ไม่พบผลการค้นหา
‘วอยซ์’ รวบรวมย่างก้าวที่แล้วมาของเหล่า ส.ว. เพื่อประเมินให้เห็นว่า ความหวังของประชาชนอยู่ไกลเพียงไหน และความน่าหวาดเสียวทางการเมืองนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด นั่นจะนำไปสู่ ‘โจทย์’ ที่แท้จริงของประชาชนที่ต้องเตรียมการหลังการเลือกตั้ง

ระหว่างกองเชียร์ชุลมุนกับความขัดแย้งในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง วันที่ 3 พ.ค.2566 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายคนสำคัญของขั้วอำนาจเก่า ให้สัมภาษณ์สื่อต่อคำถามที่ว่า “คิดว่าจะเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่” 

วิษณุตอบว่า 

“เห็นทุกพรรคการเมืองพร้อมใจกันพูดว่าจะไม่ให้เกิดไม่ใช่หรือ แต่โดยมากแล้วรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นไม่ควรจะตั้ง แต่ถ้าหนีไม่พ้นแล้วจำเป็นต้องตั้ง ก็จะเป็นเสียงข้างน้อยอยู่ไม่กี่วัน และจะเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาเอง คงไม่อยู่ไปถึงขนาดไปเจอกฎหมายงบประมาณ”

ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากนิด้า สถาบันซึ่งทำโพลออกมาแล้ว 3 ครั้ง วิเคราะห์ตัวเลขที่นั่ง ส.ส.ของแต่ละพรรค รวมถึงความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565  พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้คะแนนรวมกันอยู่ที่ 48% เดือนธันวาคม 2565 คะแนนรวมสองพรรคขยับมาอยู่ที่ 59% เดือนมีนาคม 2566 คะแนนสูงถึง 67% ล่าสุดเดือนเมษายน อยู่ที่ 69 % และหากรวมฝ่ายค้านอื่นๆ อาทิ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ เข้าไปด้วย พรรคฝั่งประชาธิปไตยจะรวมกันแล้วอยู่ประมาณ 72-75%

ทว่า ความซับซ้อนของการเมืองไทย ภายใต้ ‘ส.ว. 250’ ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ ด้วย ทำให้สมการการจัดตั้งรัฐบาลต้องคิดรวมทั้ง ส.ส.-ส.ว. ที่รวมกันแล้วคือ 750 คน การจะชนะการโหวตนายกฯ แปลว่าต้องได้เสียง 376 เสียงเป็นอย่างน้อย 

พิชายประเมินว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด แต่ไม่มากเท่าที่ประเมินครั้งแรกที่ 240 ที่นั่ง แต่อาจลดลงเหลือ 200-210 ที่นั่ง ก้าวไกลคือ 80-100 ที่นั่ง เพราะฉะนั้น คะแนนรวมของสองพรรคนี้คือ 300-320 ที่นั่ง รวมพรรคเล็กด้วย ก็อาจได้เพียง 340 เสียง เท่ากับว่า ยังขาดอยู่ 36 เสียง

“เราอาจต้องเฝ้าดู ส.ว. บางส่วนที่พยายามออกมาพูดว่า จะโหวตตามเสียงส่วนใหญ่ คนเหล่านี้คงไม่เกิน 20 คน จาก 250 ส.ว. ซึ่งรวมจะมีเสียงในสภาราว 360”

…ก็ยังไม่ถึง 376 เสียงอยู่ดี 

พิชายระบุทางออกว่า พรรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอาจต้องเลือกเจรจากับพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทย เพื่อให้ไม่ต้องพึ่ง ส.ว. ที่มาจาก คสช. อีกเลย ทว่าในแง่นี้ การจัดตั้งรัฐบาลจะต้องผสมกับหลายพรรคการเมือง ทำให้การบริหารประเทศและดำเนินนโยบายประสบกับความยุ่งยากไม่น้อย

อีกกรณีที่น่าสนใจซึ่งพิชาญวิเคราะห์ไว้คือ ขั้วรัฐบาลเดิมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย สี่พรรคนี้รวมกันแล้วน่าจะได้ประมาณ 150 - 180 เสียง ซึ่งสามารถเลือกนายกฯ ได้ เพราะมี 250 ส.ว. อยู่ในมือ หากเป็นเช่นนั้น พวกเขาจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยและไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ รัฐบาลไร้เสถียรภาพ บริหารงบประมาณยาก และประชาชนอาจออกมาแสดงควาไม่พอใจตามท้องถนนอีกครั้ง

แต่ก็นั่นแหละ วิษณุ เครืองาม ได้บอกเป็นนัยไว้ว่า เสียงข้างน้อยนั้นจะน้อยอยู่ไม่นาน เดี๋ยวก็เกิดการย้ายข้างจนเป็นเสียงข้างมากได้เองทีหลัง ดังปรากฏให้เห็นอยู่ในสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลปี 2562

แปลว่า จุดชี้ขาดว่าใครจะเป็นนายกฯ ใครจะเป็นรัฐบาล ยังคงเป็น ส.ว.250 คนที่แต่งตั้งโดย คสช. และแรงบีบของสังคมก็ยังไม่พุ่งเป้าไปยังแกนกลางนี้อย่างจริงจัง

ขณะเดียวกัน ช่วงใกล้เลือกตั้ง ส.ว. หลายคนได้ออกมาแสดงท่าทีการโหวตนายกฯ ให้เห็น บ้างประกาศจุดยืนเลือกนายกจากรัฐบาลที่ได้เสียงข้างมาก บ้างยืนยันว่า นายกฯ ต้องเป็นพลเอกยุทธ์หรือพลเอกประวิตรเท่านั้น และบ้างก็มองว่า โดยหลักการควรเลือกพรรคเสียงข้างมาก แต่หากแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเสียงข้างมากที่มีนามสกุล ‘ชินวัตร’ อย่างไรพวกเขาก็จะไม่เลือก

คำถามก็คือ ส.ว.ที่จะโหวตนายกฯ ตามมติของประชาชน มีจำนวนมากแค่ไหนกัน ส.ว. ที่พูดจาถูกต้องตามหลักการนั้นจริงใจหรือสับขาหลอก 

‘วอยซ์’ รวบรวมย่างก้าวที่แล้วมาของเหล่า ส.ว. เพื่อประเมินให้เห็นว่า ความหวังของประชาชนอยู่ไกลเพียงไหน และความน่าหวาดเสียวทางการเมืองนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด นั่นจะนำไปสู่ ‘โจทย์’ ที่แท้จริงของประชาชนที่ต้องเตรียมการหลังการเลือกตั้ง   

รวมท่าที ส.ว.(บางคน) ในการโหวตนายกฯ
  • วันชัย สอนศิริ ส.ว.ชื่อดังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 1 มี.ค. ว่า 

“ผมได้ร่วมประชุมกับแกนนำคนสำคัญของ ส.ว. กลุ่มหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ที่แห่งหนึ่ง มีการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการโหวตนายก ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ตามรัฐธรรมนูญเขาให้ ส.ส. เป็นคนเสนอชื่อนายก ส.ว.เป็นเพียงคนโหวตสนับสนุนเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ไม่มีอำนาจเสนอนายกโดยตรง ดังนั้น เมื่อใครหรือพรรคใดรวมเสียง ส.ส.ส่วนใหญ่ได้มากเกินกว่ากึ่งหนึ่งและเสนอใครเป็นนายก พวกเราก็จะโหวตให้กับคนๆ นั้น”

วันชัย ยังได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ ‘เปิดปากกับภาคภูมิ’ ช่อง ThairathTV ว่า 

“พรรคใดรวมเสียงได้กึ่งหนึ่ง ผมจะโหวตให้กลุ่มหรือพรรคการเมืองเหล่านั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม นี่คือจุดยืนของผม หากกลุ่มเพื่อไทยรวมกันแล้วได้เกิน 251 เสียง ผมก็จะเลือก ไม่ว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายก จุดยืนของผมชัดเจน”

  • พิศาล มาณวพัฒน์ ส.ว.อีกคนหนึ่งกล่าวผ่านช่องไทยพีบีเอส เมื่อ 12 เม.ย.ว่า

“ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้น ที่คนจากการเลือกตั้งไม่มีสิทธิ์เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องมารวมเสียงกับคน (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง” โดยพิศาลมองว่า การที่ ส.ว. จากการแต่งตั้ง มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ นั่นไม่ถือเป็นประชาธิปไตย  

  • พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวเมื่อ 13 ก.พ. ว่า 

“หากมีเสียงเกินครึ่งแล้ว เราคิดว่า เป็นบุคคลที่ไม่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรี สู้อีกคนไม่ได้ก็ต้องถอยกลับไป เสนอชื่อใหม่ เพราะฉะนั้น การที่พรรคการเมืองรวมตัวกันก็เป็นสิทธิ์ แต่การที่จะเสนอใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมองในภาพรวมด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งแรก คู่เปรียบเทียบแทบจะสู้ไม่ได้ เสียงจึงเทไปที่พล.อ.ประยุทธ์ เกือบทั้งหมด สิ่งที่สำคัญของ ส.ว. คือต้องวางตัวเป็นกลาง ใช้ดุลยพินิจในการให้ความเห็น เลือกผู้ที่สมควรในการมาเป็นผู้นำรัฐบาลครั้งต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะนำไปสู่การมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่” 

  • เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กล่าวเมื่อ 12 ก.พ.ว่า

“ขณะนี้เสียง ส.ว. เกิน 90% จะโหวตไปทางเดียวกันหมด โอกาสครั้งหน้าบอกได้เลย ไม่พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตรเท่านั้นที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี”

  • กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.กล่าวเมื่อ 13 ก.พ.ว่า

“เรื่องนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว แต่เชื่อว่า ส.ว. ส่วนใหญ่จะเคารพเสียงของประชาชน และทำเพื่อบ้านเมืองเท่านั้น โดย ส.ว.จะดูว่าผู้ที่จะมาทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง ต้องเป็นคนมีความรู้ความสามารถ ไม่มีเบื้องหลังทุจริต นำพาบ้านเมืองไปสู่ความสงบเรียบร้อย”


เช็กจุดยืน ส.ว. ผ่านการโหวตผ่านกฏหมายสำคัญ

ปกติแล้ว หน้าที่หลักของ ส.ว. คือการกลั่นกรองตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง

ทว่า ส.ว. ‘พิเศษ’ ที่มาจากบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 มีมากกว่านั้น  เนื่องจาก รัฐธรรมนูญฉบับหลัง คสช. กำหนดให้ ส.ว.มีแต้มพลังพิเศษดังนี้ 

  • มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ 
  • เป็นจุดตาย อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่าส.ส.จะโหวตมากแค่ไหน ถ้าส.ว.โหวตให้ไม่ถึง 1 ใน 3 เป็นอันแก้ไขไม่ได้
  • ร่วมพิจารณากฎหมายที่อยู่ในหมวด ‘ปฏิรูปประเทศ’ ซึ่งกินความกว้างขวาง 
  • มีอำนาจเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 

จากการรวบรวมข้อมูลของ iLaw พบว่า การประชุมรัฐสภา 1 ปีแรก ส.ว.250 ได้ร่วมโหวตเรื่องต่างๆ ตลอดทั้งปีรวมแล้ว 145 มติ โดยลงมติโหวตผ่านฉลุย โดยไม่เคยปัดตกมติใด ซึ่งหากเปรียบเทียบความยากง่ายของการผ่านกฎหมายในชั้น ส.ส. กับ ส.ว. พบว่า ส.ว. โหวตผ่านเรื่องต่างๆ ง่ายดายมาก ทำให้การทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 สะดวกโยธิน 


ส.ว. 14 คน โหวตสวน 4 หน

อย่างไรก็ตาม หากเราเจาะไปดูการลงมติของ ส.ว. ในวาระที่สำคัญ เช่น  การแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีและกลไกนายกฯ คนนอก ซึ่งมีทั้งหมด 6 ครั้ง 

จะพบว่า มี ส.ว.หน้าเดิมราว 14 คน โหวตสวนทางเพื่อนๆ ‘ยอมตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ’ ติดต่อกัน 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 จนถึง ปี 2565 ได้แก่ 

  1. ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 
  2. คำนูณ สิทธิสมาน 
  3. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ 
  4. เฉลิมชัย เฟื่องคอน 
  5. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 
  6. ประภาศรี สุฉันทบุตร 
  7. ประมนต์ สุธีวงศ์ 
  8. พรทิพย์ โรจนสุนันท์ 
  9. พิศาล มาณวพัฒน์ 
  10. มณเฑียร บุญตัน 
  11. วันชัย สอนศิริ 
  12. วัลลภ ตังคณานุรักษ์ 
  13. อนุศาสน์ สุวรรณมงคล 
  14. อำพล จินดาวัฒนะ 
‘ปิดสวิทซ์ ส.ว.’ ไม่เคยผ่านสักครั้ง ส.ว.โหวตสวนประปราย

ถ้าลองคลี่ดูให้ละเอียด ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ มีการแก้รัฐธรรมนูญที่มีการเสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ทั้งหมด 6 ฉบับ โดยมีความแตกต่างไปในข้อเสนอ ตั้งแต่การยกเลิก ส.ว. ไปเลย ไปจนถึงข้อเสนอเดียวประเด็นเดียว ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ทว่ากลับไม่มีครั้งใดเลยที่ข้อเสนอนี้ผ่านมติของสภา 

17 พฤศจิกายน 2563 การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับในวาระ 1 การลงมติของ ส.ว. ในร่างฉบับที่ 4 เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้แก้ไขมาตรา 272 และ มาตรา 159 ที่ ‘ยกเลิกให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี และปิดสวิตช์นายกฯ คนนอก’ 

ส.ว.โหวตเห็นชอบมี 56 เสียง ได้แก่

นายกล้านรงค์ จันทิก / นางสาวกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ / นายกิตติ วะสีนนท์ / ดร.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ / นายคำนูณ สิทธิสมาน / ดร.เจน นำชัยศิริ พลอากาศตรี / เฉลิมชัย เครืองาม / ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ / นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน / พลตำรวจเอกชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ / ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน / ว่าที่ร้อยตรีเชิดศักดิ์ จำปาเทศ / นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล / พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน / พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย / นายณรงค์ รัตนานุกูล / นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ / นายณรงค์ อ่อนสอาด / ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม / นายนิพนธ์ นาคสมภพ / พลเอกนิวัตร มีนะโยธิน / ดร.นิสดารก์ เวชยานนท์ / นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / พลอากาศเอก / ดร.ประจินจั่นตอง / นายประดิษฐ์ เหลืองอร่าม / นางประภาศรี สุฉันทบุตร / นายประมนต์ สุธีวงศ์ / พลตำรวจตรีปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ / นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ / คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ / นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ / นายพิศาล มาณวพัฒน์ / นายพีระศักดิ์ พอจิต / นางสาวภัทรา วรามิตร / นายมณเฑียร บุญตัน / พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช / นายวันชัย สอนศิริ / นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ / พลตำรวจโทวิบูลย์ บางท่าไม้ / นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ / นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล / นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ / นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ / นายศักดิ์ชัย ธนบุญชัย / ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา / พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม / นายสมชาย เสียงหลาย / ดร.สมชาย หาญหิรัญ / นายสัญชัย จุลมนต์ / นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย / นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ / นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล / นายออน กาจกระโทก / นายอับดุลฮาลิม มินซาร์ / นายอำพล จินดาวัฒนะ / พลตรี โอสถ ภาวิไล

17 พฤศจิกายน 2563  ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยเครือข่ายภาคประชาชน ฉบับ ‘รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น ยกเลิกช่องทางเสนอนายกคนนอก, แก้ไขที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้ง ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ผลปรากฏว่ารัฐสภามีมติ ไม่รับหลักการในวาระที่หนึ่ง 

มี ส.ว.โหวตเห็นชอบ 3 คน ได้แก่

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / พิศาล มาณวพัฒน์ / พีระศักดิ์ พอจิต

23 มิถุนายน 2564 มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญกันอีกยกหนึ่ง โดยมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ และมีเพียงร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอไม่ให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ

มี ส.ว. โหวตเห็นชอบ 15 คน ได้แก่ 

ดร. ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ / คำนูณ สิทธิสมาน / นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ / เฉลิมชัย เฟื่องคอน / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / ประภาศรี สุฉันทบุตร / ประมนต์ สุธีวงศ์ / พรทิพย์ โรจนสุนันท์ / พิศาล มาณวพัฒน์ / มณเฑียร บุญตัน / วันชัย สอนศิริ / วัลลภ ตังคณานุรักษ์ / สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย / อนุศาสน์ สุวรรณมงคล / อำพล จินดาวัฒนะ

16 พฤศจิกายน 64 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 130,000 รายชื่อ ในวาระ1 แต่ร่างดังกล่าวเป็นอันตกไป

มี ส.ว.โหวตเห็นชอบ 3 คน ได้แก่ 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / พิศาล มาณวพัฒน์ / มณเฑียร บุญตัน 

มณเฑียร กล่าวถึงเหตุผลในการรับหลักการร่างดังกล่าวในครั้งนี้ว่า “เพื่อเป็นการให้เกียรติประชาชนที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้ามา”

7 กันยายน 2565 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ร่างที่ 4 แก้ไขมาตรา 272 เกี่ยวกับการตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ที่สมชัย ศรีสุทธิยากร และประชาชนเข้าเชื่อเสนอ 

มี ส.ว. โหวตเห็นชอบ 23 คน ได้แก่

นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ / นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ / นายคำนูณ สิทธิสมาน / พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา / นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน / นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ / นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ / นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / นายบรรชา พงศ์อายุกูล / นางประภาศรี สุฉันทบุตร / นายประมนต์ สุธีวงศ์ / นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ / คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ / นายพิศาล มาณวพัฒน์ / นายมณเฑียร บุญตัน / พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช / นายวันชัย สอนศิริ / นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ / นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ / นายสุวัฒน์ จิราพันธ์ / พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว / นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล / นายอำพล จินดาวัฒนะ

โดยรวมแล้ว เมื่อนับดู ส.ว.ที่โหวตสวนรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่างๆ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 62 คน

62 คนนี้เป็นความหวังของประชาชนได้หรือไม่ ?  ส.ว.ทั้งหมดจะมีมีสำนึกในระบอบประชาธิปไตยในช่วงเวลาสุดท้ายของตัวเองหรือไม่ ? พวกเขาจะคว้าโอกาสในการ ‘ล้างมลทิน’ ของตนเองแค่ไหน ? ยังคงเป็นคำถามตัวใหญ่


เมื่อ ‘ส.ว. 250’ ชุดปัจจุบันหมดอายุขัย ไปยังไงต่อ 

รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ว่า ใน 5 ปีแรก นับตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ ให้มี ส.ว. 250 คน มาจากการสรรหาโดยอำนาจตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่ คสช. แต่เมื่อพ้นจากระยะเวลา 5 ปี ให้เปลี่ยนที่มาของ ส.ว. เสียใหม่ เป็นการ ให้แต่ละกลุ่มอาชีพใน 20 กลุ่มอาชีพเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ  โดยลดจำนวนให้เหลือแค่ 200 คน

ขั้นตอนการได้มาของ ส.ว. ชุดหลัง มีดังนี้

ขั้นแรก แบ่งกลุ่มผู้สมัคร ส.ว. ตามความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรืออาชีพ โดยการแบ่งกลุ่มดังกล่าวนั้นต้องคำนึงว่า ประชาชนทุกคนสามารถสมัครเข้าสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับการแบ่งกลุ่ม เช่น จำนวนกลุ่ม คุณสมบัติของบุคคลในแต่ละกลุ่ม หรือหลักเกณฑ์และวิธีการเลือก รวมไปถึงจำนวน ส.ว. จากแต่ละกลุ่ม ให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

ขั้นที่สอง ให้ผู้สมัคร ส.ว. ทุกกลุ่มเลือกกันเอง โดยจะเริ่มคัดเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัด จากนั้นไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ จนได้สมาชิกครบ 200 คน

ผู้ที่จะกำหนดรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว.ทุกระดับ คือ กกต. และระยะเวลานับจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการเลือกตั้ง (ทางอ้อม) ส.ว. ชุดนี้ จะกินเวลาไม่เกิน 3 เดือน 

กลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม  ประกอบด้วย 

  1. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย 
  3. กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลาการทางการศึกษา 
  4. กลุ่มสาธารณสุข อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร 
  5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
  7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐ แรงงาน 
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน 
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น 
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามข้อ 9 
  11. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม 
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม 
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม 
  14. กลุ่มสตรี 
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น 
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง กีฬา 
  17. กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์
  18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
  19. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ 
  20. กลุ่มอื่นๆ