ไม่พบผลการค้นหา
อนาคตของแบงก์ที่ไม่ใช่แบงก์แบบที่คุ้นเคย เมื่อ 'เทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค' เติบโตขึ้น แล้วภาครัฐ ภาคเอกชน ฟินเทค จะร่วมกันพัฒนาระบบการเงินอย่างไรให้อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้บริการทางเงิน เป็นสิ่งที่โลกกำลังจับตา

ตั้งสติให้ดี! แล้วมาเริ่มทำความเข้าใจอนาคตการเงินของประเทศไทย ที่กำลังเดินหน้าด้วยความเร็วผสมความเร่งเพื่อก้าวให้ทันกระแสเทคโนโลยีที่มีการพัฒนากันแทบนาทีต่อนาที

อนาคตแห่งการควบรวม 'แบงก์-ฟินเทค'

อนาคตของระบบการเงินที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คือการควบรวมระหว่างธนาคารพาณิชย์และผู้พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค เนื่องจากโลกกำลังกดดันให้ระบบการเงินดำเนินธุรกิจอยู่บนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ธนาคารแต่ละแห่งมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการให้บริการที่ครบถ้วน

ดังนั้นทางออกที่สำคัญคือการเข้าไปจับมือกับเหล่าฟินเทคที่ให้บริการผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีข้อมูลมหาศาลเหล่านั้น

ประโยชน์ที่ได้จากการรวมตัวกันในครั้งนี้ คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่เคยถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้เข้ามาอยู่ในระบบการเงินอย่างเป็นทางการ 'สมประวิณ มันประเสริฐ' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการสำรวจของธนาคาร พบว่าในปี 2559 ประชากรไทยราวร้อยละ 33.2 ของประเทศ ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ขณะที่ประชากรราวร้อยละ 6.6 ของประเทศ เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินใดๆ เลย (unbanked) 


เวิร์ดแบงค์แถลงเศรษฐกิจ
  • สมประวิณ มันประเสริฐ

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งการเข้าถึงระบบการเงินตามผลิตภัณฑ์ทางการเงินพบว่า มีประชากรที่ได้รับบริการด้านการกู้ยืม, การฝากเงิน, การโอนเงิน และการชำระเงิน อย่างไม่ทั่วถึง ถึงร้อยละ 19.0, 15.4, 13.0 และ 2.7 ตามลำดับ ขณะที่ประชากรที่เข้าไม่ถึงบริการข้างต้นทั้งหมดอย่างสิ้นเชิงอยู่ที่ร้อยละ 6.6 

สมประวิณ บอกด้วยว่า ระบบธนาคารของประเทศไทยถูกออกแบบมาให้คนที่มีความเสี่ยงต่ำเข้ามาในระบบได้เท่านั้น แต่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่จึงมีความเสี่ยง และประชาชนส่วนใหญ่นี้ถูกบีบไม่ให้เข้ามาสู่ระบบธนาคารที่ถูกต้องด้วย

นอกจากนี้ ระบบข้อมูลแบบเดิมของธนาคารทำให้ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลที่เพียงพอต่อการนำมาวิเคราะห์จัดสรรความเสี่ยงของประชาชนที่อยู่นอกเหนือระบบธนาคารได้ แต่การร่วมมือกับฟินเทคจะทำให้ธนาคารมีข้อมูลเพียงพอต่อการวิเคราะห์และปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น

'พิภาวิน สดประเสริฐ' ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัทแอนท์ไฟแนนซ์เชียล ธุรกิจการเงินในเครืออาลีบาบา กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อมูล การเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งตัวเทคโนโลยียังสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานได้เช่นกัน


เวิร์ดแบงค์แถลงเศรษฐกิจ
"ถ้าผู้สูงอายุใช้ไลน์ได้ แต่โอนเงินออนไลน์ไม่ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้สูงอายุ แต่อยู่ที่แพลตฟอร์ม" พิภาวิน กล่าว

พร้อมเสริมว่า การเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีเป้าหมายผู้ใช้งานกว่า 2,000 ล้านคน บริษัทต้องการจะอำนวยความสะดวกทั้งกับฝ่ายผู้บริโภคและฝ่ายธนาคารพาณิชย์ โดยหากผู้ใช้งานของแพลตฟอร์มต้องการกู้เงิน แพลตฟอร์มก็อยากจะทำหน้าที่เสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้การกู้ยืมนั้นเกิดได้เร็วขึ้น ด้วยการเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์มองหาให้ทั้งหมด 

การปรับตัวของผู้รักษากฎแห่งระบบการเงิน

เมื่อมีการควบรวมและการพัฒนาต่างๆ มากมายในวงการการเงิน การมีผู้ควบคุมกฎจึงเป็นเรื่องสำคัญ 'ธรรมรักษ์ หมื่นจักร' รองผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ธปท. มองเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) ที่กำลังเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมและพร้อมที่จะควบคุมดูแลให้มีการพัฒนา แต่ยังอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยที่ผู้ใช้งานสามารถวางใจ


เวิร์ดแบงค์แถลงเศรษฐกิจ
  • ธรรมรักษ์ หมื่นจักร

อีกทั้ง ธปท. ยังย้ำถึงความปลอดภัยของระบบการเงินสมัยใหม่ที่แม้จะมีการโอนถ่ายหรือซื้อขายข้อมูลกันระหว่างองค์กรว่าจะได้รับการปกป้องอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยปัจจุบันนี้มี พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ขึ้นมารองรับเรียบร้อยแล้ว ส่วนกฎเกณฑ์อื่นๆ จำเป็นต้องให้มีการเปิดใช้ระบบก่อนแล้วจึงพัฒนากฎเกณฑ์ที่เหมาะสมขึ้นมาควบคุมทีหลัง

อนาคตผู้เล่นในแวดวง 'การเงิน'

ภาพของตลาดการเงินการธนาคารที่จะเกิดขึ้น ต้องเกิดบนความเข้าใจถึงบทบาทการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง โดยสถาบันหลักได้แก่

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) : มีฐานะเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงินต่างๆ ที่ทำหน้าที่ออกกฎและควบคุมให้สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์และที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ทั้งหลายให้อยู่ในกฎอย่างเคร่งครัด
  • ธนาคารพาณิชย์ : เป็นสถาบันการเงินที่มีบทบาทสําคัญต่อการระดมทุน และจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ โดยทําหน้าที่เป็นแหล่งระดมเงินออมและแหล่งเงินให้กู้ที่ใหญ่ และสําคัญที่สุดในระบบการเงิน
  • เทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) : แม้โดยความหมายแล้วฟินเทคจะสื่อถึงตัวเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้การใช้งานระบบการเงินต่างๆ เช่น การจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน หรือ การโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ง่ายขึ้น แต่อีกนัยหนึ่งยังหมายถึงบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาเช่นเดียวกัน ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมพฤติกรรมของผู้ใช้บริการทางการเงิน

สิ่งที่ประชาชนจะเห็นต่อจากนี้ คือสถาบันทางการเงินต่างๆ จะมีความเป็นเอกเทศน้อยลง หลังบ้านของแต่ละองค์กรจะเชื่อมต่อกัน ขณะที่หน้าบ้านจะไม่ใช่สาขาธนาคารอีกต่อไป แต่เป็นแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือของเรา ที่สามารถทำได้ทุกอย่างและทำได้บนพื้นฐานของความปลอดภัยที่ภาครัฐเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :