นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยถึงความคืบหน้าการผลิตตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ว่า ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนกัญชาของกลางเกรดพีเมียม 400 กิโลกรัมจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบ ปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หากไม่พบการปนเปื้อน คาดว่าต้นเดือน มิ.ย. นี้จะสามารถปรุงยาและแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยได้ในเดือน ก.ค.
นพ.มรุต กล่าวต่อว่า เบื้องต้นจะผลิตภัณฑ์เป็นน้ำมันสนั่นไตรภพรักษาโรคมะเร็งตับ ซึ่งจะมีทั้งชนิดกิน-ชนิดทา รวมทั้งยาทาริดสีดวงทวารและผิวหนัง โดยจะกระจายผลิตภัณฑ์ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้สถานพยาบาล ที่ต้องการใช้ตำรับยากัญชานำไปจ่ายยาให้กับผู้ป่วย แต่สถานพยาบาลจะสั่งจ่ายตำรับยากัญชาได้จะต้องผ่านการรับรองจาก อย.ด้วย
ส่วนการนำกัญชามาเป็นส่วนผสมในการปรุงยา 16 ตำรับแรกนั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนมาก แต่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้ยาตำรับไทยประมาณ 1,000 คนต่อ 16 ตำรับ โดยใช้กัญชาสด รวม 11 ตันต่อปี ทั้งนี้ ปริมาณการใช้กัญชาสดขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ของผู้ป่วย ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก
ขณะที่การพิจารณาตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่นอกเหนือจาก 16 ตำรับ เบื้องต้นมี 15 ตำรับ ที่ได้รับการพิจารณหลักเกณฑ์ จากทั้งหมด 59 ตำรับ โดยมี 10 ตำรับ ที่ผ่านหลักเกณฑ์พิจารณา เช่น ตำรับยา ตัดราก ตำรับยาแก้สารพัดโรค แก้โรคเรื้อนกวางริดสีดวง ลำไส้ และตำรับยาแก้ลูกหมากปวดบวม ส่วนอีก 5 ตำรับ ได้ประสานให้เจ้าของตำรับยานำข้อมูลมายื่นเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ย้ำว่าตำรับยาที่ผ่านการพิจารณาแล้วเป็นตำรับยาปรุงเฉพาะราย ผู้ใช้ได้ คือ หมอพื้นบ้านที่ยื่นตำรับนั้นมาส่วนผู้อื่นที่จะเอาตำรับนั้นไปใช้ต้องเป็นในลักษณะของการวิจัย โดย 10 ตำรับที่ผ่านการพิจารณาจะส่งไปยังคณะกรรมการผู้อำนวยการฯ เพื่อเสนอไปยังอย. เพื่อประกาศกระทรวงต่อไป
ส่วนการปรุงยาเฉพาะรายบางตำรับที่มีการใช้กัญชาไปหุงกับน้ำมันมะพร้าวของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนรับรองเป็นตำรับยาเฉพาะรายได้หรือไม่ เช่นเดียวกับการปรุงยาของเครือข่ายใต้ดิน หากมีการนำ เสนอเข้ามาเพื่อขอรับรอง ทางคณะกรรมการด้านการประเมินฯ จะพิจารณาว่าเข้าข่ายหลักเกณฑ์เป็นตำรับยาหรือไม่