ไม่พบผลการค้นหา
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา เล่าถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สภาพที่ รพ.เผชิญและทางออกของปัญหา

“วัคซีนคือหัวใจหลักสำหรับประชาชนในตอนนี้” นพ.สุภัทร กล่าว

สถานการณ์การระบาดในพื้นที่เป็นอย่างไร?

ในจังหวัดสงขลาพบผู้ติดเชื้อประมาน 40-50 รายทุกวัน (สัมภาษณ์ 26 เม.ย.) ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างเยอะ อลหม่านคล้ายๆ กับกรุงเทพคือ ต้องหา รพ.ให้ผู้ป่วยนอน แต่การจัดการง่ายกว่ากรุงเทพฯ และการระบาดกว้างขวางไปไกลบางรายไม่สามารถระบุที่มาได้ หมายความว่าไทม์ไลน์จะใช้ไม่ได้ผลแล้ว

รพ.จะนะ รับผู้ป่วยมาจากหาดใหญ่ซึ่งวันนี้มีมานอนกว่า 19 ราย ห้องสำหรับผู้ป่วยโควิดก็ไม่เพียงพอ เราทำการปิดชั้น 4 ทั้งชั้นและย้ายผู้ป่วยในมานอนชั้นล่างทั้งหมด โดยปรับให้เป็นอาคารสำหรับผู้ป่วยโควิด นอนได้ประมาน 30 เตียง เป็นอาคารรวม หมายความว่าผู้ป่วย Positive ก็นอนรวมกันคล้ายๆ รพ.สนาม แต่มีเครื่องมือแพทย์เยอะ มีการจัดการโดยแพทย์พยาบาล 

สำหรับคนที่มีอาการไม่หนักมากก็ส่งมาที่ รพ.สนาม แต่ใครที่อาการหนักก็ส่งไปที่ รพ.สงขลา หรือสงขลานครินทร์

สถานการณ์ภาคใต้แต่เดิมเราเป็นห่วงในกรณีการเปิดด่านมาเลเซียที่ผลักดันคนไทยกลับต่างประเทศแต่ก็คลี่คลายแล้ว เพราะมาเลเซียมีการฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนที่น่าห่วงคือการหลบหนีเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติ อันนี้ก็ต้องมีการเฝ้าระวังกันค่อนข้างมาก แต่ที่ระบาดส่วนใหญ่ในตอนนี้คืออยู่ในพื้นที่เขตเมืองเพราะชีวิตผู้คนมีการเดินทางกันเยอะ

ความฝันของพี่น้องทางใต้ไม่รู้จะเป็นจริงหรือไม่ อย่างประชาชนที่อยู่บนเกาะ เช่น เกาะลันตา เกาะสมุย หรือภูเก็ต เขาคาดหวังวัคซีน อย่างนักธุรกิจที่เกาะลันตา เขาต้องการวัคซีนสัก 60,000 โดส สำหรับ 30,000 คน ฉีดทุกคนในเกาะรวมถึงแรงงานต่างประเทศด้วย เพื่อให้สามารถเปิดเกาะได้ รับนักท่องเที่ยวที่มีวีซ่า พาสปอร์ตโควิด จากกลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้ว เพื่อให้มาเที่ยวแบบ Long Stay ได้ กระบี่ ภูเก็ต สมุย ก็คิดคล้ายๆ กัน ซึ่งเขาก็ฝันว่าในฤดูหนาวช่วงปีใหม่ คริสมาสต์จะสามารถรับนักเที่ยวได้ น่าจะเป็นความฝันที่ไม่เป็นจริง เศรษฐกิจก็คงยังไม่ฟื้น เรื่องเศรษฐกิจภาคใต้ก็ซบเทราเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเลย การเกษตร ยาง ปาล์ม ก็ราคาตกตํ่า ปัญหาใหญ่น่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ด้วยนอกจากโควิด

ในอำเภอจะนะมีประชากรอยู่ประมาณแสนคน ได้รับวัคซีนมาแล้วสำหรับ 360 คน (26 เม.ย.2564) ฉีดในบุคคลากรทางการแพทย์เป็นหลักส่วนประชาชนรอไปก่อน ทางเรามีความพร้อมที่จะฉีดแต่ไม่มีวัคซีนให้ฉีด ก็รอดูว่ารัฐบาลซึ่งพยายามแก้ปัญหาแล้วจะมีความพร้อมแค่ไหนในเรื่องวัคซีน

สิ่งที่กำลังวิกฤตที่สุดคืออะไรและหาทางออกน่าจะเป็นอย่างไร ?

ผมคิดว่าวิกฤตมากที่สุดน่าจะมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องวัคซีน ตอนนี้ความต้องการวัคซีนของผู้คนก็เยอะมาก แม้ว่าจะมีข่าวเรื่องผลข้างเคียงทำให้เกิดความกังวล แต่ความต้องการยังสูงมาก คนเริ่มลงทะเบียนหมอพร้อมบ้าง ลงทะเบียนขอรับวัคซีนบ้าง แต่คำตอบของรัฐบาลไม่ชัดเจน ไม่รู้จะได้เมื่อไหร่ ได้แน่ไหม...เราตระหนักดีว่าโรคโควิดจะสงบได้ถ้ามีภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งภูมิคุ้มกันก็เกิดขึ้นได้คือหนึ่งป่วย สองได้รับวัคซีน เพราะฉะนั้นผู้คนก็คาดหวังวัคซีนสูง

ส่วนเรื่องที่สองคือ ระบบสาธารณสุข ที่ทำอย่างไรไม่ให้ล่ม เพราะถ้าเราพบผู้ป่วยวันละ 50 คน ไปเรื่อยๆ สัก 2 อาทิตย์แบบนี้ รพ.สนามจะพอไหม ไอซียูเริ่มเต็ม อันนี้ก็ต้องการการจัดการจริงๆ

มีข้อเสนอ คือ เราต้องผ่องถ่ายคนไข้ออกจากรพ. ให้ รพ.รับแต่คนไข้หนัก คนไข้อาการไม่หนักให้นอน รพ.สนาม คนที่ไม่มีการเลยให้อยู่บ้านแบบ Home isolation แต่นอนบ้านแบบมีการดูแลและมีการจัดการโดยหมอหรือเจ้าหน้าที่ที่สามารถโทรคุยกันได้ ถ้ามีอาการก็สามารถรับส่งมาที่รพ.ได้โดยไม่มีข้อแม้ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องเตียงไม่พอก็ต้องมีการจัดการที่ดีที่สุด ซึ่งก็เป็นเรื่องยากพอสมควร

ที่แน่ๆ คือต้องผ่องถ่ายผู้ป่วยออกจาก รพ. เพราะถ้าใน รพ.เตียงแน่นแบบนี้คนป่วยหนักก็จะเข้าไม่ได้ พอคนป่วยหนักเข้าไม่ได้ อัตราการตายก็จะเพิ่มขึ้น เป็นความทุกข์ของระบบทั้งหมด

ปัญหาใหญ่ไม่ใช่แค่เรื่องของการแพทย์ แต่เป็นเรื่องการเข้าใจของผู้คนในประเทศด้วย เช่น ในคอนโดแห่งหนึ่งมีผู้ป่วยโควิด ส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมให้อยู่ จะให้ออกจากคอนโดให้ได้ หรือในหมู่บ้านก็เช่นกัน เมื่อพบผู้ป่วยในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็จะไม่ให้อยู่ที่บ้านก็จะให้มานอน รพ. ทั้งที่เขาไม่มีอาการ

ในอีกทางหนึ่งเราก็ต้องคุยจนผู้ป่วยมีวินัยที่ดี มีญาติช่วยส่งข้าวปลาอาหาร เรื่องการจัดการขยะ ซึ่งเราพร้อมเอารถ รพ.ไปรับทุกอาทิตย์ แต่ความกังวลของผู้คนก็เยอะไม่อยากคนคนนอนที่บ้านอยากให้นอนที่รพ.อย่างเดียว อันนี้ก็เป็นอุปสรรคมากพอสมควรที่ต้องทำความเข้าใจ

โควิดมันติดง่าย แต่มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ไม่งั้นแพทย์พยาบาลก็คงติดกันหมดแล้ว แต่ละวันเราก็ไม่รู้ว่าคนไข้มาด้วยโรคอะไรบ้าง บุคคลากรก็ใส่ถุงมือ ใส่แมสก์ ใส่หมวกคลุมผม ใส่เฟสชิลด์ แล้วก็ตรวจตามปกติ โอกาสติดก็ตํ่ามาก แม้ว่าผู้มาตรวจจะมีเชื้อก็ตาม

ตามทฤษฎีต้องมีการสัมผัสผู้ป่วย 15 นาทีขึ้นไปถึงจะมีโอกาสติดและเสี่ยงสูง แต่ถ้าคนไข้ไม่มีอาการ ไม่ไอ ไม่มีนํ้ามูก โอกาสติดเชื้อก็จะลดลง เช่นเดียวกัน ถ้าคนไข้ไม่มีอาการแล้วกักตัวอยู่ที่บ้าน แล้วไม่มีเด็ก ไม่มีผู้สูงอายุ น่าจะมีความปลอดภัยสูงมาก ที่สำคัญคือมันจะช่วยให้ระบบสาธารณสุขไม่ให้ล่ม ถ้าทุกคนเข้ารพ.กันหมด ระบบมันจะล่ม

ในช่วงวิกฤตสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ที่จำเป็นที่ต้องใช้ทำความเข้าใจกับผู้คน ประชาชนดูออกและไม่ต้องการพวกข้อมูลที่เป็นเชิงบอกเล่าแต่ข้อดี บอกเล่าแบบโฆษณาชวนเชื่อ โดยที่ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน จึงมีความสำคัญมาก เช่น เรื่องวัคซีนสิ้นปีนี้จะฉีดให้ครบทุกคนจะเป็นไปได้อย่างไร วัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์จะผลิตได้ในภายในเดือนมิถุนายนนี้จริงไหม หรือจำนวนผู้ป่วยที่ล้น รพ.จะจัดการอย่างไร จริงๆ คิดว่ารัฐคำตอบมี แต่การทำความเข้าใจกับประชาชนยังมีอุปสรรคมาก หรือความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอาจจะน้อย พูดไปคนก็ไม่เชื่อ

เรื่องการฝ่าฟันในภาวะวิกฤตเป็นเรื่องร่วมกันของทุกคนในสังคม จริงๆ คนพร้อมเข้าไปช่วย แต่มันต้องมีการจัดการของส่วนกลางของผู้มีอำนาจที่จะเอื้อให้ทุกอย่างเข้ามาช่วยกันอย่างเสริมพลังกัน ไม่ใช่คนละทิศคนละทาง ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่อง รพ.ล้นในกรุงเทพฯ หลายคนไม่สามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้ เพราะสภาพบ้านไม่เอื้อให้กับการกักตัว เพราะมีคนแก่ อยู่กันหลายคน มีความแออัด ไม่สามารถกักตัวได้ แต่โรงแรมว่างก็สามารถทำรพ.สนามได้ เจ้าของโรงแรมหลายที่อาจจะพร้อม แต่สิ่งที่ขาดคือกลไกกลางในการจัดกลาง ซึ่งยังรวมศูนย์และค่อนข้างจัดการไม่ได้ในภาวะวิกฤตแบบนี้

วัคซีนคือหัวใจ

ผมคิดว่าวัคซีนคือหัวใจ เราต้องเร่งจัดหาวัคซีน ต้องเร่งระดมฉีดวัคซีน ต้องจัดหาทุกทางแม้ระเบียบราชการจะไม่เอื้อ ก็ต้องหาวิธีให้เราได้วัคซีนมาให้ได้มากที่สุด ถ้าฉีดได้เร็วทุกอย่างก็จะยิ่งดีขึ้นเร็ว อยากให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะฝ่ายการแพทย์ ได้ทำความเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีน วัคซีนก็มีหลายยี่ห้อ แต่ข้อสรุปโดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ชนบทก็ชัดเจนว่า ยี่ห้อไหนก็ฉีดเถอะ เพราะข้อจำกัดมันเยอะ ฉีดเร็วดีกว่าฉีดช้า ฉีดยี่ห้อไหนก็ดีกว่าไม่ฉีดเลย เพราะเราจะจบโควิดได้ด้วยการฉีดวัคซีนเท่านั้น

  • อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สถานการณ์ด่านหน้า 1 : วิกฤตเตียง-กำลังคน การวางแผนกระจายวัคซีน และเข็ม 3 !