ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศไทยภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เคยนำเสนอนโยบาย ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ ในความพยายามสร้างให้ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาค สามารถส่งออกสินค้าด้านอาหารของตนไปทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจให้แก่คนในชาติ และทำให้ไทยมีภาพลักษณ์ใหม่ในสายตาชาวโลก โดยเฉพาะด้านการเป็นขุมทรัพย์อาหารของโลก

การระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มาจนถึงวิกฤตสงครามในยูเครน ล้วนแล้วแต่กระทบวิกฤตทางด้านอาหารของโลก ส่งผลให้ประเทศที่เป็นจุดศูนย์กลางการส่งออกวัตถุดิบในการประกอบอาหารจะได้เปรียบในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสถานการณ์โลกเต็มไปด้วยภัยคุกคามต่อวิกฤตการณ์ทางด้านอาหาร

ในสายตาของประชาชน ยังคงมีคำถามว่า รัฐบาลไทยในปัจจุบันส่งเสริมการเป็นครัวโลกของไทยไปมากน้อยเพียงใด ตลอดระยะเวลาของการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ไทยกลับไม่ได้มีสินค้าด้านอาหารที่ถูกส่งออกไปในฐานะวัตถุดิบราคาสูง สำหรับการประกอบอาหารชั้นหรูบนภัตตาคาร ในขณะเดียวกัน เรายังคงหวังพึ่งอยู่กับแค่การส่งออกข้าวและผลไม้ที่มีตลาดอื่นสามารถทดแทนได้ และไทยยังคงไม่มีสินค้าด้านอาหารที่สร้างคุณค่าในตัวของมันเอง วอยซ์ชวนคุณสำรวจวัตถุดิบประกอบอาหารจากแหล่งผู้ผลิตโลกที่สาม สู่จานอาหารชั้นหรูระดับโลกเพื่อย้อนกลับมาทบทวนไทยท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางอาหารกันใหม่


อิหร่าน: ไข่ปลาคาเวียร์

หากพูดถึงจานอาหารหรูบนภัตตาคารดังแถบยุโรป สิ่งแรกๆ ที่เด้งขึ้นมาในหัวของใครหลายคนอาจเป็นไข่ปลาคาเวียร์ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ไข่ปลาคาเวียร์กว่า 10% ของโลกที่ถูกบริโภค ถูกผลิตขึ้นในอิหร่าน ประเทศที่หลายคนมองว่ายังคงห่างไกลจากการพัฒนา ท่ามกลางความเคร่งครัดทางศาสนาและความขัดแย้งที่อิหร่านมีกับโลกตะวันตก

ไข่ปลาคาเวียร์ถูกเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารของชนชั้นสูงมาตั้งแต่อดีตกาล โดยเฉพาอย่างยิ่งเมื่อราวคริสตศตวรรษที่ 10 ตั้งแต่อาณาจักรไบแซนไทน์ไปจนถึงเคียฟวาน รุส ทั้งนี้ ปลาต้นกำเนิดไข่ปลาคาเวียร์คือปลาสเตอร์เจียนขาว ที่มีอยู่จำนวนมากบริเวณทะเลแคสเปียน ติดกันกับพรมแดนของอิหร่าน คาซัคสถาน รัสเซีย เติร์กเมนิสถาน และอาเซอร์ไบจาน

Reuters - ไข่ปลาคาเวียร์

ไข่ปลาคาเวียร์ที่มีราคาแพงจากอิหร่านอย่าง ‘อัลมาส’ ที่แปลว่าเพชร อาจมีมูลค่าต่อกิโลกรัมสูงถึง 34,500 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.18 ล้านบาท) ซึ่งถูกผลิตขึ้นจากปลาสเตอร์เจียนขาวเผือกหายาก ที่มีอายุระหว่าง 60 ถึง 100 ปี ทั้งนี้ ทางการอิหร่านระบุว่า ตนเป็นผู้ส่งออกไข่ปลาคาเวียร์จากปลาสเตอร์เจียนขาวเจ้าใหญ๋ที่สุดในโลก

เมื่อช่วงก่อน มี.ค. 2565 อิหร่านส่งออกไข่ปลาคาเวียร์ไปยัง 33 ประเทศทั่วโลกด้วยปริมาณน้ำหนักกว่า 5.77 ตัน คิดเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่า 65% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ไข่ปลาคาเวียร์ระดับราคาปกติอาจมีอยู่ที่ราว 1,000-3,200 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 34,000-100,000 บาท) ต่อกิโลกรัม แต่ราคาของมันจะพุ่งสูงขึ้นไปถึง 3,200-4,300 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 100,000-147,000 บาท) เมื่อถึงมือผู้บริโภค


เวียดนาม: แมคคาเดเมีย

คนมักเข้าใจว่าแมคคาเดเมียเป็นถั่ว แต่มันคือพืชชนิดหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในตระกูลถั่ว แมคคาเดเมียมีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลียมาจนถึงอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี เวียดนามมีความพยายามที่จะขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกแมคคาเดเมียเจ้ายักษ์ โดยมีการตั้งเป้าว่าภายในปี 2573 เวียดนามจะสามารถส่งออกแมคคาเดเมียได้กว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท) และ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท) ที่ปี 2593

รัฐบาลเวียดนามประกาศเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ตนได้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งออกแมคคาเดเมียเป็นประเทศชั้นนำระดับโลก โดยในปี 2573 เวียดนามจะต้องส่งออกแมคคาเดเมีย 130,000 ตัน และเพิ่มขึ้นไปเป็น 500,000 ตันในปี 2593

Reuters - แมคคาเดเมีย

รัฐบาลเวียดนามเล็งที่จะใช้พื้นที่ 812,500-937,500 ไร่ ในการปลูกแมคคาเดเมียบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือและตอนกลางของพื้นที่ราบสูงในประเทศภายในปี 2573 และจะเพิ่มพื้นที่เป็น 1,562,500 ไร่ภายในปี 2593 เพื่อเป็นฐานการผลิตแมคคาเดเมียส่งออกจากเวียดนามไปทั่วทั้งโลก ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวจะสามารถผลิตแมคคาเดเมียได้ประมาณ 600,000 ตันแบบยังไม่กะเทาะเปลือก

เวียดนามจะต้องเจอกับคู่แข่งทางการค้าแมคคาเดเมียอย่างพื้นที่ในแถบอเมริกาใต้ ที่ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกแมคคาเดเมียอันดับต้นๆ ของโลก นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2550 ถึงแม้ว่าแมคคาเดเมียจะเป็นพื้นที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเอเชียแปซิฟิกก็ตาม


มาดากัสการ์: ฝักวานิลลา

ขนมหลายอย่างเลือกใช้กลิ่นของวานิลลาเป็นตัวชูรสชาติ อย่างไรก็ดี ร้านขนมหลายร้านเลือกใช้กลิ่นสังเคราะห์ของวานิลลา แทนการใช้ฝักวานิลลาจริง เนื่องจากราคาของมันที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี มาดากัสการ์เป็นหนึ่งพื้นที่ของโลกที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตวานิลลาส่งออกไปยังทั่วทุกมุมโลก

AFP - วานิลลา

วานิลลามีแหล่งกำเนิดห่างออกไปจากมาดากัสการ์ในทวีปแอฟริกากว่ามาก เพราะมันมีแหล่งกำเนิดอยู่ที่บริเวณทวีปอเมริกาใต้ และมีการบันทึกถึงการใช้มันมาตั้งแต่ยุคแอซเท็ก อย่างไรก็ดี ในปี 2562 วานิลลากว่า 80% ของทั่วทั้งโลกถูกผลิตขึ้นในกลุ่มเกษตรกรเล็กๆ ของมาดากัสการ์ ท่ามกลางความต้องการวานิลลาที่ยังคงมีมากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ 

เคยมีความกังวลในช่วงปี 2560-2561 ว่า วานิลลาอาจหมดไปจากโลก หรืออย่างน้อยๆ ก็ขาดตลาดไปอีกนาน หลังจากที่มาดากัสการ์ประสบภาวะแห้งแล้ง ไปจนถึงพายุไซโคลน อย่างไรก็ดี วานิลลายังคงเป็นพืชที่ทำเงินให้แก่มาดากัสการ์ได้มหาศาล ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา วานิลลาอบแห้งจากมาดากัสการ์สามารถขายได้ในราคา 600 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 20,500 บาท) ต่อกิโลกรัม

ประเทศไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการเพาะปลูกสินค้าทางการเกษตร อย่างไรก็ดี ไทยยังขาดการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อขับเน้นสินค้าการเกษตรของตนเอง ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วทุกมุมโลก การพัฒนาเห็ดธรรมดาๆ ในป่าของไทย อาจทำให้เห็ดนั้นกลายเป็นวัตถุดิบหลักที่ภัตตาคารหรูของโลกขาดไม่ได้ ไทยอาจจะต้องรอรอคอยวิสัยทัศน์ด้านอาหารของผู้นำต่อไป


ที่มา:

https://financialtribune.com/articles/domestic-economy/113598/caviar-exports-rise-65-to-57-tons-in-fiscal-2021-22

https://asianews.network/vietnam-aims-to-be-leading-macadamia-exporter-in-the-world/

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2019/09/15/757899271/photos-vanilla-boom-is-making-people-crazy-rich-and-jittery-in-madagascar