ไม่พบผลการค้นหา
‘ทัศนีย์’วอนรัฐสภาแก้ รธน.ให้สิทธิประกันตัวนักโทษการเมือง ไม่อยากเห็นเยาวชนถูกติดคุกในเรือนจำ เผยเคยถูกคุมขังเพราะเป็นนักโทษทางการเมือง ทำให้ต้องกินยาสเตียรอยด์ทั้งชีวิต ด้าน ส.ว.คำนูณ เผยมี 56 เสียง ส.ว.พร้อมตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ

วันที่ 6 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 4 ฉบับ ประกอบด้วย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1เกี่ยวกับสิทธิชุมชน

แก้ไขเพิ่มเติม หมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง เกี่ยวกับที่มานายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ศ.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะเป็นผู้เสนอ และ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 ซึ่ง สมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ เป็นการพิจารณาในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิประกันตัวของผู้ชุมนุมทางการเมือง ตามหลักของกระบวนการนิติธรรม ทุกคนควรถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งการชุมนุมเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพแก่ประชาชน

“ดิฉันเข้าใจถึงความเจ็บปวดของนักโทษทางการเมืองที่ประสบอยู่ทุกวันนี้ เพราะดิฉันเองเคยถูกอำนาจรัฐกลั่นแกล้ง เพียงเพราะคิดต่างจากผู้มีอำนาจ ถูกกลั่นแกล้งนานนับเดือน และไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เพียงเพราะให้ความเห็นกับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อผู้มีอำนาจจับดิฉันไป ศาลยกฟ้องดิฉัน แต่อิสรภาพของดิฉันที่ถูกจองจำไป แม้ว่าศาลยังไม่ได้พิพากษาให้ดิฉันมีความผิดแม้แต่ชั้นเดียว มันก็ไม่ได้รับกลับคืนมา จนถึงทุกวันนี้ ดิฉันได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่ควบคุมและรับมือความเครียดได้ อย่างถาวร ดิฉันต้องกินยาสเตียรอยด์ไปทั้งชีวิต แล้วใครจะรับผิดชอบกับสุขภาพร่างกายและจิตใจ”

ทัศนีย์ ระบุว่า ตนไม่อยากเห็นนักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน เป็นอนาคตของชาติ ซึ่งจะเป็นกำลังหลักของหน่วยงานต่างๆ ในอนาคต ต้องมาจบอยู่ในเรือนจำ ตนหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะมีมโนธรรมเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิการประกันตัว เพื่อคืนความเป็นธรรมให้นักโทษทางความคิด และคืนความเชื่อมั่นให้กระบวนการยุติธรรมด้วย

ทั้งนี้ ทัศนีย์ ยังอภิปรายถึงการแก้ไขมาตรา 272 ว่าด้วยการตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ โดยมองว่า ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขาดการยึดโยงกับประชาชน แต่ถูกเลือกมาโดยเครือข่ายอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กลับมาเลือกกันเองเป็นวงจรอุบาทว์ ดูไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แต่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ อย่างที่กล่าวกันมา

คำนูณ -40AB-43E6-91A4-4B6A10EA0C17.jpeg

’คำนูณ’ หนุนปิดสวิตช์ ส.ว.เลือกนายกฯ เผยมี ส.ว.เห็นด้วย 56 คน

ด้าน คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายถึงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 272 ที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นผู้เสนอ โดยระบุว่า ตนตั้งใจจะอภิปรายวันที่ 7 ก.ย.นี้ เนื่องจากต้องการฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายก่อน สำหรับร่างฯ ของ สมชัย ที่เสนอให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ในมาตรา 272 โดยยังคงอำนาจในการเห็นชอบให้เลือกนายกฯ คนนอกเท่านั้น โดยส่วนตัวแล้ว ตนเห็นด้วยกับประเด็นนี้ และตั้งใจจะลงมติเห็นด้วย แต่อาจจะมีเหตุผลที่ต่างจากสมาชิกฯ หลายท่าน

คำนูณ ให้ความเห็นถึงที่มาของอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ จากการตอบประชามติเมื่อปี 2559 ซึ่งมีคำถามพ่วง และมีเหตุผลว่าให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่อง ในเวลานั้น ปัญหาบ้านเมืองขัดแย้งแตกแยกมานาน การปฏิรูปประเทศจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร ตนไม่ปฏิเสธว่า ส.ว. ที่ได้อำนาจหน้าที่พิเศษ มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ที่มีภารกิจในการปฏิรูปประเทศ แล้วเหตุใดจึงไม่ให้คนเหล่านี้มีสิทธิได้เลือกผู้นำประเทศบ้าง จึงนำมาสู่มาตรา 272

การปฏิรูปประเทศยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ถ้าเทียบกับผลเสียที่สมาชิกฯ อภิปรายกันมา จะมากกว่าหรือไม่ ซึ่งมี ส.ว. จำนวน 56 คน เห็นด้วยกับการตัดเนื้อความในมาตรา 272 ออก แต่ไม่เพียงพอจะผ่านร่างฯ นี้ได้ จึงต้องขึ้นอยู่กับ ส.ส.ด้วยเช่นกัน ตนเป็น 1 ใน 56 ส.ว.ที่ลงมติเห็นด้วยในประเด็นนี้เมื่อปี 2563 แต่เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่าเห็นควรให้สิ้นสุดแผนปฏิรูปประเทศลงได้แล้ว และไม่ต้องมีการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่อีก เพราะแผนปฏิรูปประเทศสัมฤทธิผลแล้วทุกประการ ตนจึงรอฟังมติคณะรัฐมนตรีในวันนี้

“ในเมื่อฐานแห่งคำถามประชามติ ที่ขออนุญาตพี่น้องประชาชน เพียงเฉพาะกิจเฉพาะกาลชั่วคราว เท่า 5 ปีของอายุสมาชิกวุฒิสภาชุดของกระผมนี้ มันกำลังจะหมดไปก่อนกำหนด เหลืออยู่อีกเพียงปีเศษ ผมจึงคิดว่าควรเห็นชอบที่จะให้มีการแก้ไขมาตรา 272 ตามที่ท่าน สมชัย และพี่น้องประชาชนเสนอมา” คำนูณ กล่าว.

เลิศรัตน์ -D200-430E-A800-94B7FBEE5824.jpeg

'เลิศรัตน์’ ไม่ขัดข้องตัดอำนาจ ส.ว. เชื่อเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ส.โหวตนายกฯ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายถึงประเด็นการเสนอตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องมาจากคำถามในประชามติ ซึ่งภายหลังทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในประชาชนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยในบทเฉพาะกาล

พล.อ.เลิศรัตน์ ระบุถึงการบังคับใช้มาตรา 272 ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก หลายฝ่ายเห็นได้ว่าผู้ได้รับเลือกเป็นนายกฯ คือผู้ที่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้มากกว่า เพราะหากเลือกฝ่ายเสียงข้างน้อยขึ้นเป็นนายกฯ ก็มีโอกาสถูกคว่ำไปในไม่นาน เนื่องจากแพ้คะแนนเสียง 

และเมื่อมีการเสนอให้ตัดอำนาจในมาตรา 272 ตนเห็นว่า ถึงจะคงไว้หรือตัดออกก็มีค่าเท่ากัน เพราะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว.ก็คงไม่อาจเลือกนายกฯ ที่มาจากเสียงข้างน้อยได้ เพราะจะเป็นการสร้างวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ ณ เวลานี้ ตนจึงไม่ขัดข้องหากจะตัดอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และยังเชื่อว่าแม้ ส.ว.จะมีจำนวนร่วมกึ่งหนึ่งของรัฐสภา แต่การเลือกนายกฯ ก็คงสามารถดำเนินไปได้ตามครรลองของสภาผู้แทนราษฎร

ผู้สื่อข่าวรายงาน ตลอดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาในวาระหนึ่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ใช้สิทธิอภิปรายอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายค้านมีสัดส่วนเวลาในการอภิปราย 6 ชั่วโมง ใน 2 วันประชุม หากวันนี้อภิปรายครบ 3 ชั่วโมง แล้วทาง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล รวมถึง ส.ว.ยังไม่ใช่สิทธิ จะขอให้พักการประชุม แล้วฝ่ายค้านจะกลับมาอภิปรายต่อในวันที่ 7 ก.ย. ให้ครบ 6 ชั่วโมง

ด้าน ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สงสัยว่า อาจเป็นการเล่นเกมการเมือง เพื่อให้ฝ่ายค้านใช้เวลาให้หมด แล้ววันต่อมาทั้ง ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.จะตลบหลังมาอภิปรายเพียงฝ่ายเดียวทั้งวันหรือไม่ ขอให้อย่าเล่นเกมการเมืองกันเกินควร ทำให้ประธานในที่ประชุมขอให้วิปทั้ง 3 ฝ่าย หารือกันก่อน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

ฝ่ายค้านข้องใจ ส.ว.เมินอภิปรายอำนาจตัวเอง เย้ยปิดโรงกลั่นกรองกฎหมาย

ตลอดการอภิปราย มี ส.ว. เพียง 3 คนที่อภิปราย โดยมี 2 คน แสดงออกว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. คือ คำนูณ สิทธิสมาน และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช

ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้ยังไม่ได้รับฟังเหตุผลจากทางวุฒิสภาเลย ตั้งแต่เริ่มพิจารณาวาระกันมา เพราะตามปกติควรต้องมีการแสดงเหตุผลว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพราะเหตุใด แต่ในเวลา 6 ชั่วโมงที่ ส.ว.ได้รับ กลับไม่มีการให้ความเห็นใดๆ แล้วจะลงมติได้อย่างไรหากไม่มีการอธิบายเหตุผล นอกจาก คำนูณ และ พล.อ.เลิศรัตน์ เพียง 2 ท่านเท่านั้น

“ปกติที่ผ่านมาผมเห็นท่านพยายามโชว์ฟอร์มลุกขึ้นอภิปรายกันไม่หยุดเลย ร่างฯ ตัดอำนาจท่านก่อนหน้านี้ 5 ฉบับ อภิปรายกันอุตลุด บางคนอภิปรายเกินสัดส่วนเวลาด้วยซ้ำ วันนี้จะไม่โชว์ออฟกันหน่อยหรือ ผมก็ไม่เข้าใจ ไหนว่าประเทศชาติจะต้องวุฒิสภาไว้กลั่นกรองกฎหมาย ครั้งก่อนร่างฯ ปิดสวิตช์ ส.ว. ผมจำได้หลายสิบคนบอกว่า ต้องมี ส.ว.ไว้กลั่นกรองกฎหมาย วันนี้โรงกลั่นปิดปรับปรุงหรือครับ” จิรัฏฐ์

สำหรับการประชุมในวันนี้ มีสมาชิกฯ ฝ่ายค้านอภิปรายเป็นส่วนใหญ่ โดยสนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ โดยย้ำว่าเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย เบียดบังเสียงของประชาชน ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จำนวนน้อย เช่น บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า จะรับร่างฯ แก้ไขอำนาจ ส.ว.เช่นกัน

เมื่ออภิปรายกันพอสมควรแล้ว พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เป็นประธานในที่ประชุมได้สั่งให้พักการประชุมเมื่อเวลา 17.30 น. และนัดหมายประชุมต่อในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ย.) เวลา 09.00 น.

สำหรับการลงมติในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการแบบขานชื่อโดยเปิดเผย โดยสมาชิกจะขานมติในครั้งเดียว 4 ฉบับ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการลงมติและรวมผลได้ใน 2-3 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง