ไม่พบผลการค้นหา
ธุรกิจบริหารจัดการโลจิสติกส์ แม้จะเป็นคำใหม่ที่เข้ามาในแวดวงธุรกิจไทยเพียง 12-15 ปี แต่ถึงวันนี้ มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ กว่า 2.4 หมื่นราย สร้างรายได้มากกว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ช่วยลดต้นทุนธุรกิจ บริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผล

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจโลจิสติกส์ของเครือข่ายสมาชิกสร้างรายได้รวมถึง 1.5 แสนล้านบาท ต่อปี มีสมาชิก 2,511 บริษัท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมลงทุน หรือเป็นบริษัทข้ามชาติ มีมาตรการการบริหารจัดการ มาตรฐานบุคลากร มาตรการการให้บริการ มีเครือข่ายต่างประเทศ และมีโอกาสเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาคือ ธุรกิจขนาดกลาง ที่มีความพร้อมขยายกิจการ และธุรกิจขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อย 80 ของสมาชิกทั้งหมด 

"กลุ่มขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี เป็นกลุ่มที่ขาดเงินทุน ใช้แรงงานเข้มข้น และต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ" นายสุวิทย์ กล่าว

สุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย

ดังนั้น ทางอยู่รอดของธุรกิจเหล่านี้คือการสร้างความสามารถด้วยการสนับสนุนจากรัฐ การได้พันธมิตรธุรกิจที่เข้มแข็ง การเข้าร่วมงานสัมมนาที่เกี่ยวข้อง หรือการรับรู้เทรนด์ธุรกิจ

ขณะที่ เร็วๆ นี้ ระหว่างวันที่ 28-30 ส.ค. 2562 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จัดงาน 'TILOG-LOGISTIX 2019' ณ ไบเทค บางนา เพื่อเป็นพื้นที่พัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์ไทย

พาณิชแถลงงานแฟร์

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การทำให้มีต้นทุนการบริหารจัดการการขนส่ง การทำโลจิสติกส์ที่เหมาะสม ไม่ใช่การทำให้ถูก แต่เป็นการทำให้มีราคาเหมาะสม จะช่วยสร้างความได้เปรียบกับธุรกิจ โดยเฉพาะในยุคที่การค้าพาณิชย์ หรือ อี-คอมเมิร์ซเติบโตอย่างมากในเวลานี้ 

การจัดงาน TILOG-LOGISTIX 2019 จะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ ที่อาจมองไม่เห็นต้นทุนของธุรกิจ แต่มันคือต้นทุนที่สำคัญ ดังนั้น ปีนี้การจัดงานที่จัดต่อเนื่องมา 5 ปี จึงจัดขึ้นด้วยแนวคิด 'Transformation and Collaboration for Tomorrow' หรือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความร่วมมือ โดยเฉพาะการทำให้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และแข่งขันได้

เพราะกระบวนการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยรักษาคุณภาพสินค้า ยืดอายุสินค้า ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้า โดยเฉพาะกับสินค้าเกษตร ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ประกอบกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอี-คอมเมิร์ซ การค้าออนไลน์ต่างๆ ยิ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและเทคโนโลยี

ข้อมูลเมื่อปี 2561 พบว่าธุรกิจการค้าออนไลน์ของไทย มีมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14 สูงสุดในอาเซียน ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่งในประเทศไทยเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะธุรกิจคลังสินค้า ไปรษณีย์ รับส่งสินค้า โดยในปี 2561 มีมูลค่า 3.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 11.3 

ดังนั้น ในมุมของผู้ที่อยู่ในภาคเอกชน นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยสงครามการค้าโลก ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันใน 4 เรื่อง ได้แก่ การมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ, การสร้างห่วงโซ่มูลค่า (valued chain) ด้วยการหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายและเข้ากับเทรนด์ของธุรกิจ, การพัฒนาระบบไอที อี-คอมเมิร์ซ และพัฒนาแรงงาน ให้มีความรู้ มีหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสากล

พาณิชแถลงงานแฟร์
  • คงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
พาณิชแถลงงานแฟร์
  • อารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ

ขณะที่ นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเข้าใจในธุรกิจโลจิสติกส์จะช่วยผู้ประกอบการให้สามารถสร้างรายได้ สร้างโอกาส ลดอุปสรรค ลดต้นทุน ซึ่งรวมถึงการลดการใช้แรงงานคน ลดเงิน ลดเวลาด้วย 

ทั้งนี้ งาน TILOG-LOGISTIX 2019 ผู้จัดงานคาดว่า จะมีผู้ร่วมงานกว่า 11,000 คน มีผู้นำสินค้ามาจัดแสดง 415 แบรนด์ จาก 25 ประเทศ ในพื้นที่จัดงานกว่า 8,000 ตารางเมตร

พาณิชแถลงงานแฟร์

นายสุทธิศักดิ์ วินานันท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท รี๊ด เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ไฮไลต์ของงานในปีนี้จะเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม โซลูชันการบริหารซัพพลายเชน โดยในงานจะมีโซนอินโนเวชัน โชว์เคส โซนการบริหารจัดการโลจิสติกส์สตาร์ทอัพ การพัฒนามาตรฐานธุรกิจสู่ระดับสากล รวมถึงตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ ธุรกิจ Self Storage หรือการจัดเก็บเอกสารภายใน เป็นต้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :