ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับหมอขวัญปีใหม่ มองสถานการณ์ปัจจุบัน รพ.ยังไหวไหม และอนาคตต้องเตรียมคิดถึงสิ่งใด

พญ.ขวัญปีใหม่ พะนอจันทร์ เป็น แอดมิจเพจเรียนรู้ สู้กับ Covid ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ 'หน้าด่าน' ที่โรงพยาบาลกำลังเผชิญวิกฤต 3 ด้าน คือ จำนวนเตียง กำลังคน และการตรวจ เพื่อให้เห็นสภาพ 'ตึงมือ' ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งประเมินว่า หากยังไม่สามารถทำให้การแพร่กระจายลดลงได้ ภายในกลางเดือน พ.ค.ระบบน่าจะ 'รับไม่ไหว' แต่หากรอดพ้นวิกฤตระลอกนี้ไปได้ โจทย์ที่ต้องคิดล่วงหน้าคือ การกระจายวัคซีนล็อตใหญ่ของ แอสตราเซเนกาที่สยามไบโอไซน์จะส่งมอบได้เดือนมิถุนายนให้ได้กว้างที่สุด ไวที่สุด ทั้งยังต้องเตรียมเผื่อ booster dose หรือเข็มที่ 3 หากเอาไม่อยู่ ซึ่งหลายประเทศเริ่มเตรียมกันแล้ว

 ปัญหาใหญ่ตอนนี้ของโรงพยาบาล

คิดว่าทุก รพ.เผชิญเหมือนกันหมดไม่ว่าภาครัฐหรือว่าภาคเอกชน คือ เรื่องของ ศักยภาพ มี 3 ส่วน คือ

1.จำนวนเตียง

ส่วนที่เรากังวลใจมากที่สุดคือ จำนวนเตียง ส่วนใหญ่ รพ.โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เริ่มมีปัญหาเตียงแน่น ในระดับที่จะต้องมี waiting list แล้วให้คนไข้รอที่บ้าน เมื่อมีเตียงเราจะเรียกเขากลับมาแอดมิท

  • ห้องความดันต่ำลบ

สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะก่อนหน้าจะมีการระบาดหนักในรอบใหม่ แต่ละ รพ.มีห้องที่เรียกว่า negative pressure (ควบคุมอากาศที่ไหลเวียนในห้องไม่ให้ไปปะปนกับสิ่งแวดล้อมและนำอากาศกรองเอาเชื้อโรคออกก่อน) ไม่ว่าห้องธรรมดาหรือไอซียูไม่มากอยู่แล้ว และห้องเหล่านี้เต็มไปอย่างรวดเร็ว

พอผู้ป่วยหรือห้องจำเพาะสำหรับทางเดินหายใจเต็มเร็ว ทาง รพ.ก็ต้องพยายามปรับเอาห้องเดิมๆ สำหรับผู้ป่วยธรรมดามารองรับผู้ป่วยโควิด แต่การปรับต้อง 1.ใช้เวลา 2.เตรียมพื้นที่ให้เหมาะสม เพื่อออกแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เพราะเราก็ต้องให้บริการผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ ด้วย 3.บุคลากร อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าบุคลากรที่มาดูแลผู้ป่วยโควิดก็มีความเสี่ยง ฉะนั้น เรียกว่าแทบจะเป็นหัวใจเลยในการจัดสรรทรัพยากรมาดูแลผู้ป่วยโควิด

  • รพ.สนาม - hospitel

ในแง่รพ.สนาม รพ.รัฐบาล หรือ hospitel ก็ไม่ใช่สามารถเปิดปุ๊บแล้วทำได้เลย เพราะ 1.ต้องมีมาตรฐานในการดูแล 2.ต้องผ่านมาตรฐานของกรมควบคุมโรค 3.ต้องมีการจัดสรรทรัพยากร คุณพยาบาล คุณหมอ เพื่อให้ไป cover (ครอบคลุม) ส่วนที่เป็นรพ.สนามหรือ hospitel ด้วย

  • อัตราการครองเตียงสูงอยู่แล้วแต่เดิม

ท้ายที่สุดเลย ผู้ป่วยเดิมที่ไม่สบายหรือป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นๆ เราก็ยังต้องดูแล โดยปกติไม่ว่าเป็นรัฐบาลหรือเอกชน อัตราการครองเตียงของเราค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ฉะนั้น จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีกำลังเหลือเฟือรับกับโควิด

2.บุคลากร

  • การดูแลผู้ป่วยโควิด

บุคคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลกับผู้ช่วยพยาบาล เราต้องใช้คนมหาศาลรับมือกับโรคอื่นๆ ที่มีอยู่และยังพ่วงสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นแบบพุ่งทะยาน

  • การติดตาม waiting list

ไม่ว่าจะเป็นหอผู้ป่วยโควิด ไอซียู รพ.สนาม hospitel หรือ waiting list เราต้องโทรติดตามอาการ

  • บุคลกรติดเชื้อเอง

แล้วยังต้องระวังการเฝ้าระบาดในบุคลากรด้วย อย่างที่ทุกคนคงทราบว่าการระบาดมันค่อนข้างออกไปในวงกว้างแล้ว ฉะนั้น บางครั้งถึงแม้เราจะมีหอผู้ป่วยสำหรับคนเป็นโควิดก็จริง แต่ก็มีโอกาสที่เราจะเจอผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่มาด้วยโรคอื่นๆ เช่น มาคลอดลูก เด็กๆ มาตรวจด้วยโรคอื่น หรือว่ามาผ่าตัด แต่ว่ามีเชื้อโควิด กลุ่มนี้มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังบุคลากรการแพทย์ที่มีความระมัดระวังตัวน้อยกว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดโดยตรง ฉะนั้นต้องเฝ้าระวังกลุ่มนี้อีก เพราะเมื่อไรที่โควิดระบาดเข้าไปในรพ.หรือบุคลากรทางการแพทย์ ก็จะมีจำนวนคนที่มาช่วยดูแลผู้ป่วยทั้ง covid และ non covid น้อยลง

3.การตรวจ

ตอนนี้ชัดเจนว่า เราเริ่มมีปัญหาเรื่องศักยภาพแล้วคือ การวินิจฉัยและการตรวจ PCR น้ำยาอาจไม่ใช่ปัญหา เราไม่ได้ขาดแคลนตรงนี้เท่าไร มีการสำรองมากพอในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาที่สำคัญคือ

1) เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ เดิมเรามีจำกัด และเราต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีความคุ้นเคยและชำนาญในการตรวจ PCR PT-PCR พอสมควร

2) จำนวนล้น เนื่องจากจำนวนเคสสะสมมีมาก นอกจากเราจะต้องตรวจวินิจฉัยเคสใหม่ๆ ที่เข้ามาแต่ละวันแล้ว เคสเก่าๆ ที่เรารักษาอยู่ก็จำเป็นต้องใช้การตรวจตรงนี้เหมือนกัน สุดท้าย เวลาที่เราตรวจ PCR เนื่องจากมันเป็นโรคติดเชื้อ เราจำเป็นต้องมีหน่วย swab  ซึ่งรพ.แต่ละรพ. มีกำลัง มีศักยภาพตรงนี้ไม่เท่ากัน ถ้าที่ไหนมีไม่กี่หน่วย ศักยภาพที่จะรับตรวจก็จะน้อยลง การตรวจวินิจฉัย การตรวจ PCR ก็ทำได้ช้าลง turn over rate ก็ช้าลง

3) นอกจากนี้เมื่อตรวจเจอว่าผลเป็นบวก เราจำเป็นต้องดูแลคนไข้ต่อ ไม่ว่าจะเป็นการหาเตียง รพ.สนาม hospitel หรือถ้ายังไม่ได้เตียงก็ต้องมีการติดตามการรักษาที่บ้าน ทำให้ใช้ทรัยพากรไม่ว่าบุคคล เวลา มหาศาล

ขวัญปีใหม่ พะนอจันทร์


ความสับสนเมื่อหาเตียงไม่ได้

อย่างที่เรียนไปว่าเรามีปัญหาด้านศักยภาพในการตรวจค่อนข้างมาก ตรวจได้ช้า และได้ปริมาณน้อย ทำให้หลายๆ ท่านที่มีอาการ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อแล้วอยากจะตรวจ ไม่สามารถตรวจได้ แล้วมีปัญหาหลายๆ อย่างตามมา

อย่างแรก เขาอาจจะมารพ.ด้วยสาเหตุอื่นๆ แล้วก็ตรวจพบทีหลัง แต่เจอในแผนกที่ไม่ได้ต้อนรับโควิดโดยตรง การป้องกันการติดเชื้อก็น้อยกว่า มีโอกาสแพร่เชื้อตรงนั้น

อย่างที่สอง พอหลายท่านไม่สามารถหาที่ตรวจได้ ก็จะสับสนในการปฏิบัติตัว ไม่รู้ว่าติดหรือยัง หรือยังไม่ติด การปฏิบัติตัวก็ค่อนข้างสับสนพอควร แนะนำว่า ถ้าสมมติว่ายังไม่สามารถหาที่ตรวจได้ให้ถือไว้ก่อนว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงหรือมีโอกาสติดเชื้อสูง อาจต้องกักตัวรอไปก่อน ตอนนี้มีปัญหามากจริงๆ

ส่วนตัวพยายามจะประสานงานอย่างกลุ่มในเฟสบุ๊ค ถ้าสำนักงานประกันสังคม หรือกระทรวงแรงงาน หลายๆ ที่ หรือกทม.เอง ถ้ามีที่ไหนมาเปิดตรวจเพิ่มเราพยายามประสานงานตรงนี้ ให้คนเข้าถึงมากที่สุด

ตอนนี้หลายที่เปิดให้จองคิวล่วงหน้า แต่ระหว่างที่รอตรวจให้ปฏิบัติตัวเหมือนเป็นผู้ที่ติดไปเลย พยายามกักตัว สัมผัสกับผู้อื่นให้น้อยที่สุด เป็นปัญหาทุกคน รพ.หรือทุกที่อยากให้ตรวจได้มากกว่านี้ตอนนี้กระทรวงพยายามเต็มที่อยู่

ระบบสาธารณสุขกำลังจะรับไม่ไหว

ปัญหาซีเรียสที่สุดในตอนนี้คือ ศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทย ในวงการแพทย์ทุกคนคงคิดเหมือนกันว่า เตียงแน่นมากแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ที่เริ่มมีการระบาด เราพยายามขยายหวอดผู้ป่วย แล้วก็จำนวนเตียงไอซียูที่จะรับผู้ป่วยตรงนี้มากที่สุด แต่ตอนนี้ทุกที่แน่นมาก

รพ.เล็กๆ ที่มีผู้ป่วยหนักแล้วไม่มีศักยภาพในการดูแลเช่นไม่มีหมอโรคปอด ไม่มีหมอโรคติดเชื้อ ตอนนี้มีปัญหามากในการส่งผู้ป่วยต่อ รพ.ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนแพทย์ หรือของระบบบัตรทอง 30 บาทที่ตอนนี้รพ.ราชวิถีรับเป็นเจ้าภาพในการดูแลเคส หรือรพ.สังกัดกทม.ที่ดูแลเคสใน กทม.ทั้งหมด ตอนนี้การส่งต่อผู้ป่วยหนักไปยังรพ.ที่ใหญ่กว่า หรือหาเตียงให้ผู้ป่วยเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของระบบสาธารณสุขไทย ทุกคนรู้สึกได้ว่าตอนนี้มันตึงมือมากแล้ว ถ้าเกิดสมมติว่าการติดเชื้อขยายวงกว้างไปอีก คิดว่าเราไม่สามารถรับมือการติดเชื้อนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ป่วยอาจไม่ได้รับการดูแลมาตรฐานสูงเท่าเดิม

ประเมิน 1-2 เดือนข้างหน้า

ปรากฏการณ์นี้ อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่า การระบาดระลอกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะว่าจริงๆ แล้วเป็นปัญหาทั่วโลก เนื่องจากสายพันธุ์อังกฤษมันระบาดง่ายขึ้น เลยทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่เพิ่มทั่วโลกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เริ่มต้นที่อังกฤษเพราะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ แล้วจากนั้นมาก็เป็นยุโรปตามมา ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย กัมพูชา หรือว่าญี่ปุ่น ก็ระบาดประมาณมกราคม กุมภาพันธ์

ฉะนั้น ทั่วโลกประสบปัญหานี้เหมือนกัน แล้วเราก็มีตัวอย่างหลายๆ ประเทศที่เห็นว่า เมื่อเจอผลกระทบของสายพันธุ์อังกฤษไปแล้วเป็นยังไงบ้าง เรามีข้อมูลจากทางอ.ยง ภู่วรวรรณ แล้วว่าที่ตรวจสายพันธุ์ไวรัสไปนั้นพบว่า 70% เป็นสายพันธุ์อังกฤษเหมือนกัน ฉะนั้น การระบาดของเราครั้งนี้ก็อาจศึกษาจากประเทศที่ระบาดนำเรามาก่อน 3-4 เดือน หรือ 2-3 เดือน ได้

เราจะพบว่า 1. ตัวสายพันธุ์อังกฤษระบาดเร็วกว่าเดิมมาก 2.อัตราตายสูงขึ้น ด้วยความที่ระบาดเร็วก็ทำให้ศักยภาพของระบบสาธารณสุขถึงขีดสุดได้เร็ว พอคนได้รับการดูแลที่ไม่ได้มีมาตรฐานสูงเหมือนเดิมก็ทำให้อัตราตายสูงขึ้น

ฉะนั้น มองภายใน 1-2 เดือนนี้ หากเราไม่ได้มีมาตรการอะไรที่เข้มข้น การระบาดอาจเร่งอัตราเร็วขึ้น ปริมาณเคสอาจเพิ่มขึ้นจากหลักพันเป็นหลักหมื่นในระยะเวลาไม่นาน หลังจากนั้นพอเคสระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ ศักยภาพสาธารณสุขที่ตอนนี้ตึงมือมากเต็มที่แล้วก็อาจทรุดลงอย่างรวดเร็วที่เราเรียกว่า collapse

ผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีอาการ เราไม่ค่อยเป็นห่วง แต่ห่วงกลุ่มที่มีอาการหรืออาการทรุดลงภายหลัง กลุ่มนี้มีความจำเป็นที่จะต้องนอน รพ. จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่รวดเร็วเหมาะสม แต่พวกเขาจะไม่ได้รับการรักษาตรงนี้เพราะเข้าไม่ถึงเตียง รอเตียงอยู่ที่บ้าน คราวนี้พอเราวินิจฉัยได้ช้า การรักษาก็ช้า ผู้ป่วยได้รับยาไม่ว่าจะเป็นยาต้านไวรัส ยาลดความอักเสบ การให้ออกซิเจนอะไรต่างๆ จะทำได้ช้า เมื่อทำได้ช้าอาการก็หนักขึ้น พอเรามีกลุ่มผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นก็ไม่มีไอซียูอีก พอไม่มีไอซียู เครื่องช่วยหายใจไม่พออัตราการตายก็จะเพิ่ม

ตอนระบาดระลอกแรกกับระลอกที่สอง เราคุมอัตราการตายได้ดีมาก อัตราการตายของไทยอยู่ที่ 0.3% ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก ประเทศอื่นๆ ในช่วงที่พีคอัตราการตายเพิ่มถึง 5% ก็มี ซึ่งสูงเพิ่มขึ้นเกินสิบเท่า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการตายของเราจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่ลดลงเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ภายใน 1-2 เดือนนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าเราควบคุมการระบาดได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าเป็นอัตรานี้อยู่ อาจจะภายในต้นหรือกลางเดือนพฤษภาคม คิดว่าเราอาจจะรับมือไม่ไหวแล้ว

โจทย์ยากทั่วโลก: โรค vs. ปากท้อง

คิดว่าโจทย์ครั้งนี้เป็นโจทย์ยาก ไม่ใช่แค่กับเมืองไทย ทั่วโลกเจอปัญหาเดียวกับเรา มันเป็นปัญหาที่มีหลายมุมมอง มีมุมมองสุขภาพที่เราจะพยายามรักษาชีวิตคนไว้ให้มากที่สุด และแน่นอน มีมุมมองด้านเศรษฐกิจ

อีกปัญหาหนึ่งที่หลายๆ ประเทศเจอคือ Quarantine Fatigue คือ ทุกคนกักตัวหรือ social distancing มาจนจะไม่ไหวอยู่แล้ว เศรษฐกิจก็จะไม่ไหว แล้วยังมาเจอระลอกนี้เข้าไปอีก เลยทำให้หลายๆ ประเทศมีปัญหามากในการวางนโยบายในการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ของสายพันธุ์อังกฤษ เชื่อว่าจริงๆ แล้ว ทุกคนในกระทรวงสาธารณสุขตอนนี้ไม่ว่าระดับนโยบายหรือคนหน้างาน ทุกคนน่าจะทำงานหนักมากและพยายามใช้ความคิดหนักมากในการหาทางออกให้กับประเทศไทย

เมื่อเกิดระบาดหนัก ส่วนใหญ่แล้วเราต้องการมาตรการอะไรก็ตามที่จะลดการเคลื่อนย้ายของคนในจำนวนมากๆ และมาตรการที่ป้องกันการรวมตัว เพราะการรวมตัวเป็นจุดที่เชื้อโรคจะแพร่ได้ง่าย

หากดูหลายประเทศในยุโรปจะพบว่า มีมาตรการที่ไม่เข้มข้น โดยมากจะไม่ได้ผล เช่น ในฝรั่งเศส เยอรมัน ยุโรปตะวันออกหลายๆ ประเทศ ไม่ใช้ยาแรง ใช้ยาเบาแล้วไม่ได้ผล แล้วมีหลายๆ ที่ที่สุดท้ายก็นำไปสู่ forced lockdown ในตอนที่ความเสียหายมากไปแล้ว แต่ถ้าเกิดว่าเราดูโมเดลของประเทศที่ได้ผลจะเป็นโมเดลของอังกฤษ จริงๆ แล้วเขาล็อคดาวน์หลายรอบ แต่ที่เขาได้ผลเขาใช้ 3 มาตรการด้วยกัน

โมเดลที่ได้ผลของอังกฤษ

1.full lock down และระยะเวลาพอสมควร

2.ระหว่างล็อคดาวน์ก็ระดมฉีดวัคซีนไปด้วย ให้อัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

3.ใช้ home testing / mass testing จะได้พบผู้ติดเชื้อโควิดให้เร็วที่สุดแล้วกักตัวไม่ให้คนเหล่านี้แพร่เชื้อต่อไป

เขาใช้ 3 วิธีนี้ร่วมกันแล้วจำนวนเคสก็ลดลงได้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปจริงๆ ก็พยายามใช้ 3 วิธีนี้เหมือนกัน แต่ล็อคดาวน์ไม่เข้มข้นเท่า แล้วก็ฉีดวัคซีนช้ากว่า บางที่ไม่มี mass testing ก็ควบคุมได้ไม่ดีเท่าอังกฤษ นี่ก็เป็นโมเดลหนึ่งที่เราอาจศึกษาว่าจะปรับใช้กับประเทศเราได้อย่างไรบ้าง

อีกโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจคือ กัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านและเผลอๆ อาจเป็นสายพันธุ์เดียวกัน ประเทศกัมพูชาตอนที่เริ่มระบาดเขาล็อคดาวน์อย่างเร็ว ปรากฏว่าล็อคดาวน์ไปแค่ 10 วัน จำนวนเคสลดแล้ว ถ้าเราแอคชั่นเร็ว ใช้วิธีที่เจ็บแต่ว่าก็อาจทำให้จบเร็ว แต่ของกัมพูชาก็มีปัญหาเพราะเขาเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปราะบางทางเศรษฐกิจ ล็อคดาวน์ร่วมกับฉีดวัคซีนได้ประมาณ 10 วัน พอคลายล็อคดาวน์โรคก็ระบาดอย่างรวดเร็วทันที

ตัวอย่างของญี่ปุ่น ใช้วิธีค่อยๆ เพิ่มมมาตรการไป อาจเห็นว่าควบคุมไม่อยู่เหมือนกัน

แล้วประเทศเรา ลักษณะแบบนี้ เศรษฐกิจประมาณนี้เราอาจเอาโมเดลของหลายๆ ประเทศมาศึกษาแล้วมาประยุกต์ใช้ในประเทศเราได้

เตรียมล่วงหน้า กระจายวัคซีนให้เร็ว-วางแผนเข็ม 3

นอกจากนี้ หากดูโมเดลของประเทศเหล่านี้จะเห็นว่า วัคซีน เป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้กับการระบาดรอบนี้ได้ เรามีแผนอยู่แล้วว่ายังไงบ้าง แต่วัคซีนตอนนี้ที่เราจะได้มาก็คือ sinovac อีก 500,000 โดส Astrazenaca ในเดือนมิถุนายน เดือนพฤษภาคมจะเริ่มให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนแล้ว

ระหว่าง 1 เดือนที่เรารอ Astra 5 ล้านโดส ตอนนี้เราอาจต้องจริงจังในการลงทะเบียนและวางแผนฉีดวัคซีนเพื่อให้การฉีดวัคซีน เป็นไปได้อย่างเร็วแล้วสมูธที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สุดท้ายถ้าเรารอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เราอาจต้องมองไปข้างหน้า proactive กว่านี้ เช่น

1. เราต้องมีมาตรการในการมอนิเตอร์สายพันธุ์ใหม่ๆ เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่ามีสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงหลายสายพันธุ์ เช่น แอฟริกา บราซิล หรือว่าสายพันธุ์่ล่าสุด คือ อินเดีย อาจต้องติดตามสายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิดมากกว่านี้ เพื่อที่เราจะได้วางแผนแต่เนิ่นๆ

2.เพิ่งมีข่าวว่าหลายประเทศเริ่มจอง booster vaccine แล้ว หลายที่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งเข็มสองเหมือนกับเรา แต่เขาสั่งจองวัคซีนของปีหน้า ปี 2023 บางประเทศถึง 2024 เพราะเรายังไม่รู้ว่าภูมิของวัคซีนจะอยู่ไปกับเรานานแค่ไหน และมีโอกาสสูงที่เราต้องการ booster dose หลายประเทศเริ่มขยับตัว จองกับไฟเซอร์ โมเดอร์น่าแล้ว

ฉะนั้น เราอาจต้องมีแผนตรงนี้ไว้ล่วงหน้าเหมือนกัน โดยเฉพาะประเทศเรา วัคซีนตัวหลักเราใช้ Astra ซึ่งเป็น viral vector ปัญหาของ viral vector vaccine ที่ทุกคนกังวลคือ เราเอาชิ้นส่วนของตัวโควิดรวมกับตัวไวรัสชื่อ adenovirus หลังจากที่ใช้วัคซีนแบบนี้ ร่างกายเราก็จะพัฒนาภูมิคุ้มกันกับตัวนี้ ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงเหมือนกันว่า ถ้าเรามีความจำเป็นต้องฉีดซ้ำ หรือมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ เราจะเอาวัคซีนที่เป็นวิธีเดิมๆ adenovirus ไม่ได้แล้ว เพราะร่างกายเรามีภูมิกับ adenovirus แล้ว เป็นไปได้ที่ร่างกายจะสร้างภูมิขึ้นมาทำลาย adenovirus ไปก่อนที่จะเอาตัวชิ้นส่วนของโควิดที่เราต้องการไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ฉะนั้น เราก็อาจต้องมองไปข้างหน้า ปีหน้า สองปีหน้า สามปีหน้าจะเป็นยังไง เพื่อป้องกันวิกฤต

สุดท้ายคือ เราต้องมองว่า ถ้าเราคุมครั้งนี้ได้ หรือวิกฤตคราวนี้ผ่อนคลายลง เราอาจต้องให้การตรวจเข้าถึงมากกว่านี้หรือเปล่า และแอคทีฟกว่านี้ อาจต้องมอง home testing / mass testing จะประยุกต์ใช้ยังไงเพื่อทำให้เราได้เจอเคสใหม่ๆ เร็วขึ้น กักตัวเร็วขึ้น และลดการระบาดเร็วขึ้น ควบคุมตั้งแต่ต้นทาง

ตอนนี้อยากเรียนทุกคนว่า ระบบสาธารณสุขค่อนข้างตึงมือมากแล้ว ทุกคนช่วยกันได้หมดระดับประชาชน ไม่ว่าการใส่แมสก์ การล้างมือ การหลีกเลี่ยงที่ชุมชน ถ้าเราไม่ติด รอดจากการติดเชื้อครั้งนี้ไปได้ เราก็ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่นต่อได้ด้วย อยากให้ทุกคนรักษาสุขภาพ ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ สถานการณ์ทำให้ทุกคนเครียด การที่เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค การตรวจ และสถานการณ์ อย่างน้อยก็ทำให้เราสามารถผ่านวิกฤตตรงนี้ไปได้ด้วยสติและสุขภาพจิตที่ไม่เสียไป