ไม่พบผลการค้นหา
อีลอน มัสก์ เศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกบรรลุข้อตกลงในการซื้อทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง ที่มีผู้อยู่กว่า 200 ล้านบัญชี ในราคา 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) สำเร็จแล้ว พร้อมยืนยันที่จะเดินหน้าปรับปรุงแพลตฟอร์มให้เกิด “เสรีภาพทางคำพูด” โดยสมบูรณ์

มัสก์ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ จะสามารถบรรลุข้อตกลงซื้อทวิตเตอร์ในราคาหลักล้านล้านบาท หลังจากที่มัสก์ได้เคยวิพากษ์วิจารณ์ทวิตเตอร์อย่างหนักว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีประสิทธิภาพต่อหลักการ “เสรีภาพทางคำพูด” 

ข้อตกลงที่บรรลุแล้วเมื่อวานนี้ (25 เม.ย.) เกิดขึ้นหลังจากที่มัสก์ได้เข้ามาซื้อหุ้นของทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา จนมัสก์กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดียวของทวิตเตอร์คนใหม่ ก่อนที่มัสก์จะประกาศซื้อกิจการทวิตเตอร์ในวันที่ 14 เม.ย. ด้วยการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของทวิตเตอร์ในราคาหุ้นละ 54.20 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,845.81 บาท) 

ในช่วงแรกนั้น บอร์ดบริหารของทวิตเตอร์มีท่าทีต่อต้านข้อเสนอดังกล่าวของมัสก์ว่ามัสก์อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงทวิตเตอร์ ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากการทำรัฐประหารทางธุรกิจ อย่างไรก็ดั มัสก์ได้ยืนยันว่าตนจะจ่ายเงินสำหรับข้อตกลงนี้ ซึ่งรวมเป็นเงินของตนกว่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 7.15 แสนล้านบาท) กอกปกับเงินทุนกู้จากมอร์แกน สแตนลีย์ และสถาบันทางการเงินอื่นๆ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นทิวเตอร์รายอื่นๆ รู้สึกอุ่นใจ

“เสรีภาพทางคำพูดเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ใช้งานได้จริง และทวิตเตอร์เป็นจัตุรัสกลางเมืองดิจิทัลที่มีการโต้เถียงกันในเรื่องสำคัญต่ออนาคตของมวลมนุษยชาติ” มัสก์ระบุบนทวิตเตอร์ส่วนตัว “ทวิตเตอร์มีศักยภาพมหาศาล ผมตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับบริษัทและผู้ใช้เพื่อปลดล็อกมัน”

มัสก์ระบุว่า ตนไม่มั่นใจในการทำงานของคณะผู้บริหารทวิตเตอร์ในปัจจุบัน หนทางเดียวที่จะเปลี่ยนบริษัทมหาชนสู่บริษัทเอกชนของทวิตเตอร์จึงเป็นการเข้าซื้อกิจการทั้งหมด อย่างไรก็ดี มติการโอนทวิตเตอร์ได้รับการอนุมัติโดยไม่เปิดเผยชื่อจากบอร์ดทวิตเตอร์ โดยคาดว่าดีลนี้จะถูกปิดลงอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2565 นี้

“ทวิตเตอร์มีวัตถุประสงค์และความเกี่ยวข้องที่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก” ปารัก อักราวัล ผู้บริหารสูงสุดทวิตเตอร์ออกมาระบุบนทวิตเตอร์เพื่อยืนยันดีลในครั้งนี้ “(ผม) ภูมิใจอย่างมากต่อทีมของเรา และแรงบันดาลใจจากงานที่สำคัญอย่างยิ่ง” ทั้งนี้ อักราวัลยอมรับกับพนักงานของทวิตเตอร์ว่า อนาคตของบริษัทยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร “เมื่อดีลนี้ปิดลง เราไม่รู้ว่าหนทางของแพลตฟอร์มจะเป็นไปในทางไหน”

ทวิตเตอร์เปิดตัวขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 ก่อนที่จะมีมูลค่าทางการตลาดในปัจจุบันกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ แจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อ พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะได้อักราวัลเข้ามาคุมบังเหียนนกฟ้า ตามมาด้วยมัสก์ที่เข้ามาซื้อกิจการซึ่งถูกหลายฝ่ายเรียกว่าเป็นเข้าซื้อแบบ “ไม่ประสงค์ดี”

ยังคงต้องรอดูกันต่อไปว่า มัสก์จะเปลี่ยนแปลงทวิตเตอร์ไปในรูปแบบใดบ้าง อย่างไรก็ดี มัสก์ได้เสนอว่าตนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านเนื้อหา การกำจัดแพลตฟอร์มของบัญชีปลอมและบัญชีอัตโนมัติ และการเปลี่ยนจากรูปแบบรายได้จากการโฆษณา

นอกจากนี้ มัสก์ยังได้ยืนยันว่าตนจะ “ทำให้ทวิตเตอรดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้วยฟีเจอร์ใหม่ ทำให้อัลกอริทึมเป็นโอเพนซอร์สเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ควบคุมบอทสแปม และยืนยันอัตลักษณ์ของผู้ใช้ทุกคน”

มัสก์ซึ่งมีผู้ติดตามบนทวิตเตอร์อยู่ 83 ล้านคน ทวีตข้อความเมื่อปี 2560 ว่า ตนสนใจที่จะซื้อทวิตเตอร์ และส่งสัญญาณว่าตนต้องการจะเปลี่ยนให้ทวิตเตอร์กลายไปเป็นบริษัทเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้ และรับใช้สิ่งที่เขาเรียกว่า "ความจำเป็นทางสังคม" ต่อเสรีภาพทางคำพูดได้ดียิ่งขึ้น “ผมหวังว่าแม้แต่คนที่วิจารณ์ผมอย่างเลวร้ายที่สุดจะยังคงอยู่บนทวิตเตอร์ เพราะนั่นคือความหมายของสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพทางคำพูด” มัสก์ทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อวันนี้

อย่างไรก็ดี มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ามักส์ที่ออกมาพูดว่าการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์เป็นไปเพื่อการส่งเสริม “เสรีภาพทางคำพูด” แต่ก่อนหน้านี้ มัสก์เองกลับบล็อกผู้ใช้จำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์ตนและบริษัทของตนบนทวิตเตอร์กว่าหลายราย มัสก์ยังได้กลั่นแกล้งและบูลลี่ผู้สื่อข่าวหลายรายที่เขียนบทความวิจารณ์เขาและบริษัทด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลจากทางภาคการเมืองของสหรัฐฯ โดย เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวได้ออกมาระบุว่า “ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารทวิตเตอร์ ท่านประธานาธิบดีได้มีความกังวลต่ออำนาจของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่มาโดยตลอด” เช่นเดียวกันกับสมาชิกวุฒิสภาหสหรัฐฯ เอลิซาเบธ วอร์เรน ที่ออกมาระบุว่าดีลนี้ “เป็นภยันตรายต่อประชาธิปไตยของเรา” ก่อนที่จะระบุว่า “มหาเศรษฐีอย่าง อีลอน มัสก์ เล่นบทตามกฎกติกาที่แตกต่างจากคนอื่น สะสมอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง”

ทั้งนี้ มัสก์อาจไม่ถูกการตรวจสอบพิจารณาจากทางคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสหรัฐฯ เนื่องจากมัสก์ที่เข้าซื้อทวิตเตอร์ถือครองธุรกิจอื่นๆ ทั้งด้านรถยนตร์ไฟฟ้า และธุรกิจด้านอวกาศ ตลอดจนบริษัทด้านการขุดเจาะ ที่ไม่ใช่บริษัทคู่แข่งด้านโซเชียลมีเดียของทวิตเตอร์ ถึงแม้หลายฝ่ายจะมองว่าการเข้ามาถือครองทวิตเตอร์ของมักส์ในครั้งนี้ จะส่งผลเสียมากกว่าผลดีก็ตาม


ที่มา:

https://www.wsj.com/livecoverage/twitter-elon-musk-latest-news

https://www.theguardian.com/technology/2022/apr/25/twitter-elon-musk-buy-takeover-deal-tesla?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR2UEoB6_hQX626JFR3KzgiLoAAdB6Akqz1LYTBHIqHQieygVyP8nbCFZtM