เมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดเผยเอกสารค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง ประจำปีงบประมาณ 2563 จาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ผ่านทางสำนักข่าว The Reporters พบว่า กระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุดคือ กระทรวงกลาโหม จำนวนกว่า 550 ล้านบาท ขณะที่หน่วยงานอื่นได้งบประมาณน้อยกว่ามาก เช่น กระทรวงการต่างประเทศ 4 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 13.4 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 13.4 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 20.4 ล้านบาท กระทรวงเกษตรฯ 24.4 ล้านบาท เป็นต้น
‘วอยซ์ออนไลน์’ ชวนเปิดเอกสารดูตัวเลขค่าตอบแทน “การจัดหารถประจำตำแหน่ง” ของข้าราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้เห็นภาพว่าทำไมต้องจ่ายสูงถึง 550 ล้านบาท ?
การจัดหารถประจำแหน่งของข้าราชการ เริ่มมีขึ้นในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523 และ ระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2525
ต่อมามีปัญหาในการจัดซื้อและเช่ารถราชการ ในปี 2547 เช่น รถยนต์ไม่เพียงพอ การประกันภัยและค่าซ่อมบำรุง ตลอดจนการบริหารจัดการ เป็นต้น กระทรวงการคลังจึงเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง สำหรับข้าราชการผู้มีสิทธิได้รถยนต์ประจำตำแหน่ง
โดยกำหนดว่า ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า ได้เงินตอบแทน 41,000 บาทต่อเดือน ระดับอธิบดี รองปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า 31,800 บาทต่อเดือน และระดับรองอธิบดีหรือเทียบเท่า 25,400 บาทต่อเดือน มีสิทธิได้รถยนต์ประจำตำแหน่ง
ทั้งนี้แต่ละกระทรวงมีหน่วยงานระดับกรมไม่มาก จึงทำให้งบประมาณส่วนนี้ไม่มากนัก ประมาณปีละ 10-20 ล้านบาท
ในส่วนของข้าราชการทหารสังกัด กระทรวงกลาโหม เนื่องจากใช้ระเบียบที่ต่างกัน โดยระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยรถราชการภายในกระทรวงกลาโหม ให้เทียบจากบัญชีเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2538 โดยแยกเป็นระดับชั้นยศ ดังนี้
- พล.ท.ขึ้นไป ได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายฯ เดือนละ 41,000 บาท
- พล.ต.ได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายฯ เดือนละ 31,800 บาท
- พ.อ.(พิเศษ) ได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายฯ เดือนละ 25,400 บาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2551 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีการออกประกาศเรื่อง การปรับเพิ่มค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถยนต์ประจำตำเเหน่งและการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การเช่า/ซื้อรถยนต์ โดยระบุว่า เห็นสมควรให้ปรับค่าตอบแทนเหมาจ่ายฯ ใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
ผลลัพธ์ออกมาตามภาพด้านล่างนี้
ทั้งนี้นายทหารที่จะได้รับ ต้องอยู่ในฝ่ายบริหารตามที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพลงนามมีคำสั่งอนุมัติ โดยในปี 2549 ในส่วนของกองทัพบก พบว่า มีผู้มีสิทธิได้รถประจำตำแหน่ง ทั้งสิ้น 339 ตำแหน่ง 482 อัตรา ส่วนกองทัพอากาศ 139 ตำแหน่ง ขณะที่กองทัพเรือ , กองบัญชาการทหารสูงสุด และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ยังไม่สามารถสืบค้นได้
ในเอกสารของกองทัพบก ยังพบว่า มีการเพิ่มเติมตำเเหน่งภายในกองทัพที่มีสิทธิได้รับรถประจำตำเเหน่งและมีสิทธิในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเหมาจ่าย แทนการจัดหารถประจำตำเเหน่ง เรื่อยมาตั้งเเต่ปี 2550 สมัย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. โดยล่าสุดคือ 13 พ.ย.ปี 2561 เป็นการเพิ่มเติมครั้งที่ 17 ลงนามโดย ผบ.ทบ.คนล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์
กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งจำนวนมาก ต้องใช้งบประมาณราว 500-550 ล้านบาทต่อปี โดยงบประมาณส่วนใหญ่มาจากกองทัพบก เพราะกำหนดให้หน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และระดับจังหวัด มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งทั้งหมด อาทิ จังหวัดทหารบก จะมีนายทหารระดับพลตรี เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบก จะได้ค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง 39,800 บาทต่อเดือน ส่วนรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบก (มีจังหวัดละ 1-2 คน) และ เสนาธิการจังหวัดทหารบก ซึ่งเป็นนายทหารระดับ พันเอก(พิเศษ) จะได้รับ 32,100 บาท ต่อคนต่อเดือน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :