กลุ่มภารกิจติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในยูเครน ระบุเมื่อวันอังคาร (21 พ.ย.) ว่า ยอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริงในยูเครน คาดว่าจะมีจำนวน “สูงกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการอย่างมีนัยสำคัญ” เนื่องจากการดำเนินการยืนยันการเสียชีวิตยังคงดำเนินอยู่
กลุ่มภารกิจติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในยูเครนยังระบุอีกว่า จากการติดตามผลทั่วประเทศ มีเด็กชาวยูเครนเสียชีวิตแล้วมากกว่า 560 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 18,500 ราย นับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565
สหประชาชาติระบุว่า การเสียชีวิตของชาวยูเครนที่เกิดขึ้นนอกแนวหน้ารบเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นผลมาจากการใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของกองกำลังรัสเซีย และการวางระเบิดที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดย แดเนียล เบลล์ หัวหน้าภารกิจติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในยูเครน ระบุว่า “ด้วยเหตุนี้ ไม่มีสถานที่ใดในยูเครนที่ปลอดภัยอย่างสมบูรณ์”
สหประชาชาติระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตรวมถึงผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเดือนแรกๆ หลังจากการรุกรานของรัสเซียในยูเครน อาทิ การสู้รบเพื่อควบคุมท่าเรือมารีอูปอล ซึ่งชาวบ้านในยูเครนระบุว่า มีพลเรือนบาดเจ็บล้มตายจากการสู้รบในครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก ในทางตรงกันข้าม รัสเซียออกมาปฏิเสธว่าพวกเขาไม่มีความจงใจมุ่งเป้าการโจมตีไปที่พลเรือนแต่อย่างใด
“การเสียชีวิตของพลเรือนนับหมื่น ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญอันเลวร้ายสำหรับยูเครน” เบลล์กล่าว พร้อมกันนี้ เธอกล่าวเสริมว่า สงครามของรัสเซียกับยูเครน “ขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 21 ของมัน ความเสี่ยงพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ โดยที่ค่าใช้จ่ายของชีวิตมนุษย์ที่มีอยู่อย่างรุนแรงนั้นเจ็บปวดจนยากจะหยั่งรู้ได้”
สหประชาชาติระบุเสริมว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของพลเรือนยูเครน มีสาเหตุมาจากอาวุธระเบิดที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น กระสุนปืนใหญ่ ขีปนาวุธ และระเบิดลูกปราย
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตัวแทนจากชาติพันธมิตรหลายประเทศของยูเครนเดินทางมาถึงกรุงเคียฟ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับยูเครน พร้อมกันกับการมอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อยูเครน ในขณะที่ยูเครนเข้าสู่วาระครบรอบ 10 ปี นับตั้งแต่การที่ประชาชนยูเครนเริ่มการประท้วงครั้งใหญ่ ซึ่งสามารถโค่นล้มประธานาธิบดีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย และทำให้ประเทศอยู่ในแนวทางพัฒนาสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สนับสนุนตะวันตก
ทั้งนี้ การประท้วงในครั้งนั้นบนถนนในกรุงเคียฟเมื่อปี 2556 ส่งผลให้มีพลเรือนเกือบ 100 รายเสียชีวิตจากการปะทะกับกองกำลังความมั่นคง โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ผู้นำยูเครนถอนอิทธิพลของรัสเซีย โดยเฉพาะจาก วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียออกไปจากประเทศ และนำยูเครนเข้าสู่วงโคจรของระบอบประชาธิปไตยยุโรป
ที่มา: