ไม่พบผลการค้นหา
ผ่านฉลุยเพียง 2 ฉบับสำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลเปิดทางแก้ไขหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ

เมื่อที่ประชุมรัฐสภาลงมติให้ผ่านเกณฑ์กึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ รวมทั้งได้เสียง ส.ว.โหวตรับหลักการเกินเกณฑ์ 1 ใน 3 เข้าสู่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาแปรญัตติต่อไป

อีก 5 ฉบับที่เป็นของฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภานั้นถูกโหวตคว่ำลงกลางรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 เพราะเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ ส.ส.และ ส.ว. 732 คน

ใช้เวลาการขานชื่อลงมติแบบเปิดเผยตั้งแต่ช่วงบ่ายจนรู้ผลคะแนนในเวลา 19.00 น. ตลอดการลงมติมีสีสันที่และตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อย

เปิดหน้า 4 ส.ส. 3 ส.ว.แหกโผโหวตคว่ำ 7 ฉบับรวด

พลิกรายชื่อ ส.ส. และ ส.ว. 732 คนที่มีชื่อเข้าคิวลงมติในวาระที่ 1 ก็พบว่า

  • มี ส.ส.ผู้ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยลงมติไม่รับทั้ง 7 ร่าง มี 4 คน ประกอบด้วย ชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรครวมพลังประชาชาติไทย
  • ส.ว.ที่ลงมติไม่รับทั้ง 7 ร่าง มี 3 คน ประกอบด้วย พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี และ สุรสิทธิ์ ตรีทอง
  • 3 ส.ว.ที่แตกแถว ส.ว. 245 คน กล้าโหวตสวนด้วยการรับร่างฉบับที่ 7 ภาคประชาชนที่เปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. พร้อมแก้ประเด็นอื่นๆ ประกอบด้วย พิศาล มาณวพัฒน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ พีระศักดิ์ พอจิต 

ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่กล้าโหวตพรรคฝ่ายค้าน ด้วยการรับหลักการทั้ง 7 ร่าง คือ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์

สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ประชุมสภา_201117_0.jpg
  • สมชาย แสวงการ ส.ว. โหวตคว่ำ 3 ฉบับต้ัง ส.ส.ร.

ส.ว.พร้อมเมินรับหลักการร่างฉบับ 5 ยกเลิกมรดกคำสั่ง-ประกาศ คสช.

  • 7 ร่างที่โหวตกันมาราธอนตลอดทั้งบ่ายนั้น ฉบับที่ 3 ที่ยกเลิกอำนาจของ ส.ว.ปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย ของฝ่ายค้าน พบว่ามี ส.ส.และ ส.ว.ร่วมลงมติงดออกเสียงมากที่สุด 472 เสียง 
  • ร่างที่ 7 ฉบับภาคประชาชน ยังเป็นร่างที่ถูกโหวตไม่รับหลักการมากที่สุด 139 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 61 เสียง และ ส.ว. 78 เสียง
  • ส.ว. 199 เสียง คือคะแนนที่ ส.ว. ร่วมผนึกกำลังประกาศก้องกลางรัฐสภา ด้วยการเปล่งเสียง "งดออกเสียง" ให้กับ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5 ซึ่งแก้ไขให้ยกเลิกมรดกคำสั่ง-ประกาศ คสช. ซึ่งเป็นฉบับของพรรคฝ่ายค้าน
  • 0 เสียง คือ ไม่มี ส.ว.คนใดเลยแม้แต่คนเดียวที่ลงคะแนนรับหลักการร่างฉบับที่ 5 ของฝ่ายค้าน ซึ่งแก้ไขให้ยกเลิกมรดกคำสั่ง-ประกาศ คสช. ฉบับของพรรคฝ่ายค้าน แสดงให้เห็นว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันที่มาตามบทเฉพาะกาลด้วยการทำคลอดของ คสช. ย่อมพิทักษ์รักษาอำนาจให้กับรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ คสช.
  • 647 เสียง คือคะแนนที่ ส.ส.และ ส.ว.เทเสียงโหวตรับหลักการมากที่สุดให้กับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 ของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอให้มีการตั้ง ส.ส.ร.
  • งดออกเสียงน้อยที่สุดต้องยกให้ ร่างฉบับที่ 2 ของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะสำรวจตรวจสอบแล้วพบว่ามีผู้ลงคะแนน งดออกเสียง 55 เสียง มาจาก ส.ส. 3 เสียง ส.ว. 52 เสียง
  • ไม่รับหลักการน้อยที่สุด จำนวน 17 เสียงต้องยกให้ร่างฉบับที่ 2 ของพรรคร่วมรัฐบาล
  • งดออกเสียงทั้ง 7 ร่าง คือ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา
  • 212 เสียงคือคะแนนรับหลักการที่น้อยที่สุดในบรรดา 7 ร่าง คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนแบ่งเป็น ส.ส.รับหลัก 209 เสียง และ ส.ว. 3 เสียง (พิศาล มาณวพัฒน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ พีระศักดิ์ พอจิต)
อนุทิน ภูมิใจไทย ประชุมรัฐสภา​_201118_14.jpg
  • อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้า ภท.โหวตคว่ำร่างภาคประชาชน

เปิดชื่อ ส.ส.-ส.ว.โหวตคว่ำร่างประชาชน

สำหรับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่โหวตไม่รับร่างที่ 7 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน อาทิ อนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ สายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ สำลี รักสุทธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ  เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.

สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ สรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สรวุฒิ เนื่องจำนง ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคภูมิใจไทย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย  กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. เป็นต้น

เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ประชุมรัฐสภา​_20ก118_4.jpg
  • เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและฝ่ายค้าน
ธวัชชัย สมุทรสาคร ประชุมสภา_201117_3.jpg
  • พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ส.ว. โหวตคว่ำรวดร่าง รธน. 7 ฉบับ

เปิดชื่อ ส.ส.-ส.ว.คว่ำรวดโมเดล ส.ส.ร. 3 ฉบับ

ขณะที่ ส.ส. และ ส.ว.ที่ร่วมกันลงมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่ตั้ง ส.ส.ร. ไม่ว่าจะเป็นฉบับฝ่ายค้าน ฉบับรัฐบาล และฉบับภาคประชาชน เพราะไม่ต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการยกร่างของ ส.ส.ร. ประกอบด้วย เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย เจน นำชัยศิริ ส.ว. ชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ

ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ส.ว. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ส.ว. พล.อ.พิศุณุ พุทธวงศ์ ส.ว. 

เพชรชมพู กิจบูรณะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ส.ว. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. สมชาย แสวงการ ส.ว. สุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรครวมพลังประชาชาติไทย สุรสิทธิ์ ตรีทอง ส.ว. อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

ในซีกพรรคฝ่ายค้านที่ประกาศจุดยืนโหวตรับหลักการทั้ง 7 ร่าง โดยเฉพาะ 'พรรคเพื่อไทย' ที่ยกมือโชว์ต่อสื่อมวลชนว่าจะสนับสนุนร่างของภาคประชาชน แต่ไม่ขอแตะต้องหมวด 1-2 นั้น พบว่ามี ส.ส. 2 คน เจ้าเก่าที่มักแหกมติพรรค ไม่ร่วมลงมติในครั้งนี้ คือ พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย

พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ
  • พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ไม่เข้าร่วมลงมติร่าง รธน.

'เนาวรัตน์' เผยเหตุแหกโผ ส.ว. ย้ำจุดยืนเดิมหนุน ส.ส.ร.

ท่าทีของ 1 ใน 3 ส.ว.ที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนนั้น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ส.ว. โพสต์เฟซบุ๊กย้ำว่า "ผมได้ยืนยันตามความคิดเดิมเหมือนที่เคยยืนยันไว้เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563"  

โดยเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 เนาวรัตน์ ระบุว่า "ผมยังยืนยันจุดเดิมคือรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. ทั้งร่างของฝ่ายค้าน รัฐบาลและไอลอว์ ทั้งเห็นด้วยกับการแก้ที่มาของ ส.ว. และลดอำนาจการเลือกนายกฯ เหมือนที่เคยยืนยันไว้" 

พรรคร่วมรัฐบาล ชวน หลีกภัย วิรัช รัฐธรรมนูญ _200901_3.jpgพลังประชารัฐ วิรัช วิปรัฐบาล  แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา adb101886545fd505_38031495_200924_17.jpg

โมเดล ส.ส.ร.สูตรรัฐบาล 200 คน เลือกต้ัง 150+นักวิชาการ 20 + รัฐสภา20 +นศ.10

พลิกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล ที่นำโดย วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และคณะเสนอนั้น โดยวาระที่สอง ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จะยึดร่างนี้เป็นหลัก

เมื่อดูโมเดล ส.ส.ร.ที่ พรรครัฐบาลเสนอนั้น กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จำนวน 200 คน ดังนี้

1.จากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด 150 คน 

2.มาจากรัฐสภาคัดเลือก 20 คน 

3.มาจากสมาชิกซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เลือกจำนวน 20 คน โดยคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 10 คน และจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 คน  

และ4.มาจากสมาชิกซึ่งคัดเลือกจากนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา จำนวน 10 คน (การเลือก ส.ส.ร.จากสัดส่วนนี้ ให้ กกต.คัดเลือกนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาให้ได้จำนวนที่กำหนด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอชื่อและการคัดเลอืกให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกต.กำหนด) 

สำหรับคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ร. นั้นสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง เป็นต้น รวมทั้งห้ามเป็นข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี หรือเป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาตรา 98 

จัดทำ รธน.ในกรอบ 240 วันก่อนชงรัฐสภาโหวต

สูตรของพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้การคัดเลือก ส.ส.ร.เสร็จแล้วให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก 

ซึ่งหลังจากขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือก ส.ส.ร. 200 คนแล้วเสร็จ ชุดดังกล่าวจะต้องดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใน 240 วัน 

เงื่อนไขการจัดทำรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.จะแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จะกระทำมิได้

เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรรมนูญทั้งฉบับ โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมเป็นประการใดมิได้

ขั้นตอนการลงมติของรัฐสภา ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยจะต้องมีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบในการออกเป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ 

กรณีที่รัฐสภาเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา ให้จัดให้มีการประชามติให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.เสนอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง