เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 31 ส.ค. 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรััฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า นายกรัฐมนตรีและ อนุทิน ล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้
1)ความล้มเหลวด้านการควบคุมโรคระบาด โดยไม่มีการประเมินผล ไม่ควบคุมข้อสั่งการของตนเอง และยังกล่าวหาประชาชนว่าไม่ดูแลตัวเอง ไม่มีความรับผิดชอบ ทั้งที่เกิดจากความไม่กวดขันของภาครัฐเอง
2)การจัดหาวัคซีนผิดพลาดล้มเหลว ไม่มีความกระตือรือร้นในการจัดหาวัคซีนแต่อย่างใด มีการจัดซื้อในปริมาณที่น้อย นอกจากนี้ ยังมีการจัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวนมาก ทั้งที่เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำ โดยไม่มีความพยายามจัดซื้อวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่นๆ ทำให้เกิดสงสัยว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ รัฐบาลยังไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ โดยอ้างเหตุผลสารพัด ทั้งที่แท้จริงแล้วกังวลว่าจะไม่มีเงินทอน นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนในราชอาณาจักรอีกด้วย
3)ความล้มเหลวในการกระจายวัคซีนอย่างไม่เป็นระบบ เช่น พบว่ามีตำรวจที่ จ.บุรีรัมย์ ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นเข็มที่ 3 ทั้งที่ไม่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องได้รับวัคซีนเข็ม 3
4)บริหารงานสถานการณ์วิกฤตเหมือนสถานการณ์ปกติ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเวิร์กฟรอมโฮม ทำงานอยู่ที่บ้านแบบไม่ทุกข์ไม่ร้อน จนกระทั่ง สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อังกฤษ ได้ยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาก
ประเสริฐ กล่าวว่า หลายสิ่งหลายอย่างเกิดจากความล้มเหลวในการบริหารส่งผลต่อชีวิตประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย
“ขอถาม พล.อ.ประยุทธ์ คนเหล่านั้นเขาทำผิดอะไรทำไมต้องมารับผลกระทบที่เกิดจากการบริหารผิดพลาดของท่าน นอกจากท่านไม่รับผิดชอบแล้ว ท่านยังกีดกันไม่ให้เขาช่วยตัวเอง เช่น เอกชนจะจัดซื้อวัคซีนเองเพื่อฉีดให้บุคลากรของตัวเอง ท่านกลับไม่อำนวยความสะดวกกีดกันด้วยมาตรการต่างๆนาๆ จนคนไทยมองไม่เห็นอนาคตว่าจะอยู่อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ปล่อยให้ประเทศไทยเดินทางมาถึงตรงนี้ได้อย่างไร สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยยอมรับไม่ได้เลยคือการค้าความตาย โดยจัดหาวัคซีนคุณภาพต่ำมาให้ประชาชน ซื้อวัคซีนเพียงเจ้าเดียวเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง ถือว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชน ไม่รอบคอบไม่ระมัดระวัง”
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ดังนี้
1.ได้หลีกเลี่ยงการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แต่ใช้คำสั่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรี ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นฉากบังหน้า มอบหมายให้กรมควบคุมโรคและองค์การเภสัชกรรมซื้อวัคซีนซิโนแวค จากเป้าหมายเดิมที่จะฉีดวัคซีนซิโนแวคแค่ 10% แต่วันนี้วัคซีนซิโนแวคเข้ามาในประเทศไทยแล้ว 19.5 ล้านโดส มากกว่าแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลัก
2.การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคไม่ใช่การซื้อแบบจีทูจี หรือ รัฐต่อรัฐ เพราะถ้าซื้อแบบจีทูจี จะต้องได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากร การจัดซื้อดังกล่าวเป็นการจัดซื้อเชิงพาณิชย์ โดยการจัดซื้อล็อตแรก 2 ล้านโดส มีการเสียภาษีจำนวน 6,896,029 บาท
“อุปทูตจีนยังระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่นำเข้าวัคซีนเชิงพาณิชย์ เป็นการจัดซื้อของรัฐบาลไทยกับบริษัทของซิโนแวค ซึ่งเป็นเอกชนในจีน จดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกง เป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทแห่งนี้มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับเจ้าสัวในเมืองไทย โดยเป็นกลุ่มชนที่มีความผูกพันกับรัฐบาลเป็นอย่างดี”
ประเสริฐ กล่าวว่า การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคถือว่า ยังขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564 และวันที่ 6 ก.ค. 2564 ที่ไม่เป็นไปตามแผนที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยพฤติการณ์การจัดส่งวัคซีนนั้นมีความรวดเร็วและเร่งรีบ แต่วัคซีนยี่ห้ออื่นกลับช้า นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์และอนุทิน ยังไม่เชื่อฟังคำทักท้วงของ 7 หน่วยงานที่ยับยั้งการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคปริมาณที่มากจนผิดสังเกต ทำให้เชื่อว่าการจัดซื้อครั้งนี้ มีชอบมาพากล มีผลประโยชน์แอบแฝง การเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน เอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง ไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชน มีพฤติการณ์จัดซื้อที่ปิดบังอำพราง เป็นวัคซีนสายสัมพันธ์แต่ได้ประสิทธิภาพ
ประเสริฐ ยังเปิดผังผู้ถือหุ้นของวัคซีนชิโนแวค โดยมีรูป ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้วย แต่ต่อมา ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งห้ามนำภาพดังกล่าวถึงมา เพราะถือเป็นบุคคลภายนอก
ทำให้ ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ประท้วงว่า ผู้อภิปรายกำลังจะเป็นคู่ขัดแย้งกับบุคคลภายนอก การอภิปรายแบบหลุดไปภายนอกมากไปจะทำให้สภาเสียหาย วันนี้ประชาชนฉีดซิโนแวคไปมาก และเรามีข้อมูลว่าซิโนแวคนั้นดี แต่ท่านกำลังด้อยค่าลง ทำให้ประชาชนที่ฉีดซิโนแวคแล้วเกิดอาการตกใจและหวาดกลัว
อย่างไรก็ตาม พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ทักท้วงประธานว่า ถ้าการอภิปรายไม่สามารถแตะบุคคลภายนอกได้ การอภิปรายก็จะไม่สมบูรณ์ "ทำไมเจ้าสัวคนนี้มันเป็นอะไร มันเป็นคนดูแลประเทศไทยยังไงถึงแตะไม่ได้"
ต่อมา ประเสริฐ อภิปรายต่อว่า เจ้าของบริษัทซิโนแวคเป็นหลานชายของเจ้าสัวเมืองไทย นั่นคือเจ้าสัวซีพี วันที่ 25 พ.ค. 2564 ซีพีออกแถลงว่าการจัดซื้อวัคซีนชิโนแวคเป็นการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ไม่มีความเกี่ยวข้องกับซีพีทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง
เปิดส่วนต่างจัดซื้อ 'ซิโนแวค'ขายล็อตแรกแพง ต่อมาขายถูกลง
ประเสริฐ ยังเปิดเอกสารการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ระบุว่า ได้รับเอกสารจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ทนการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์และอนุทินไม่ได้ โดยการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคทั้งหมด 18 ครั้ง ครั้งที่ 1 จำนวน 200,000 โดส ประเทศไทยได้รับเพียง 192,000 โดส ราคาโดสละ 17 เหรียญ ซึ่งมีส่วนต่าง 2 เหรียญต่อโดส โดยหลังจากนั้นซิโนแวคได้ลดราคาลงอย่างต่อเนื่อง
ประเสริฐ กล่าวว่า ในล็อกแรก ซิโนแวคขายวัคซีนให้ประเทศไทย โดสละ 17 เหรียญ แต่ต่อมาได้ลดราคาลงอย่างต่อเนื่อง เช่น 15 เหรียญ , 14 เหรียญ , 9.5 เหรียญ และสุดท้ายเหลืออยู่ที่ 9 เหรียญ แต่ราคาที่ ครม.อนุมัติในการจัดซื้อยังอยู่ที่ 17 เหรียญต่อโดสไม่เปลี่ยนแปลง จึงมองว่าได้ที่เหลือนั้น เป็นส่วนต่าง
เขา กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อรวมส่วนต่างทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 2,098,529,920 บาท โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติ งบประมาณ 10,846,680,000 บาท ขณะที่ราคาอ้างอิงอยู่ที่ 8,740,150,000 บาท
และล่าสุด ครม.อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 10.9 ล้านโดส มีส่วนต่างอยู่ที่ 1,603,280,000 บาท โดยเป็นราคาที่ ครม. อนุมัติ 5,562,400,000 บาท แต่ราคาจริงอยู่ที่ 3,959,120,000 บาท จึงเป็นที่สงสัยว่าทำไมไม่อนุมัติงบประมาณตามราคาจริง ซึ่งถือเป็นการค้าความตาย และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีและอนุทินต้องตอบ ถ้าไม่ตอบ ถือว่าตั้งใจโกง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง