จากการแถลงผ่านทางโทรทัศน์ ขณะการกล่าวกับเจ้าหน้าที่กองทัพระดับอาวุโส ประธานาธิบดีรัสเซียระบุว่า ตัวเองยังคงเห็นยูเครนเป็น “ประเทศพี่น้อง” ของรัสเซีย อย่างไรก็ดี เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ปูตินเป็นผู้ออกคำสั่งให้กำลังพลของรัสเซียจำนวน 200,000 นายเข้ารุกรานยูเครน จนเป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากสงครามในครั้งนี้ไปกว่าหลายพันรายแล้ว
ปูตินอ้างว่าความขัดแย้งในครั้งนี้เกิดขึ้นจาก “ผลทางนโยบายของประเทศมือที่สามต่างๆ” โดยทางการรัสเซียอ้างว่า ชาติพันธมิตรตะวันตกได้ขยายอิทธิพลของตัวเองเข้ามายังหน้าบ้านของรัสเซีย ซึ่งนับเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ทฤษฎีที่ถูกอ้างดังกล่าวของรัสเซียถูกนานาชาติปฏิเสธความเป็นเหตุเป็นผลของการเข้ารุกรานยูเครน
ประธานาธิบดีรัสเซียยังระบุอีกว่า “เป็นเวลากว่าหลายปีที่เราพยายามสร้างความสัมพันธ์ของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับยูเครน ผ่านการเสนอให้เงินกู้ยืมและพลังงานราคาถูก แต่มันไม่ได้ผล” ทั้งนี้ ความกังวลของปูตินที่มีมาอย่างยาวนาน ถูกอ้างอยู่บนฐานการเติบโตขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 2534
จุดประสงค์ของการก่อตั้งองค์การ NATO เกิดขึ้นเพื่อการท้าทายการขยายตัวของรัสเซียหลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ ความสัมพันธ์อันตึงเครียดของชาติตะวันตกกับรัสเซีย ก่อตัวขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ม็อบบนท้องถนนได้โค่นล้มอำนาจของ วิกเตอร์ ยานูโควิช อดีตประธานาธิบดียูเครน ที่มีแนวคิดนิยมรัสเซียเมื่อปี 2557
ในการกล่าวของปูตินครั้งนี้ ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวอีกว่า “มันไม่มีอะไรจะเอามากล่าวโทษเรา เรามองชาวยูเครนเป็นพี่น้องกันมาโดยตลอด และผมก็ยังคิดเช่นนั้น” ก่อนที่ปูตินจะกล่าวย้ำว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรม แต่มันไม่ใช่ความผิดของเรา”
จนถึงปัจจุบันนี้ รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธมากกว่า 1,000 ลูก และใช้โดรนโจมตีที่ผลิตโดยอิหร่าน เพื่อการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครน ซึ่งเริ่มเปิดฉากในระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนยูเครนนับล้าน ตกอยู่ในความมืดไร้พลังงานไฟฟ้าและความอบอุ่น
เจ้าหน้าที่จากกองทัพรัสเซียสัญญาว่า รัสเซียจะเดินหน้าการทำ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ต่อไปในปี 2566 ทั้งนี้ เมื่อรัสเซียเปิดตัวการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินสัญญาว่าจะมีทหารมืออาชีพเท่านั้น ที่จะถูกส่งเข้าไปรบในยูเครน แต่เมื่อถึงเดือน ก.ย. ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปจากคำพูดของปูติน หลังเมื่อประธานาธิบดีรัสเซียประกาศ “การระดมพลบางส่วน” ซึ่งทำให้พลเมืองรัสเซียหลายแสนคนถูกเกณฑ์ไปเป็นกองกำลังติดอาวุธเข้ารบในยูเครน
ในตอนนี้ เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้เสนอให้เพิ่มช่วงอายุสำหรับการรับราชการทหารภาคบังคับของรัสเซีย โดยภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ชายชาวรัสเซียที่มีอายุระหว่าง 18-27 ปีสามารถถูกเกณฑ์ทหารได้ ทั้งนี้ ชอยกูกำลังเสนอให้กฎหมายนี้บังคับใช้ครอบคลุมพลเมืองที่มีอายุระหว่าง 21-30 ปี ชอยกูยังประกาศแผนการที่จะตั้งฐานทัพในเมืองท่าสองแห่งอย่าง เบอร์เดียนสก์ และ มารีอูปอลของยูเครน ที่ถูกยึดระหว่างการโจมตีของรัสเซียอีกด้วย
แต่ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ กองกำลังยูเครนได้รุกคืบยึดคืนพื้นที่ของตัวเองครั้งใหญ่จากรัสเซีย รวมทั้งการยึดเมืองเคอร์ซอน ซึ่งเป็นเมืองหลักแห่งเดียวในภูมิภาคที่กองกำลังรัสเซียยึดได้นับตั้งแต่การรุกราน นอกจากนี้ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยังได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ กล่าวสุนทรพจน์บนรัฐสภาสหรัฐฯ และเข้าพบกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะสงครามที่ก่อโดยรัสเซียเกิดขึ้นมายาวนานกว่า 10 เดือนแล้ว
ที่มา: