วันที่ 18 มี.ค. 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกแถลงการณ์กรณีรัฐสภาลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีเนื้อหาว่า พรรคภูมิใจไทย ขอแสดงความเสียใจต่อกรณีที่รัฐสภา ได้ลงมติไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา มาแล้วถึง 2 วาระ ต้องตกไป และไม่สามารถนำกลับมาพิจารณาได้อีก เป็นการทำลายความหวัง ความตั้งใจของประชาชน และ สมาชิกรัฐสภาทุกคน ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ได้ร่วมกันยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาจากประชาชน มายกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยแท้จริง
การประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 มี.ค. พรรคภูมิใจไทย พยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตกไป จึงสนับสนุนให้มีการชะลอการพิจารณาวาระที่ 3 ไว้ก่อน แล้วเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญกรุณาบอกแนวปฏิบัติ ตามคำวินิจฉัยกลาง เพื่อที่รัฐสภา จะได้ดำเนินการถูกต้อง และไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ และ พรรคภูมิใจไทยเห็นชอบ เพราะเห็นว่าเมื่อยังไม่มีความชัดเจน และสมาชิกรัฐสภายังมีความเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการประชุมรัฐสภา เป็นเวลาเกือบ 10 ชั่วโมง ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐสภายังไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลผูกพันต่อรัฐสภา
พรรคภูมิใจไทย จึงเห็นว่าหากสมาชิกรัฐสภา ยอมเสียเวลา สอบถามศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้แนวปฏิบัติที่ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านมาแล้ว 2 วาระ ก็จะยังอยู่ และ เมื่อมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ก็จะเดินหน้าต่อไปได้ แต่แนวทางนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการลงมติ วาระ 3 ให้ได้ ซึ่งพรรคภูมิใจไทย ได้วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์แล้วว่า การลงมติ จะเป็นการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไปทันที และไม่มีทางนำกลับมาพิจารณาได้อีก เพราะ 1. ส.ส. จำนวนมาก ไม่มั่นใจว่าการลงมติ เป็นการกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า ต้องไปทำประชามติก่อน
และ ประธานรัฐสภา ได้ชี้แจงก่อนการประชุมว่า ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา เสนอว่าไม่ควรลงมติ อาจขัดรัฐธรรมนูญได้ 2. การลงมติ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก สมาชิกวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 84 เสียง จึงจะผ่านความเห็นชอบ ซึ่งพรรคภูมิใจไทย ได้สอบถามท่าทีสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ทราบว่าส่วนใหญ่ ไม่สนับสนุน ซึ่งในการลงมติ ก็มีเพียง 2 เสียง ที่สนับสนุน
จากข้อมูลที่ได้รับในเบื้องต้นก่อนเปิดประชุมรัฐสภา พอจะประเมินได้ว่าหากมีการลงมติ วาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไข เพิ่มเติม ที่ผ่านมา 2 วาระต้องตกแน่ พรรคภูมิใจไทย จึงเลือกแนวทางที่จะรักษาร่างรัฐธรรมนูญ ไว้ก่อน ด้วยการชะลอเวลา แล้วไปสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหาแนวทางที่จะเดินหน้าต่อไป ไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญ ตก แต่ เราทำไม่สำเร็จ และ สุดท้ายก็มีการลงมติ วาระ 3 ซึ่งผลก็เป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ คือ ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทำกันไว้ ตก และ นำกลับมาพิจารณาไม่ได้แล้ว การไม่ลงมติ คือ การแสดงออกให้เห็นว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่ขอร่วมกระทำการที่เรียกได้ว่าไม่จริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างตรงไปตรงมา
พรรคภูมิใจไทย ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ทุกประการ เพราะเราพลาดจริง ๆ ที่ตามเกมการเมืองของผู้ที่จ้องจะล้มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ทัน เนื่องจากเราคิดไม่ถึงว่าจะมีการพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงกันตลอดทั้งวัน เป็นการเล่นเกมที่จะเอาชนะกัน โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชนที่จับตาดูการประชุมรัฐสภา และ เฝ้ารอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคภูมิใจไทย ต้องขอโทษที่ไม่สามารถรักษาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไข เพิ่มเติม ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไว้ได้
พรรคภูมิใจไทย ยังดำรงความมุ่งหมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญ ต่อไป และ จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้รัฐสภา พิจารณา ต่อไป ตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้ โดยมีหลักการคือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ เป็นรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชน มีสิทธิทำกิน สิทธิประกอบอาชีพ อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างรายได้ เพื่อปากท้องของพี่น้องประชาชน ที่สำคัญคือ ต้องมีหลักประกันรายได้ให้แก่ประชาชนทุกคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง