบผลการค้นหา
'หน่วยข่าวปลอม' ภายใต้การจัดตั้งของรัฐบาลมีอยู่ทั่วโลก รายงานจากออกซ์ฟอร์ดพบหลักฐานใน 81 ประเทศ - บั่นทอนฝ่ายตรงข้าม หลักดันให้เกิดความเกลียดชัง/สุดโต่งทางแนวคิด

การเลือกตั้งของสาธารณรัฐยูกันดา ประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เมื่อ 14 ม.ค. 2564 อาจไม่ใช่เรื่องราวที่ชาวไทย รวมไปถึงประชาคมโลกให้ความสนใจมากนักเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทว่าในความห่างไกลของพื้นแผ่นดินไปจนถึงการรับรู้เรื่องราวข่าวสาร สิ่งที่เกิดขึ้นใน 'ยูกันดา' 'สหรัฐอเมริกา' หรือแม้แต่ประเทศไทยแทบไม่แตกต่างกัน

มนุษยชาติอยู่ท่ามกลางการใช้ชีวิต 2 โลกคู่ขนานไปพร้อมกัน ทั้งในสังคมกายภาพแห่งความเป็นจริง และชีวิตบนโลกออนไลน์ ไม่เพียงพฤติกรรมดังกล่าวจะนำมาซึ่งความก้าวหน้าในเชิงเศรษฐกิจใหม่แต่ยังเป็นช่องว่างให้ 'ผู้แสวงหาอำนาจ' รักษาความมั่นคั่งของพวกเขาไว้ผ่านอาวุธอัพเกรดประสิทธิภาพใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยอย่าง 'หน่วยข่าวปลอม' 


ปิดหู-จับตา เผด็จการในคราบประชาธิปไตย 

ช่วงต้นสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาผู้เป็นตัวแทนประชาชนขึ้นไปบริหารประเทศของยูกันดา เฟซบุ๊กออกประกาศสำคัญชี้แจงการปิดหลายบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งมีพฤติกรรมที่ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ความพยายามบิดเบือนข้อมูลให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (coordinated inauthentic behaviour: CIB) ซึ่งในกรณีนี้ คือการสนับสนุน 'โยเวริ มูเซวานิ' ประธานาธิบดี วัย 76 ปี ให้ชนะการเลือกและดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 6 

ยูกันดา - ประธานาธิบดี - รอยเตอร์ส
  • 'โยเวริ มูเซวานิ' ประธานาธิบดียูกันดาคนปัจจุบัน วัย 76 ปี

เฟซบุ๊กพบหลักฐานการมีส่วนเกี่ยวข้องของ 'ศูนย์ติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐบาลและประชาชน' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงข้อมูลข่าวสารของประเทศ โดย 'เคเซีย อนิม-อัดโด' ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารเฟซบุ๊ก ประจำภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา ชี้ว่า บัญชีปลอมเหล่านี้จะเข้าไปคอมเมนต์ตอบโต้ผู้คนที่เห็นต่าง ทั้งยังคอยแชร์โพสต์หรือข้อมูลบางจำพวกกระจายไปยังหลายกลุ่มเพื่อให้สาธารณชนรู้สึกว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นที่นิยมและอาจตีความว่าเป็นความจริง 

ขณะที่ 'ดอน วานยามา' โฆษกอาวุโสของรัฐบาลโยเวริ โต้กลับหลังบัญชีเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของตนเองโดนปิดผ่านทวิตเตอร์ว่า การกระทำของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียครั้งนี้ถือเป็นความพยายามแทรกแซงกิจการภายในประเทศผ่านการปั้นหุ่นเชิด (ผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีคนอื่น) ขึ้นมาเป็นผู้นำ พร้อมย้ำว่า "เฟซบุ๊ก ไม่มีทางพรากเอาชัยชนะจากการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจากมือของโยเวริได้" 

แม้บัญชีเฟซบุ๊กของโฆษกรัฐบาลยูกันดา รวมไปถึงบล็อกเกอร์/เพจที่ออกตัวสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลจะถูกปิดไป แต่บัญชีของประธานาธิบดียูกันดาคนปัจจุบันยังคงใช้งานได้อยู่แม้จะไร้ซึ่งประโยชน์จับต้องได้ เนื่องจากเพียงหนึ่งวันให้หลังประกาศทะลวงบัญชีไอโอ (Information Operations) ของเฟซบุ๊ก ประธานาธิบดีโยเวริออกมาประนามความ "หยิ่งผยอง" ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียพร้อมสั่งยุติการดำเนินงานของชุมชนออนไลน์ดังกล่าวรวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ บนพื้นที่ประเทศยูกันดา 

ใจความตอนหนึ่งจากปากของประธานาธิบดีผู้นั่งเก้าอี้สูงสุดบัญชาการประเทศระบุว่า "เราไม่สามารถอดทนต่อพฤติกรรมหยิ่งผยองของใครก็ตามที่อยู่ๆ มาตัดสินว่าใครเป็นคนดีหรือคนเลว"

คำพูดดังกล่าวนั้น ออกมาท่ามกลาง สถานการณ์ที่ผู้ท้าชิงเก้าอี้คนสำคัญอย่าง 'โบบิ ไวน์' (ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไป โดยโบบิมีชื่อจริงๆ ว่า โรเบิร์ต คยากูลานนิ) นักร้องวัย 38 ปี ที่ผันตัวเองมาเล่นการเมือง ทั้งมีประวัติถูกลากลงจากรถยนต์ส่วนตัวหลังไปยื่นใบสมัครประธานาธิบดี ถูกทุบตี โดนแก๊สน้ำตา รวมไปถึงการถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างออกหาเสียง ยังไม่นับว่า ล่าสุดมีตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 54 ราย และอีกนับร้อยที่ถูกจับกุมตัวจากการประท้วงรัฐบาล 

ยูกันดา - รอยเตอร์ส - โบบิ
  • 'โบบิ ไวน์' หรือ 'โรเบิร์ต คยากูลานนิ' นักร้องวัย 38 ปี ที่ผันตัวเองมาเล่นการเมือง

หลังการลงคะแนนเลือกตั้งสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศ นับจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการประกาศผู้ชนะอย่างเป็นทางการ ทว่าสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นอกจากประชากรจะไม่สามารถใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้แล้วนั้น การส่งข้อความธรรมดาผ่านทางโทรศัพท์ยังเกิดปัญหาอย่างมากเช่นเดียวกัน 

อ้างอิงเอกสารหลุดของรัฐบาล ที่ 'ซามิรา ซอว์ลานิ' นักข่าวในพื้นที่ทวีตผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของเธอพบว่า รัฐบาลมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตตั้งแต่เวลา 19.00 น.ของวันที่ 13 ม.ค. 2564 หรือช่วงเย็นของวันก่อนเลือกตั้ง 

จากงานศึกษาภายใต้ชื่อ 'ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศยูกันดา : การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งในการได้มาซึ่งการสืบทอดอำนาจหรือไม่' ของ 'ซาบิติ มาการา' พบว่า โยเวริ ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดตั้งแต่ปี 2529 หลังสงครามกลางเมืองในประเทศยุติลง 

หลังจากนั้นในปี 2548 รัฐบาลของโยเวริแก้รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแห่นงสูงสุด 2 สมัยออกไป ก่อนที่จะปรับเกณฑ์อายุของประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2560 ซึ่งเคยระบุว่า ผู้นำสูงสุดของประเทศต้องมีอายุต่ำกว่า 75 ปี 

ข้อมูลและการศึกษาที่ประกอบรวมกันทั้งหมด สะท้อนชัดว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ประเทศยูกันดาเลือกถือปฏิบัตินั้น เต็มไปด้วยความพยายามคงไว้ซึ่งอำนาจ สะท้อนชัดผ่านการแก้รัฐธรรมนูญตลอดมาเพื่อเอื้อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งยังหาช่องทางทำร้ายผู้ท้าชิงคนอื่นๆ รวมไปถึงรูปแบบล่าสุดของการปล่อยข่าวปลอมเพื่อให้ข้อมูลผิดต่อสาธารณชน 


พบหลักฐาน : 81 ประเทศทั่วโลกรวม 'ไทย'

พฤติกรรมข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในยูกันดา หรือกรณีศึกษาครั้งสำคัญของโลกเมื่อ 4 ปีก่อนกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ระหว่าง 'โดนัลด์ ทรัมป์' และ 'ฮิลลารี คลินตัน' ด้วยฝีมือการปล่อยข่าวปลอมไปจนถึงข้อมูลเท็จของรัสเซีย รวมไปถึงกรณีใกล้เคียงกันกับประเด็น 'เบร็กซิต' ของสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปจากฝีมือของ 'หน่วยข่าวปลอม' ที่มี 'วลาดิเมียร์ ปูติน' กุมบังเหียน

รายงานล่าสุดจากสถาบันอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพบหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐบาลของ 81 ประเทศทั่วโลก มีส่วนเกี่ยวข้องในการปล่อยข่าวปลอมและข้อมูลเท็จอันบั่นทอนการคงอยู่ของประชาธิปไตยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตลอด 4 ปีที่ผ่านมา 

ข้อมูลยังระบุว่า ระหว่างเดือน ม.ค. 2562 - พ.ย. 2563 'หน่วยข่าวปลอม' เหล่านี้สูบเงินถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 ล้านบาท เฉพาะที่ใช้ในแคมเปญและโฆษณาหาเสียงทางการเมืองอย่างเดียว

เท่านั้นยังไม่พอ รายงานยังพบการเติบโตขึ้นของบริษัทเอกชนที่เปิดบริการรองรับการสร้างข่าวปลอมโดยเฉพาะ จากสถิติ 9 ประเทศในปี 2560 กระโดดขึ้นมาเป็น 48 ประเทศในปี 2563 ที่ผ่านมา หากนับรวมข้อมูล ระหว่างเดือน ม.ค. 2562 - พ.ย. 2563 เม็ดเงินที่ใช้จ้างบริษัทเหล่านี้มีมูลค่ารวมถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,800 ล้านบาท 

138322058_147193123725806_5803175829008940596_n.jpg
  • พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม

เมื่อเจาะเบื้องหลัง 'หน่วยข่าวปลอม' เหล่านี้ รายงานจำแนกออกมาเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หน่วยงานของรัฐบาล, พรรคการเมือง, บริษัทเอกชน และกลุ่มประชากรผู้มีอิทธิพลต่อสังคม ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้น พบความเชื่อมโยงของบัญชีปล่อยข้อมูลเท็จเหล่านี้กับฝั่งรัฐบาลและกลุ่มประชากรผู้มีอิทธิพลเป็นหลัก โดยกองทัพข่าวปลอมของไทยนั้น นิยมใช้ทั้ง 'บ็อต' ซึ่งเป็นบัญชีอัตโนมัติและมนุษย์ในการตอบโต้ 

ออกซ์ฟอร์ดพบว่า รูปแบบข้อความที่หน่วยข่าวปลอมเหล่านี้นิยมใช้ในการตอบโต้กลุ่มตรงข้ามแบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ การสนับสนุนโฆษณาชวนเชื่อจากฝั่งรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นมาตรการหรือนโยบายต่างๆ พร้อมกลยุทธ์ถัดมาเน้นการโจมตีฝ่ายตรงข้าม

ทั้งเชื่อมโยงไปถึงความยายามในการข่มขู่ไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และท้ายสุดคือการสร้างเรื่องราวให้เกิดความแตกแยก แบ่งเป็น 2 ฝ่ายสุดขั้ว (polarization) ซึ่งรายงานพบว่าประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับกลยุทธ์แทบทั้งหมด เว้นแต่เพียงการแบ่งประชาชนออกจากกันแบบสุดขั้วและการเหยียดเชื้อชาติเท่านั้น

ท้ายสุด รายงานระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มกองกำลังข่าวปลอมระดับกลางจากทั้งหมด 3 ระดับ หรือหมายความว่า มีการจ้างพนักงานประจำเพื่อปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี โดยรวมศูนย์อยู่กับหน่วยงานส่วนกลางเป็นหลัก 


สูญสิ้นประชาธิปไตย 

ม็อบ - การ์ด - ชุมนุม

ในหนังสือ 'How Democracy Die' หรือแปลเป็นไทยแบบง่ายๆ ว่า 'ประชาธิปไตยตายยังไง' ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2561 ผู้เขียนอย่าง 'สตีเวน เลวิตสกี' และ 'เดเนียล ซิแบลตต์' นักรัฐศาสตร์จากมหาวิยาลัยฮาร์เวิร์ด ระบุว่า polarization (ซึ่งตามการถอดความของ ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเขียนไว้ด้วยคำว่า 'สังคมสองเสี่ยง') หรือภาวะที่ประชากรในประเทศถูกแบ่งแยกด้วยแนวความคิดที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วคือรากฐานแห่งความล่มสลายของสังคมประชาธิปไตย 

ผู้เขียนยกตัวอย่างทั้งเหตุที่เกิดในสเปนช่วงทศวรรษ 30 ที่ฝั่งขวามองรัฐบาลสาธารณรัฐใหม่ (new republican government) ว่าได้รับอิทธิพลมาจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพรรคบอลเชวิกของรัฐเซียจนนำไปสู่จุดจบของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียองค์สุดท้าย ขณะที่ฝ่ายซ้ายมองกลับมายังเหล่าอนุรักษนิยมว่าเป็นพวกสนับสนุนราชวงศ์หรือแม้แต่เป็นพวกสนับสนุนลิทธิฟาสซิสต์ที่ต่อต้านการปฏิวัติ 

เมื่อความแตกต่างในมุมมองเพิ่มสูงขึ้นและผลักฝ่ายตรงข้ามไปอยู่ ณ ตำแหน่งสุดขั้ว การคงอยู่ของบรรทัดฐานอย่างไม่เป็นทางการที่ช่วยเกื้อหนุนประชาธิปไตยจึงสั่นคลอน บรรทัดฐานแรกที่ผู้เขียนชี้คือสิ่งที่เรียกว่า 'mutual toleration' หรือการยอมรับว่าฝ่ายตรงข้ามสามารถกระทำการใดก็ได้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ หากการกระทำดังกล่าวอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตีความเพิ่มได้ว่า แม้จะมีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันแต่ต้องยอมรับซึ่งกันและกันให้ได้ ไม่ใช่ว่าเพียงเพราะเป็นฝ่ายตรงข้ามจึงมาข่มขู่และคุกคาม

ขณะที่บรรทัดฐานที่สองถูกเรียกว่า 'institutional forbearance' หรือการกระทำใดๆ ในเชิงกฎหมายที่ผู้ที่อยู่ในอำนาจใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับฝ่ายหนึ่งขณะที่อีกฝ่ายต้องแบกรับชะตากรรมอันไม่เท่าเทียม 

ท้ายสุดนั้น สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อคือ ความแตกต่างทางการเมืองที่ถูกโหมจนกลายเป็นความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม-มองกันสุดโต่งสุดขั้วคือยาพิษชั้นดีในการบ่อนทำลายประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ หากไปผนวกรวมกับรายงานจากออกซ์ฟอร์ด เสมือนว่าความพยายามรักษาอำนาจของรัฐบาลตัวเองไว้ กำลังทำให้หลายประเทศทั่วโลกใส่เกียร์ถอยหลังเดินออกห่างจากประชาธิปไตยที่เฝ้าฝันกันตลอดมา ด้วยเครื่องมือใหม่ล่าสุดอย่าง 'หน่วยข่าวปลอม'

อ้างอิง; The Economist, NPR, The Guardian, The Verge, Bloomberg, Pew Research, WSJ, The New York Times, The Independent Review, France 24

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;