ไม่พบผลการค้นหา
ทางการรัสเซียยืนยันว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะไม่มีกำหนดการเข้าร่วมงานศพของอดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้ายอย่าง มิคาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่าตารางการทำงานของปูติน ทำให้ประธานาธิบดีรัสเซียเข้าร่วมงานศพของกอร์ยาชอฟในช่วงวันเสาร์นี้ (3 ก.ย.) ไม่ได้

ทั้งนี้ ปูตินเลือกที่จะเดินทางไปเข้าคารวะศพของกอร์บาชอฟ ในโรงพยาบาล ณ กรุงมอสโก สถานที่ที่อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตเสียชีวิตลงด้วยวัย 91 ปี ทิ้งไว้เหลือเพียงแต่มรดกและภาพจำของการเป็นนักปฏิรูป ซึ่งนำมาสู่จุดจบของสงครามเย็น และการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต ซึ่งล้วนเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความคิดของปูตินที่มองว่า การล้มลงของสหภาพโซเวียต เป็น “หายนะทรงภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ”

อย่างไรก็ดี ปูตินเลือกที่จะส่งข้อความแสดงความเสียใจต่อการจากไป ของอดีตผู้นำสหภาพโซเวียคนสุดท้ายแก่ครอบครัวกอร์บาชอฟ โดยปูตินเรียกกอร์บาชอฟว่าเป็น “นักการเมืองและรัฐบุรุษผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อประวัติศาสตร์โลก” ก่อนที่ในช่วงเมื่อวานนี้ (1 ก.ย.) โทรทัศน์รัสเซียจะได้เปิดเผยภาพปูตินนำช่อกุหลาบสีแดงเข้าไปวางข้างโลงศพของกอร์บาชอฟ ในโรงพยาบาลคลินิกกลางมอสโก

“น่าเสียดายที่ตารางงานของประธานาธิบดี จะไม่สามารถทำให้เขาไปร่วมงานในวันที่ 3 ก.ย.ได้ ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจทำมันในวันนี้” ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียระบุกับสื่อมวลชน อย่างไรก็ดี งานศพของกอร์บาชอฟจะเปิดให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าคารวะร่างของอดีตผู้นำสหภาพโวเวียตคนสุดท้ายได้ที่ห้องโถงเสาหินในกรุงมอสโก

ภายหลังจากการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าคารวะศพแล้ว ร่างของกอร์บาชอฟจะถูกฝังในสุสานโนโวเดวิชี เคียงข้างกันกับร่างของภรรยาอย่าง ไรซา ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้ากอร์บาชอฟเมื่อปี 2542 โดยถึงแม้ว่าจะไม่มีการจัดรัฐพิธีศพอย่างเป็นทางการ แต่เปสคอฟระบุว่า พิธีศพของกอร์บาชอฟจะมี “องค์ประกอบ” ของงานรัฐพิธีศพ และรัฐบาลกำลังช่วยเรื่องการจัดระเบียบงานอยู่

ความสัมพันธ์ของปูตินกับกอร์บาชอฟอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กอร์บาชอฟได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปูตินอย่างระมัดระวัง ถึงการถอยหลังจากความเป็นประชาธิปไตยในรัสเซีย ภายใต้การนำของปูติน ในขณะที่กอร์บาชอฟเองเป็นภาพแทนของการวางมือจากอำนาจ และการสลายตัวของสหภาพโซเวียต แต่ปูตินเองกลับพยายามรื้อฟื้นมรดกของระบอบคอมมิวนิสต์ และใช้เรื่องดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะยูเครน

นอกจากปูตินที่จะไม่เข้าร่วมงานศพของกอร์บาชอฟแล้ว ผู้นำต่างชาติหลายคนที่มีการคาดว่าจะเดินทางมาเข้าร่วมงาน กลับถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้ามายังพรมแดนของรัสเซีย จากมาตรการการตอบโต้การคว่ำบาตรของตะวันตก เนื่องจากการรุกรานของรัสเซียในยูเครน เช่น โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ตลอดจนนักการเมืองของสหรัฐฯ สหราอชาณาจักร สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และแคนาดา เป็นต้น


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-62756196