นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ลงนามในหนังสือเวียนแจ้งขอความร่วมมือสถาบันการเงินในกำกับ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นหลัก โดยมีเนื้อความระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีที่พื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นหลัก กำลังประสบสาธารณภัยในปัจจุบัน ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง โดยมีหลายจังหวัดได้ถูกรายงานเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยตามเอกสารเผยแพร่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย นั้น
ธปท. จึงขอความร่วมมือให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน (สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ) พิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยดังกล่าวตามความจำเป็นและความเหมาะสม โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
1.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม
1.1 ให้ดูแลและพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้
1.2 พิจารณาปรับลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้างจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563
1.3 พิจารณาผ่อนผันหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
โดยให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับตามความเหมาะสม จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563
2.เงื่อนไขในการผ่อนปรนและการรายงาน คือการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมตามข้อ 1. ให้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้
2.1 ต้องมีนโยบายการให้ความช่วยเหลือและแนวทางการพิจารณาลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยอย่างชัดเจน
2.2 ต้องสามารถพิสูจน์หรือเชื่อมโยงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้แต่ละรายได้
2.3 ในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบริษัทลูกในกลุ่ม Solo Consolidation ของสถาบันการเงินตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโครงสร้างและขอบเขตธุรกิจของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้ปกติหรือกล่าวถึงเป็นพิเศษที่ได้รับผลกระทบ เช่น การให้สินเชื่อใหม่ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ การลดเงินต้นหรือดอกเบี้ย หรือการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ (Reschedule) ซึ่งครอบคลุมถึงการผ่อนผันการชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น แก่ลูกหนี้ดังกล่าว
โดยให้ถือว่า (1) สามารถคงสถานะจัดชั้นสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือไว้ตามเดิมก่อนเกิดเหตุสาธารณภัย (2) มาตรการในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ข้างต้นเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั่วไปตามแนวนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
2.4 รายงานยอดสินเชื่อคงค้างของลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามแบบรายงานที่กำหนด สำหรับงวดสิ้นเดือน ก.ย. 2562 ถึง สิ้นเดือน มี.ค. 2563 โดยให้จัดเก็บไว้ที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถตรวจสอบได้
'กรุงไทย' พักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้สินเชื่อฟื้นฟูกิจการลูกค้าประสบภัย
นางอรนุช ศิรประภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ สำหรับลูกค้า สินเชื่อบุคคล โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือน และ พักชำระดอกเบี้ยอีก 3 เดือน ในเดือนที่ 4-6 ลูกค้า สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ Home For Cash ธนาคารไม่คิดดอกเบี้ย นาน 3 เดือน และปรับลดลงอีกร้อยละ 0.25 ในเดือนที่ 4 – 12
ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่สถานประกอบการได้รับผลกระทบ หรือคู่ค้า แหล่งวัตถุดิบ แรงงาน อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ลดดอกเบี้ยลงสูงสุดร้อยละ 1 ต่อปี เป็นเวลา 12 เดือน รวมทั้งพักชำระเงินต้น หรือขยายระยะเวลาสัญญาออกไปสูงสุด 12 เดือน ตลอดจนสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ เพิ่มเพื่อฟื้นฟูปรับปรุงซ่อมแซม ซื้อสินทรัพย์ถาวร และวัตถุดิบ โดยให้วงเงินกู้เพิ่มสูงสุด 2 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นปีแรกร้อยละ 4 ต่อปี
สำหรับ ลูกค้า SME ธนาคารสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่มในการฟื้นฟูกิจการ หรือลงทุนทดแทนสินทรัพย์ที่เสียหาย เพื่อให้สามารถฟื้นตัวและก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง ในวงเงินสูงสุดรายละ 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 4 ต่อปี และสำหรับลูกค้าที่ใช้วงเงินสินเชื่อเดิม ยังลดดอกเบี้ยลงสูงสุดร้อยละ 1 ต่อปี เป็นเวลา 12 เดือน พักชำระหนี้หรือขยายระยะเวลาสัญญาออกไปสูงสุด 12 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้า ภายใต้เงื่อนไขตามที่ธนาคารกำหนด
ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยและลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก ยื่นขอรับความช่วยเหลือได้ทุกสาขา ลูกค้า SME ยื่นได้ที่สำนักงานธุรกิจทั่วประเทศ 74 แห่ง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2563 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Krungthai Call Center 02-111-1111
'ไทยพาณิชย์' บรรเทาทุกข์ลูกหนี้สินเชื่อบ้าน-รถยนต์-สินเชื่อกดเงินสด-เอสเอ็มอี
นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารได้กำหนดมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ดังนี้ กรณีลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย พักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุด 100 เปอร์เซ็นต์ของอัตราดอกเบี้ยเดิมภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน และขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี
สำหรับลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ พักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน และขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 3 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อหมุนเวียน (Speedy Cash) พักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 50 ไม่เกิน 4 รอบบัญชี และ สินเชื่อส่วนบุคคล (Speedy Loan) พักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุด 100 เปอร์เซ็นต์ของอัตราดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 2 เดือน
สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย (SSME) พักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุด 100 เปอร์เซ็นต์ของอัตราดอกเบี้ยเดิมภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน และขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี
ลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ที่สาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ทุกแห่ง หรือ ศูนย์บริการลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ SCB Call Center โทร. 027777777 ลูกค้าสามารถลงทะเบียนขอรับมาตรการช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้สามารถติดตามข่าวสารประชาสัมพันธ์ของธนาคารทุกช่องทาง ได้แก่ call center, Website : www.scb.co,th, Facebook : SCB Thailand, Official Line : SCB Thailand และ twitter: SCB Thailand
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :