ไม่พบผลการค้นหา
'ประวีณ์นุช' รายงานตัว ส.ส. 'เพื่อไทย' ปัดตอบสถานะเป็นภรรยา 'ส.ว.นพดล' หรือไม่ ขณะอดีต กรธ. ชี้ ส.ว.ห้ามมีคู่สมรสเป็น ส.ส.ในเวลาเดียวกัน แต่หากหย่าร้างก่อนสมัครเลือกตั้ง ไม่มีปัญหา

วันที่ 23 มิ.ย. 2566 ที่อาคารรัฐสภา บรรยากาศการเดินทางมารายงานตัวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ส.ส.มารายงานตัวอย่างบางตา โดย ส.ส.คนแรกที่เดินทางมาในช่วงสาย คือ ประวีณ์นุช อินทปัญญา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 22 ของพรรคเพื่อไทย 

โดยก่อนหน้านี้มีรายงานปรากฏเป็นข่าวว่า ประวีณ์นุช เป็นที่รู้จักกันในฐานะ ภรรยา พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประวีณ์นุช มารายงานตัว ระบุชื่อในเอกสารการรายงานตัวว่า ประวีณ์นุช อินทปัญญา ก่อนจะมีการขอแก้ไขนามสกุล จากนามสกุล 'อินทปัญญา' ของพลเอกนพดล เป็นนามสกุล 'เลิศจิตติสุทธิ์' ของตัวเอง 

ภายหลังการรายงานตัว ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงกรณีที่ พล.อ.นพดล เป็น ส.ว. ซึ่งตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ห้ามมิให้ ส.ว. มี บุพการี หรือคู่สมรส ที่เป็น ส.ส. ในคราวเดียวกัน 

โดย ประวีณ์นุช ปฏิเสธตอบคำถาม บอกเพียง ขอไม่ให้สัมภาษณ์ และเร่งรีบเดินทางออกจากสภาฯ ไปทันที 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสอบถาม เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 มีลักษณะต้องห้าม ของ ส.ว. ห้าม บุคคคลที่มี บุพการี คู่สมรส หรือบุตร ดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือ ส.ว. หรือข้าราชการการเมือง หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ในคราวเดียวกัน 

ดังนั้น หากกรณีนี้ ประวีณ์นุช ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากับ พล.อ.นพพล จะส่งผลต่อคุณสมบัติของ ส.ว.ทันที แต่จะไม่ส่งผลต่อคุณสมบัติของ ส.ส. 

อย่างไรก็ตาม แม้ ประวีณ์นุช จดทะเบียนหย่าก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ไม่มีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญดูเพียงสถานะทางกฎหมายเท่านั้น แต่หากอยู่กินกันฉันสามีภรรยาในทางพฤตินัย ไม่ครอบคลุม เหมือนกับกรณีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ป.ป.ช. ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดขึ้น เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ต้องการแก้ไขปัญหา 'สภาผัวเมีย'

ประวีณ์นุช IMG_6327.jpegประวีณ์นุช IMG_6324.jpegประวีณ์นุช IMG_6323.jpeg