ไม่พบผลการค้นหา
'รสนา โตสิตระกูล' ระบุ 'รธน.' ออกแบบโครงสร้าง 250 ส.ว. ผูกพันธสัญญาพิทักษ์ระบอบสืบทอดอำนาจคสช. ถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจ ประชาชนไม่อาจคาดหวังการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐได้

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ถึงกระบวนการทำงานของ 250 ส.ว. โดยระบุว่า "ส.ว 250 องครักษ์พิทักษ์ระบอบคสช." ความสำคัญของ ส.ว. 250 คน ซึ่งมีจำนวนเป็นครึ่งหนึ่งของ ส.ส. จากการเลือกตั้ง 500 คน แต่ความพิเศษคือพรรค ส.ว. 250 เป็นพรรคของ คสช. มีความเป็นปึกแผ่นในการโหวต เหมือนพรรคการเมืองของฝ่าย ส.ส แต่ไม่เป็นเบี้ยหัวแตกเหมือนบรรดา ส.ส. 500 คน ที่มาจากพรรคการเมืองถึง 27พรรค

ขณะที่ ส.ว. 250 คนจึงเป็นโครงสร้างที่สำคัญทางการเมืองใน รธน.ที่ถูกออกแบบมาเพื่อพิทักษ์ระบอบ คสช. หรือระบอบผูกขาดอำนาจใช่หรือไม่ ขณะเดียวกัน ส.ว. 250คน ถูกสรรหามาโดย คสช.เพื่อทำหน้าที่ 3 ประการ คือ (1)การโหวตให้พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และ(2)ยังเป็นกลไกที่เอาไว้สกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ที่บัญญัติว่าการออกเสียงลงคะแนนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในวาระที่1 ขั้นรับหลักการ และในวาระ ที่3 เห็นชอบการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมี ส.ว เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1ใน3 ของจำนวน ส.ว 250 คน คือ ไม่น้อยกว่า 83คน หาก ส.ว ไม่ยกมือให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมเป็นไปไม่ได้อำนาจหน้าที่ของส.ว

สำหรับประการที่ 3 คือ การเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่าง เช่น การเห็นชอบผู้ที่จะเป็นตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการ ป.ป.ช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นต้น ซึ่งองค์กรเหล่านี้เคยถูกออกแบบมาเพื่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหาร แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ออกแบบให้คสช.เลือก ส.ว และ ส.วเลือกองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โครงสร้างทั้งหมดจึงผูกโยงกับระบอบ คสช. ทำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายอาจจะกลายเป็นเพียงองค์กรตรายางตามรัฐธรรมนูญเพื่อพิทักษ์การใช้อำนาจของรัฐบาลก็เป็นได้ ใช่หรือไม่

โครงสร้างที่ออกแบบให้คสช.เลือก ส.ว. ทั้ง 250 คน เพื่อให้ ส.ว. ทำหน้าที่สำคัญทั้ง 3 ประการข้างต้น จึงเป็นโครงสร้างที่ทำให้กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐของฝ่ายบริหารกลายเป็นหมัน แต่อาจจะเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพในการตรวจสอบฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลใช่หรือไม่ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา114 ที่บัญญัติว่า

"ส.ส.- ส.ว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” เป็นสิ่งที่ไม่เคยเป็นจริงในระบบของ ส.ส ส่วนส.ว. ก็จะเป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจาก ส.ว. 250 คนเป็นบุคคลที่ถูกเลือกโดยคสช. เป็นส.ว. พันธสัญญา Contract Senator หรือเรียกให้ชัดเจน คือ Soldier Contract Senator

โครงสร้างรัฐธรรมนูญในการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นเรื่องที่สำคัญ คณะกรรมการสรรหาสมควรต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้รู้ทางกฎหมาย ได้ให้ความรู้กับตนว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269(1) คสช.ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง แต่คสช.กลับแต่งตั้งกรรมการสรรหาส่วนใหญ่จากทหาร ไม่ได้แต่งตั้งผู้มีความรู้และประสบการณ์หลากหลายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งก็ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง เพราะส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีหรือเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจากการที่กรรมการสรรหาต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง แสดงว่าย่อมไม่อาจได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาเสียเอง ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองการเลือกสมาชิกวุฒิสภาจากกรรมการสรรหาด้วยกันเอง ย่อมเข้าข่ายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ขัดกัน และถือเป็นเรื่องขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้น การเลือกกรรมการสรรหาหลายคนเป็นสมาชิกวุฒิสภาจึงเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ

โดยที่กรรมการสรรหาวุฒิสภาถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ตามพ.ร.บ ป.ป.ช มาตรา172 ที่คณะกรรมการป.ป.ช สามารถไต่สวน ตามมาตรา28 หากพบว่า มีการใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และการไต่สวนของป.ป.ช. หากพบว่ามีมูล ป.ป.ช. จะต้องเสนอต่อศาลฎีกาให้พิจารณา และหากศาลฎีการับคำร้อง บุคคลนั้นต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำพิพากษา ถ้ามีความผิด บุคคลนั้นจะถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือ

ส่วนการไต่สวนและพิจารณาชี้มูลเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งขององค์กรตามรัฐ ธรรมนูญอย่างป.ป.ช. ย่อมเป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างสำคัญ แต่ถ้าส.ว. และองค์กรอิสระทั้งหลายถูกครอบงำโดยคสช.ผ่านโครงสร้างรัฐธรรมนูญ สังคมย่อมไม่อาจคาดหวังการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง ใช่หรือไม่ และรัฐธรรมนูญปราบโกง ก็จะเป็นได้เพียงฉายาอันว่างเปล่า