ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีการตรวจสอบที่ทำการของมูลนิธิแห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี พบต้นกัญชา เมล็ดกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายปลดล็อกกัญชาเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรับแจ้งการครอบครองกัญชาและพิจารณาอนุญาตตามข้อบัญญัติของกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขอชี้แจงว่า โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ผู้ครอบครองกัญชามาแจ้งการครอบครองให้ถูกต้องตามลักษณะของกัญชาที่ครอบครอง และวัตถุประสงค์การใช้ ซึ่งผู้แจ้งจะได้รับการยกเว้นโทษ ทั้งนี้ ต้องแจ้งภายใน 90 วัน นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยสิ้นสุดในวันที่ 19 พ.ค. 2562
นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต หรือสกัดกัญชา ดังนี้
1. กรณีการปลูก ผลิตหรือสกัดกัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์ ใน 5 ปีแรก หลังกฎหมายบังคับใช้ ผู้ขออนุญาตต้องเป็น หน่วยงานของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลรัฐ หรือบุคคลต่อไปนี้ ซึ่งต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เช่น สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีการสอน/วิจัยทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์เกษตร วิสาหกิจชุมชน ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษา ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
2. ส่วนกรณีการปลูก ผลิต หรือสกัดกัญชา เพื่อการศึกษาวิจัย บุคคลดังกล่าวข้างต้นสามารถขออนุญาตได้โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ซึ่งมีหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเพื่อการศึกษาวิจัยไปแล้ว เช่น องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งการอนุญาต เลขาธิการ อย. เป็นผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การผ่อนคลายกฎหมายให้ใช้กัญชาทางการแพทย์และการอนุญาตมิได้ผูกขาดให้กลุ่มทุนใดเป็นการเฉพาะตามที่เป็นข่าว และไม่ได้สงวนเฉพาะสำหรับภาครัฐ แต่ทั้งภาคการเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือภาคการศึกษาสามารถปลูก ผลิต หรือสกัดกัญชาได้ รวมทั้งเงื่อนไขการปลูกก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องปลูกแต่เฉพาะในโรงเรือนระบบปิดเท่านั้น ผู้ปลูกสามารถปลูกกลางแจ้งได้ แต่ต้องมีระบบการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้กัญชามีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และป้องกันการหลุดออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ กฎระเบียบใด ๆ ที่กำหนดขึ้นในตัวบทกฎหมายจึงให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ได้เอื้อกลุ่มทุนใหญ่แต่อย่างใด
ทั้งนี้ อย. ยินดีสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนายา รวมทั้งกรณีพืชเสพติด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ให้ประชาชนมียาที่ดี มีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่ปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาการ ในการประชุมพิจารณาเรื่องใด ๆ จะมีการเชิญนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมพิจารณาให้ความเห็นในทุกประเด็น เพื่อให้ข้อตัดสินในการดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม เป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้มาแจ้งครอบครองกัญชาที่ อย. จำนวน 906 ราย โดยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ 11 ราย และผู้ป่วย 895 ราย สำหรับในต่างจังหวัดมีผู้มาแจ้งครอบครองกัญชา เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ 5 ราย ผู้ป่วย 442 ราย และบุคคลอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก 2 กลุ่มข้างต้น มีมาแจ้งเพียงรายเดียว รวมทั้ง มีผู้สอบถามเข้ามาที่ อย. ยังช่องทาง สายด่วน อย.1556 จำนวน 8,258 ราย หมายเลขโทรศัพท์ของกองควบคุมวัตถุเสพติด อย. 40 ราย และที่ Counter Service 4 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง