ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ให้สัมภาษณ์ว่า ตนจะเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 256/13 วรรคห้าและวรรคหก ซึ่งร่างเดิมบัญญัติว่า
“การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้ กรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรคห้า ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป”
ไพบูลย์กล่าวว่า ตนจะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นดังนี้
“การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมทั้งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในหมวดอื่นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะกระทำมิได้ และต้องบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้ มาตรา 269 มาตรา 272 และมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป
เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าเป็นการชอบด้วยวรรคห้าหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ไม่เป็นไปตามวรรคห้า ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญคืนแก่สภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไข กรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่แก้ไขให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า เหตุที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256/13 วรรคห้าและวรรคหก เพื่อให้เป็นไปตามความห่วงใยของกลุ่มประชาชนปกป้องสถาบันฯ ที่ออกมาคัดค้านการตั้ง ส.ส.ร. เนื่องจากห่วงกระทบพระราชอำนาจ ซึ่งตนแม้จะโหวตให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. แต่มีจุดยืนที่ไม่ยอมให้มีการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ดังนั้น ในฐานะกรรมาธิการฯ จึงเสนอให้นอกจากตามร่างรัฐธรรมนูญฯ เดิม ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์แล้ว ตนเสนอเพิ่มเติมให้ห้ามแก้ไขพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้ครอบคลุมในหมวดอื่นๆของรัฐธรรมนูญด้วย และ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256/13 วรรคหก เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าเป็นการชอบด้วยวรรคห้าหรือไม่ แทนเดิม กำหนดให้รัฐสภาเป็นองค์กรวินิจฉัย
ไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนที่เสนอให้ต้องบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฯฉบับ ส.ส.ร. ให้ มาตรา 269 มาตรา 272 และมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป ด้วยเห็นว่าคง มาตรา 269 เพื่อรักษาสิทธิ ส.ว. ให้ดำรงตำแหน่งครบตามวาระ
ส่วนที่เสนอให้คงมาตรา 272 เหตุเพราะมีที่มาจากประชาชน 15 ล้านคน ออกเสียงเห็นชอบเฉพาะมาตรานี้ ซึ่งมีผลในระยะ 5 ปีแรกเท่านั้น และเสนอให้คง มาตรา 279 เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับการดำเนินคดีเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมืองและข้าราชการที่ดำเนินการไปในสมัย คสช. ดังนั้น ตนจะเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้ที่ประชุม กมธ.ฯ พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 256/13 วรรคห้าและวรรคหกดังกล่าวข้างต้น เมื่อที่ประชุม กมธ.ฯ มีการพิจารณามาตราดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :