ไม่พบผลการค้นหา
มาเลเซียเรียกร้องให้ชาติอาเซียนมีมาตรการที่ “แข็งขัน” ขึ้นต่อนายพลของเมียนมา พร้อมระบุว่า “อุปสรรค” ที่เหล่านายพลเมียนมาสร้างขึ้น ได้ขัดขวางการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูสันติภาพจากอาเซียน ที่มีมานานกว่า 2 ปี นับตั้งแต่กองทัพเมียนยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนด้วยการทำรัฐประหาร

ท่าทีที่รุนแรงจากมาเลเซียต่อเมียนมาในครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ มีขึ้นในขณะที่ชาติสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เริ่มการประชุมสุดยอดประจำปีกันที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยการประชุมมีหัวข้อพูดคุยต่างๆ ได้แก่ ความตึงเครียดของสถานการณ์ในเมียนมา เช่นเดียวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่เป็นข้อพิพาทซึ่งสร้างความตึงเครียดแก่กลุ่มชาติพันธมิตร 10 ประเทศ

“มาเลเซียและประเทศสมาชิกอื่นๆ ให้ความเห็นว่า พวกเขาไม่สามารถปล่อยให้สิ่งนี้ดำเนินต่อไปได้ หากไม่มีมาตรการที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ที่บังคับใช้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร” ซัมบรี อับดุล กาดีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนจัดการประชุมกันในเมืองหลวงของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี แซมบรีไม่ได้ระบุชื่อสมาชิกอาเซียนชาติอื่นๆ ที่มีความคิดเห็นตรงกันกับมาเลเซีย

ก่อนหน้านี้ พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. 2564 เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเมียนมา ซึ่งนำโดย อองซานซูจี ได้แสดงท่าทีเห็นด้วยกับฉันทามติ 5 ประการของอาเซียน เพื่อยุติวิกฤติในเมียนมาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งพิเศษช่วง 2 เดือนหลังจากการทำรัฐประหาร 

ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อย ในการดำเนินการตามแผนฉันทามติ 5 ประการของอาเซียน ในทางตรงกันข้ามความรุนแรงในเมียนมากลับมีเพิ่มมากขึ้น โดยกองทัพเมียนมาเดินหน้าการต่อสู้กับกลุ่มพลเรือนติดอาวุธที่ต่อต้านการยึดอำนาจ นอกจากนี้ กองทัพเมียนมายังถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม จากการโจมตีพลเรือนที่ไม่มีอาวุธ โดยมีรายงานว่า เมียนมามีผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่การรัฐประหารไปแล้วอย่างน้อย 4,035 คน

ทั้งนี้ แซมบรีกล่าวว่าการขาดความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประการ เป็นเพราะ “อุปสรรคที่เกิดจากรัฐบาลเผด็จการทหาร”

เมียนมาภายใต้ระบอบการปกครองของทหารก่อนหน้านี้ เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อปี 2540 แต่การถอดถอนรัฐบาลของอองซานซูจีด้วยการรัฐประหารอีกรอบ หลังจากการปฏิรูปโดยผู้นำพลเรือนมาระยะหนึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความท้าทายที่สำคัญสำหรับอาเซียน โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกระหว่างประเทศเผด็จการและประชาธิปไตยในกลุ่มสมาชิกอาเซียน

ผู้นำอาเซียนจะเข้าร่วมการประชุมในสัปดาห์นี้ โดยจะมีผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศหุ้นส่วน รวมถึงจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมด้วย อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีนจะไม่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยสหรัฐฯ ได้ส่ง กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำหน้าที่แทน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะที่ หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน จะเข้าร่วมการประชุมอาเซียนแทน สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

ทั้งนี้ จีนมีบทบาทสำคัญในข้อพิพาทเหนือทะเลจีนใต้ และถูกกล่าวหาว่าใช้การซ้อมรบเชิงรุกที่อันตราย เพื่อการอ้างสิทธิ์ของตนเหนือน่านน้ำ นอกจากนี้ แผนที่ใหม่ของภูมิภาคทะเลจีนใต้ที่เผยแพร่ออกมาโดยทางการจีน ได้สร้างความปั่นป่วนในชาติอาเซียน ด้วยการแสดงเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดว่าเป็นดินแดนของจีน แม้ว่าสมาชิกอาเซียนอย่าง บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ก็อ้างสิทธิ์บางส่วนเหนือทะเลจีนใต้เช่นกัน


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/9/5/malaysia-calls-for-strong-measures-on-myanmar-as-asean-meets?fbclid=IwAR058My8P6NiMBauVMy8MddYS9ls-6H7x1_y5W83TIJeO8LCBMlO6AwDx1w