ไม่พบผลการค้นหา
ข่าวคราวการประกาศปิดตัวของสาขาธนาคารทั่วโลกมีให้ได้ยินมาเป็นระลอก เมื่อผู้คนหันไปทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับเสียงนักวิเคราะห์ในแวดวงเทคโนโลยีหลายรายที่บอกว่า “ฟินเทคมาแน่” หรือ “ฟินเทคแย่งงานแบงก์แน่” ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากผู้คนทั่วไปว่า อนาคตระยะยาว ‘ธนาคาร’ จะหายไปจากโลกของเราจริงๆ หรือ?

เทรนด์การลดสาขาธนาคาร การก้าวสู่สังคมไร้เงินสด และฟินเทค เป็นคนละเรื่องเดียวกันอย่างแยกไม่ออก เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในแวดวงการเงิน ได้ดิสรัปต์ (Disrupt) หรือทำให้ผู้เล่นหน้าเก่าในแวดวงการเงินทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง และต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่


ทำไมต้องฟินเทค?

‘ฟินเทค’ คือ เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology) ถ้าพูดง่ายๆ เป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับระบบการเงิน ซึ่งระบบเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิต ถูกเรียกรวมไปในคำว่า ‘ฟินเทค’ ด้วย แต่ยุคปัจจุบัน หากจะอธิบายคำว่า ‘ฟินเทค’ ให้ง่ายสุดๆ คงเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ทุกคนสามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัลได้ทุกที่ ทุกเวลา เช่น การโอนเงินด้วยแอปฯ โมบายเพย์เมนต์ ซึ่งประเทศไทยก็มีหลายแอปฯ ไม่ว่าจะเป็นเคพลัส (KPlus) ของธนาคารกสิกรไทย เอสซีบี อีซี่ (SCB Easy) ของธนาคารไทยพาณิชย์ บังหลวงเอ็มแบงก์กิ้ง (Bualuang mBanking) จากธนาคารกรุงเทพ

ว่ากันว่า ฟินเทคเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะทำให้ผู้คนมีอิสระ และมีสิทธิ์ในการตัดสินใจทางการเงินมากขึ้น ในหลายสังคมฟินเทคประสบความสำเร็จ และเข้ามาเป็นชีวิตประจำวันของประชากรเกินครึ่งเรียบร้อยแล้ว

Fintech.jpg

‘สวีเดน’ คือตัวอย่างประเทศที่ก้าวสู่ผู้นำสังคมไร้เงินสดของโลก และได้รับการฟันธงว่า น่าจะกลายเป็นประเทศไร้เงินสดแห่งแรกของโลกโดยสมบูรณ์ มีการสำรวจระบุว่า ปัจจุบันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของธุรกรรมทางการเงินในสวีเดน เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตร หรือแอปฯ สวิช (Swish) ที่ธนาคารหลักๆ ในประเทศร่วมมือกันด้านเน็ตเวิร์ค ทำให้ผู้ใช้งานสามารถโอนเงินผ่านหมายเลขมือถือได้เลย และไม่ใช่เพียงผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กๆ ก็ได้รับการสนับสนุนให้สามารถถือบัตรเดบิตของตนเอง โดยพ่อแม่โอนเงินจ่ายเข้าไปเป็นค่าขนม ขณะที่ร้านค้าในสวีเดนสามารถปฏิเสธรับชำระเงินสดจากลูกค้าได้อย่างถูกกฎหมาย

ขณะที่ประเทศไม่ใกล้ไม่ไกลบ้านเราอย่าง ‘จีน’ ก็มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการเงินไปค่อนข้างไกล เป็นเรื่องจริงที่มักได้ยินกันว่า ตามหัวเมืองใหญ่เริ่มหาร้านที่รับเงินสดกันได้ยากเย็น

ด้วยการสนับสนุน และปลดล็อกในหลายๆ มาตรการจากรัฐ ตลอดจนจำนวนผู้ใช้งานมหาศาลที่ดันฐานฟินเทคให้ขยับขยาย ปัจจุบัน ฟินเทคของจีนหลายเจ้าไม่เพียงแต่เป็นกระเป๋าเงินออนไลน์เท่านั้น แต่หันมาปล่อยกู้เงินจากข้อมูลผู้บริโภค ตั้งตัวเป็นคู่แข่ง แย่งลูกค้าจากธนาคารที่ปล่อยกู้ลูกค้าจากหลักทรัพย์

แน่นอนว่า หลายๆ ฟินเทคที่หันมาปล่อยกู้เอง ไม่ว่าจะเป็นแอนท์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ฟินเทคของเจ้าพ่อ แจ็ค หม่า หรือวีแบงก์ (WeBank) ธนาคารออนไลน์ไร้สาขา ที่พัฒนามาจากฐานลูกค้าของวีแชต (WeChat) แอปฯ สนทนาที่คนจีนใช้มากสุด ก็เป็นเครื่องยืนยันชั้นดีได้ว่า “คุณไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารตั้งแต่แรก คุณก็ทำหน้าที่แทนธนาคารได้”


โลกดิจิทัลสะเทือนอนาคตธนาคารทั่วโลก

ทาเวท ฮินริคัส (Taavet Hinrikus) ผู้ก่อตั้งทรานส์เฟอร์ไวส์ (TransferWise) บริษัทฟินเทคบริการโอนเงินข้ามประเทศ ได้เขียนบทวิเคราะห์ให้กับเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum:WEF) ผู้จัดการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกทุกปีที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ในปี 2016 ใช้ชื่อหัวข้อที่น่าสนใจสุดๆ ว่า ‘ธนาคารในโลกอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?’

ฮินริคัสอ้างอิงผลสำรวจที่บริษัทเขาจัดทำขึ้นจากการสอบถามคนทั่วโลก และลูกค้าของทรานส์เฟอร์ไวส์ ระบุว่า เทคโนโลยีเป็นตัวแปรที่ทำให้นิสัยของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การสำรวจในปี 2015 พบว่า คนทั่วโลกกว่า 68 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยใช้บริการเทคโนโลยีทางการเงิน แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2020) คนเกือบครึ่งโลก หรือ 48 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะใช้บริการเทคโนโลยีทางการเงินอย่างน้อย 1 ชนิด

ประเด็นสำคัญคือ เมื่อผ่านไป 10 ปี เชื่อได้ว่า ผู้คน 1 ใน 3 หรือ 32 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก จะใช้บริการเทคโนโลยีทางการเงินมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมด และกว่า 20 เปอร์เซ็นต์จะเชื่อถือบริการฟินเทคในทุกรูปแบบ ตั้งแต่เครดิตการ์ด จนถึงการจำนองสินทรัพย์ออนไลน์

สำหรับ 5 ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้คนเปลี่ยนจากการใช้บริการทางการเงินออฟไลน์ทั่วไปสู่ฟินเทค ได้แก่ ความปลอดภัยที่มากกว่าธนาคาร, ค่าบริการถูกกว่า, ความสะดวกสบายมากกว่า, รวดเร็วกว่า และการบริการอันดีกว่าเมื่อเทียบกับธนาคาร

ผู้ก่อตั้งทรานส์เฟอร์ไวส์คิดว่า โมเดลธนาคารแบบดั้งเดิมเป็นระบบไม่ที่แฟร์มากสุด เพราะธนาคารได้ไปเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม หรือค่าดอกเบี้ย เชื่อได้เลยว่า ใน 5-10 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากมีผู้เล่นฟินเทคหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย และให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ที่ตอบรับกับความต้องการลูกค้า ดังนั้นทางเลือกของธนาคารจึงมีอยู่ไม่มาก โดยฮินริคัสคาดการณ์ไว้ใน 3 รูปแบบคือ

1. บางธนาคารจะปรับเปลี่ยนตัวเอง จากการให้บริการสาขา สู่บริการทางการเงินออนไลน์ ‘อย่างจริงจัง’

2. บางธนาคารจะเอาตัวรอดผ่านการเทคโอเวอร์ หรือควบรวมกับบรรดาฟินเทคหน้าใหม่

3. บางธนาคารจะพ่ายแพ้ในสมรภูมิเทคโนโลยี ต้องปิดตัวลงในที่สุด


แล้วไทยไปไกลถึงไหนแล้ว?

ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยที่มุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของไทยให้ก้าวเข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการใช้เงินสด โครงการหนึ่งที่สำคัญคือ ‘พร้อมเพย์’ (PromptPay) หรือบริการรับ และโอนเงินแบบใหม่ ที่สามารถทำผ่านเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ แทนเลขบัญชีธนาคาร ผ่านทั้งทั้งระบบออนไลน์ และเอทีเอ็ม

ขณะที่ความเคลื่อนไหวน่าสนใจในแวดวงธนาคารพาณิชย์ไทยครั้งใหญ่ มีด้วยกัน 2 ระลอก ครั้งแรกน่าจะเป็นการธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินออนไลน์บนแอปฯ ในวันที่ 26 เมษายน ต่อมาธนาคารกสิกรไทยไม่ยอมตกขบวน ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมตามในวันถัดมาทันที ตามมาด้วยอีกหลายธนาคารที่ยอมเฉือนเนื้อตัวเองยกเลิกค่าฟีตามกันมา

แน่นอนว่า ประโยชน์ตกอยู่กับผู้บริโภค แต่เบื้องลึกกว่านั้นคือ ความพยายามในการปรับตัวของธนาคารครั้งใหญ่ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสธนาคารไทยพาณิชย์ เคยยอมรับหลายครั้งว่า ‘งก-ช้า-ห่วย’ คือ นิยามของธนาคารไทย แต่เมื่อลูกค้าของธนาคารไทยเปลี่ยนนิสัยไปโดยสิ้นเชิง พร้อมมีผู้เล่นหน้าใหม่มากมายเสนอสิ่งที่ดีกว่า หากธนาคารไม่ปรับตัว ลูกค้าก็จะวิ่งไปหาช้อยส์ใหม่ที่ดีกว่าเดิม

การลดค่าธรรมเนียมของไทยพาณิชย์ เพื่อดึงดูดให้ใช้ผู้บริโภคเข้ามาใช้แอปฯ มากขึ้น โดยตั้งเป้าขยับฐานยูซเซอร์จาก 6 ล้านคน สู่ 10 ล้านคน ผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ธนาคารรู้จักลูกค้าของตัวเองมากขึ้น ว่ามีรายได้เท่าไหร่ มีพฤติกรรมอย่างไร ธนาคารก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในมือ และเสนอสินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ที่ตรงเป้าหมายกว่าเดิมให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นประกัน หรือกองทุนรวม

ส่วนครั้งที่ 2 เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ปลดล็อกให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งบุคคลที่สามเป็นเอเจนต์แทนตัวเองได้ อย่างล่าสุด มีการแต่งตั้งร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น เป็นแบงกิ้งเอเจนต์ รับฝากถอนเงินสดได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งทาง ‘ธานินทร์ บูรณมานิต’ ซีอีโอซีพี ออลล์ ให้สัมภาษณ์กับนิกเกอิ เอเชียน รีวิว (Nikkei Asian Review) ไว้เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า กำลังรออนุมัติไลเซนส์ เพื่อเป็นตัวแทนธนาคาร โดยเตรียมเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์ในไทย 1-2 แห่ง  


โมเดลอนาคต ‘แบงก์ไทย+ฟินเทค’

เมื่อย้อนกลับไปถึงคำถามข้างต้นที่ว่า ธนาคารจะหายไปหรือไม่ในอนาคต? สำหรับประเทศไทย ซึ่งสถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2560-พฤษภาคม 2561 มีจำนวนธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศลดลง 207 สาขา คือจากจำนวน 6,931 สู่ 6,724 แม้จะเป็นตัวเลขไม่เยอะ แต่คำถามดังกล่าวท้าทาย และน่าคิด

อย่างไรก็ตาม ‘ดร.นริศ สถาผลเดชา’ เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทีเอ็มบี (TMB Analytics) ให้คำตอบกับทีมงานวอยซ์ออนไลน์ว่า ถือเป็นโชคดีของธนาคารไทยที่รัฐมองเห็นความสำคัญ และริเริ่มพร้อมเพย์ขึ้นมา ทำให้แบงก์ปรับตัวได้ไว บริษัทฟินเทคใหม่ๆ จึงเกิดได้ยาก เพราะพร้อมเพย์เป็นบริการที่ต้องผูกกับบัญชีเงินฝากธนาคาร เป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารในประเทศไทย ปรับตัวสู่การให้บริการชำระเงินออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว

นักวิเคราะห์จากทีเอ็มบีมองว่า โอกาสที่ธนาคารในประเทศไทยจะหายไป และแทนที่ด้วยฟินเทคนั้น “หนทางยังอีกยาวไกล” เขาเสริมว่า โมเดลที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับแวดวงการเงินไทยในอนาคตคือ ‘แบงก์จับมือกับฟินเทค’

“เพราะต่างฝ่ายต่างมีจุดแข็ง คือฟินเทคมีเทคโนโลยี และความรวดเร็ว ส่วนแบงก์มีฐานลูกค้า ความน่าเชื่อถือ แต่ช้า อืดอาด ยืดยาด และด้วยต่างฝ่ายต่างขาดสิ่งที่กันและกันมี ดังนั้น ผมคิดว่าอนาคตของธนาคารไทยน่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ชิปโมเดล จับมือกับฟินเทคทำอะไรใหม่ๆ มากกว่า” ดร.นริศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะปัจจุบันเริ่มมีบริษัทฟินเทคที่พัฒนาโดยบริษัทโทรคมนาคม เช่น กลุ่มทรู คอร์เปอเรชั่น เข้ามาพัฒนากระเป๋าเงินดิจิทัลอย่าง ทรู วอลเล็ต (True Wallet) แข่ง ซึ่งดร.นริศ มองว่า น่าจะเป็นรูปแบบบริษัทฟินเทคเดียว ที่จะเข้ามาแย่งตลาดของธนาคารตอนนี้ เพราะกลุ่มบริษัทโทรคมนาคมมีในสิ่งที่ธนาคารมีทั้งหมด คือ ‘ฐานลูกค้า’ และ ‘ความน่าเชื่อถือ’

เมื่อเข้าสู่ยุคที่ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการธนาคาร แต่ต้องการบริการทางการเงิน ทางรอดเดียวของธนาคารคือ การปรับตัวในทุกระดับ เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งพร้อมที่จะดิสรัปต์ทุกตัวกลางที่ไม่มีความจำเป็นต่อผู้บริโภค พร้อมเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคไปในเวลาเดียวกัน

อ้างอิง:

On Being
198Article
0Video
0Blog