สุขุม เลาหพูนรังษี อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ ผู้ก่อตั้งคณะ ‘ตะวันเพลิง’ ย้อนความทรงจำกลับไปในวันฆ่านกพิราบ 6 ตุลาคม 2519 เช้าตรู่วันนั้น เด็กหนุ่มวัย20 ปี ทราบเรื่องจากวิทยุยานเกราะ ว่ามีพลเมืองดีกำลังเข้าบุกปิดล้อม ปราบปรามอริราชศัตรูที่ธรรมศาสตร์ เขารีบจับรถเมล์จากบ้านพักเข้ามาดูเหตุการณ์ด้วยตาตัวเอง ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้า ถือเป็นอะไรที่เกินจะคาดหมายได้ ภาพศพ 2-3 ศพถูกเผาที่รูปปั้นแม่พระธรณีบีบมวยผมโดยใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อเพลิง ภาพรอยเลือดท่วมเป็นร่างคนนองเต็มพื้นหญ้า กลายเป็นภาพติดตาที่เขาจะไม่มีวันลืม
เย็นวันที่ 5 ตุลาคม สุขุมเพิ่งบอกลาพรรคพวกนักกิจกรรม ขอตัวมาเขียนบทละคร เพราะคิดว่าการต่อสู้กับการกลับเข้าประเทศของเผด็จการถนอม กิตติขจร ที่บวชเป็นสามเณร คงเป็นเกมที่สู้กันไปอีกยาว แต่ผิดคาด เหตุการณ์ทั้งหมดถูกเร่งรัด เปิดเกมด้วยการกล่าวหาผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ผ่านหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ควบคู่ไปกับสื่อกระจายเสียงวิทยุยานเกราะ หยิบยกภาพการแสดงแขวนคอเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมมาเป็นเหตุปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังว่าเป็นการแสดงเสียดสีล้อเลียนองค์รัชทายาท ต่อด้วยการล้อมปราบโดยมวลชนจัดตั้งฝ่ายขวา ลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง และตำรวจตะเวนชายแดน ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ปิดเกมด้วยการรัฐประหารโดยคณะปฎิรูปการปกครองที่มีผู้นำคือ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น
สุขุม ได้กลับไปนอนที่บ้าน 1 คืน ก่อนจะย้ายมาอยู่บ้านพี่คนหนึ่ง นอกจากข้าวของที่จำเป็นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เขาหอบออกมาจากบ้านด้วยคือ บทละครกว่าร้อยเรื่องที่เขาเขียนขึ้นมาเองตลอดปีสองปีที่เคลื่อนไหว เขาว่านั่นคือสิ่งที่รักยิ่งกว่าอะไร กบดานอยู่หลายวันท่ามกลางข่าวการตามจับกุมคนเข้าคุกรายวัน ไม่นานนักก็ปรากฏหมายจับของตัวเองโทษฐานความผิดอันร้ายแรงเกี่ยวพันกับการแสดงละครแขวนคอ
คนหนุ่มวัย 20 ปี ไม่เคยผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงขนาดนี้มาก่อน เขายอมรับว่า ความกลัวพุ่งเข้าเกาะกินหัวใจ คิดไกลไปถึงวันที่จะถูกบุกจับ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง พี่ที่ให้ที่พักพิงก็จะพลอยถูกเล่นงานไปด้วย คิดหนักไปอีกว่า หากถูกจับ บทละครร้อยกว่าเรื่องจะถูกหยิบไปเป็นหลักฐาน แม้เนื้อหาในบทละครจะไม่มีอะไรที่เป็นความเสี่ยงในความรู้สึกนึกคิดเลยก็ตาม
แน่นอนว่า เวลานั้นเรายังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า กูเกิลไดรฟ์ หรือ iCloud สิ่งที่สุขุมทำได้มีเพียงแค่การทำลายผลงานทั้งหมดของตัวเอง แต่การเผาให้เป็นเถ้าธุลีดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะบ้านที่อาศัยอยู่เป็นห้องแถวที่สร้างใหม่ ควันไฟจะกลายเป็นจุดสังเกตได้ เมื่อไฟใช้ไม่ได้ น้ำจึงกลายมาเป็นผู้ทำลายแทน
“ผมก็เอากะละมังใส่น้ำให้เต็ม เอาแฟ้บโรยไปสามกำมือ แล้วฉีกบทละคร คุณลองนึกดูสิ บทละครที่ผมเขียนมาเป็นปีๆ ผมฉีกมันแล้วแช่ไปในน้ำแฟ้บ รอจนมันเปื่อยก็ช้อนขึ้นมาขยำๆ ยัดลงโถส้วม ราดน้ำตาม... มันเหมือนจิตวิญญาณของเราถูกราดลงไปในโถส้วมด้วย ก็ตอนนั้นที่เราตัดสินใจแล้วว่า มันอยู่ไม่ได้แล้วสังคมแบบนี้”
“มันไม่เหลือทางให้เราเลือก วินาทีนั้นบอกกับตัวเองว่า กูไม่อยู่แล้ว ผมเข้าป่าไม่ใช่เพราะมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่เลย แต่เพราะฝ่ายอำนาจรัฐไม่เปิดโอกาส ไม่เหลือทางเลือกให้ผมเลือกเลย ถ้าคุณไม่ถูกจับเข้าคุก คุณก็ต้องไปอยู่อีกฟากหนึ่ง ไม่มีทางเลือกที่สามในสังคมไทย ด้านขวามันเบียดคุณมาจนติดกำแพงแล้ว ถ้าคุณไปทะลุไปด้านซ้าย คุณก็โดนอัดก๊อปปี้ตายอยู่ตรงนั้น”
อ่านงานที่เกี่ยวข้อง
การตัดสินใจเดินทางเข้าร่วมการปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์เเห่งประเทศไทย (พคท.) กลายเป็นทางเลือกในสภาพบังคับสำหรับนิสิตนักศึกษาหลายคนในช่วงเวลานั้น แม้บางคนจะไม่มีแนวคิดคอมมิวนิสต์มาก่อนก็ตาม สุขุมมองว่า การเดินทางครั้งนั้นถือเป็นประวัติศาสตร์การเดินครั้งยิ่งใหญ่ของคนในยุคนั้น และเชื่อว่ามีนักศึกษาคนรุ่นใหม่หลายพันคนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจำนวนไม่น้อยถูกเรียกว่า ‘หัวกะทิ’ ในระดับมหาวิทยาลัย
“อย่างอาจารย์เกษียร เตชะพีระ เนี่ย ผมเรียกมันไอ้สี่ เพราะแม่งสอบแต่ละทีได้เกรด 4 ตลอด ได้ทุนภูมิพลเหมือนผม แต่เป็นรุ่นน้องปีนึง เวลาสอบประจำภาคทั้งๆ ที่ก็ทำกิจกรรมเหมือนผม แต่มันได้สอบได้ 4 ตลอด แล้วก็มีอีกหลายคนที่เรียนเก่งแบบนี้ แต่รัฐบาลในยุคนั้นก็ได้เบียดขับหัวกะทิ นักศึกษาแพทย์ที่เก่งๆ ให้ไปอยู่ฝั่งตรงข้าม โดยที่เขาไม่มีทางเลือกอื่น”
การเข้าป่าของนักศึกษาในยุคนั้น เริ่มต้นจากการติดต่อมาจากสายจัดตั้งที่ทำงานอยู่ในเมือง แม้ว่าขบวนการของนักศึกษาจะไม่ได้เชื่อมต่อโดยตรงกับ พคท. แต่ต้องยอมรับว่ามีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่อยู่ในสายจัดตั้งของ พคท. และทำงานอยู่ในเมือง หลังเหตุสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ รัฐประหาร และการกวาดจับ นักศึกษา หลายคนเริ่มได้รับการชักชวนจากเพื่อนๆ ที่ทำงานกับ พทค. ให้เข้าร่วมกับพรรค โดยกระบวนการนี้จะมีการคัดกรองเบื้องต้น ตรวจเช็คจากการรู้จักกันมาก่อน หรือเห็นว่าเคยผ่านการหล่อหลอมมาแล้วในระดับหนึ่ง หลังจากตัดสินใจได้แล้วว่าจะเข้าป่า จากนั้นจะต้องรอจนกว่าจะมีการนัดหมายให้ออกเดินทาง
สุขุม ได้รับการนัดหมายให้เดินทางลงใต้โดยรถไฟ โดยมีการนัดแนะให้ออกไปเจอกันที่หัวลำโพง ซื้อตั๋วรถเร็วสายใต้ที่มุ่งสู่นครศรีธรรมราช แต่เมื่อถึงเวลาลงจริงๆ ให้ลงก่อนถึงสถานีปลายทาง 2 สถานี จุดที่เขาจะต้องลงจากรถในวันนั้นคือสถานีพรุพี
สาเหตุที่ต้องเดินทางลงไปทางใต้ เพราะนั่นเป็นจุดที่เข้าไปได้ง่ายที่สุด ไม่ใช่ในแง่ของความสะดวกสบายในการเดินทาง แต่มันคือพื้นที่สีชมพู การใช้สีแทนสภาพพื้นที่แบบนี้หมายถึงการไล่ระดับสี โดยมีสีแดงเป็นตัวตั้งต้น สีแดงถูกเรียกว่า ‘พื้นที่ปลดปล่อย’ เสมือนรัฐซ้อนรัฐ เป็นเขตแดนการปกครองของพคท. อำนาจรัฐไทยเข้าไปไม่ถึง มีรูปแบบการปกครองตนเองอย่างเป็นระบบ ส่วนพื้นที่สีชมพูยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชุมชน หากแต่เป็นชุมชนที่ชาวบ้านกลายเป็นแนวร่วมให้กับ พคท. แม้จะอยูู่ภายใต้อำนาจการปกครองของรัฐไทย แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองต่างก็ไม่กล้าที่จะขยับอะไรมาก และมากไปกว่านั้นข้าราชการบางคนก็เป็นแนวร่วมของ พคท. ด้วย
“ผมนั่งรถไฟผ่านไปคืนนึง รุ่งเช้าเพื่อนบอกให้ไปที่ตู้เสบียงกินข้าว แล้วก็บอก มึงรีบกินนะนี่เป็นอาหารดีๆ มื้อสุดท้ายของมึงแล้ว ตอนที่ขึ้นรถไฟไปเราก็รู้ว่ามีกลุ่มเราเล็กๆ 2-3 คน แต่พอลงรถไฟมา มีกัน 20 กว่าคน แล้วแต่ละคนคือคุ้นหน้าว่าเป็นนักศึกษา ยี่ห้อมันบอกเลย ใส่แว่นหนาเตอะ เราก็ตกใจว่ามันเยอะแบบนี้ มันจะเข้าไปยังไง”
“เราสังเกตเห็นแถวหน้าสถานีจะมีคนมารอ เป็นชาวบ้านธรรมดายืนกัน 10 กว่าคน แล้วเขาก็บอกให้เดินตามคนคนหนึ่งไป หลังสถานีมีรถมอไซค์จอดอยู่ 10 กว่าคัน เขาก็ให้เราซ้อนสอง ขับฝ่าไปกลางตลาด แค่นั้นยังไม่พอ ยังผ่านหน้าโรงพักด้วย ตำรวจมันก็ยืนทำเป็นมองไม่เห็น ตอนนั้นเรากลัวเป็นบ้าเลย ที่ไหนได้มารู้ที่หลังว่าหมู่บ้านตรงนั้นมันเป็นหมู่บ้านสีชมพู”
เขาเดินทางออกจากสถานีรถไฟพรุพีด้วยรถมอเตอร์ไซค์ใช้เวลาเพียง 15 นาทีก็ไปถึงสวนยาง ตรงนั้นมีชาวบ้านในสวนยางทำอาหารมารอรับ เป็นอาหารปักษ์ใต้มีรสชาติเผ็ดร้อน นักศึกษาหลายคนยังไม่ค่อยคุ้นกับรสชาติ จากจุดนั้นก็มีคนนำเดินทางเข้าไปในป่า ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงก็พบว่าเริ่มเข้าใกล้เขตพื้นที่สีแดงแล้ว
สุขุมเล่าว่า ‘ทหารป่า’ คนแรกที่เข้าเจอเป็นชายฉกรรจ์ ถอดเสื้อนุ่งผ้าขาวม้าอยู่กลางห้วย กำลังหาปลาขะมักเขม้น แต่ไม่ลืมสวมหมวกดาวแดง เลยจากตรงนั้นไม่นานคนนำทางก็บอกให้ว่าที่สมาชิกพรรค ชุดใหม่หยุดรอก่อน สหายนำทางหายไปได้ไม่นานก็วิ่งกลับมารับ พร้อมกับเสียงปรบมือที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างการเดินทางเข้าไปในค่าย เขายังจินตนาการไม่ออกว่า ตรงไหนคือที่ตั้งของค่าย แต่พอเดินผ่านป่ารกจุดหนึ่งไป พื้นที่ที่หลบซ่อนอยู่ภายในนั้นคือหมู่บ้านดีๆ หมู่บ้านหนึ่ง
“ข้างหน้ามันก็เห็นว่าเป็นป่า แต่พอเราเดินเข้าไปมันเป็นค่ายใหญ่ ตรงกลางมีสนามบาส มีคนออกมายืนเรียงแถวล้อมรอบสนาม เราก็ต้องเดินจับมือกันไปทุกคน แล้วเราก็เจอเพื่อนที่ไม่คิดว่าจะเจอ เจอหลายคนที่มาก่อน จับมือดีใจกันเป็นบ้าเลย”
สุขุมอธิบายสภาพของค่าย พคท. ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ว่า ถูกสร้างด้วยไม้กระดานซึ่งมีการแปรรูปเอง ภายในค่ายมีโรงเลื่อยไม้ มีเครื่องปั่นไฟสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าให้ความสว่างในช่วงกลางคืน นอกจากนี้ยังมีโรงจักรสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้า นั่นทำให้ความคิดของเขาที่คิดว่าการเข้าป่าจะได้ใช้ชีวิตแบบเช เกวารา นอนกลางดินกินกลางทรายผิดไปถนัด เพราะเขารู้สึกเหมือนได้ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางป่า
อย่างไรก็ตาม สุขุมบอกว่า เรื่องอาหารการกินยังมีความอดอยากอยู่บ้าง เพราะมีนักศึกษาเข้ามากันเยอะ จึงทำให้ข้าวที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ ตอนนั้นเลยแก้ปัญหาด้วยการกินข้าวปนมัน คือ การนำมันสำปะหลังมาสับให้แหลกแล้วนำไปหุงพร้อมกันกับข้าวสาร
สุขุมเล่าประสบการณ์ที่ได้พบเห็นระหว่างอยู่ที่สุราษฎร์ ในเช้าวันหนึ่งเข้าเห็นทหารป่ากำลังเช็ดปืนจึงเดินเข้าไปดู แล้วพบว่าผ้าที่สหายใช้ทำความสะอาดปืนนั้นเป็นผ้าผันคอของลูกเสือชาวบ้าน สหายคนนั้นบอกเขาว่า เคยเข้าไปแฝงตัวฝึกกับลูกเสือชาวบ้านมาเลยได้ผ้าผันคอนี้มาไว้เช็คปืนของพรรคคอมมิวนิสต์
เรื่องราวหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย สุขุมเล่าต่อไปว่า วันที่ 1 ธันวาคมในอดีตถือเป็นวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ก่อนจะเป็นชื่อมาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถือเป็นวันเฉลิมฉลองของคนที่อยู่ในป่า เขาได้เห็นความคึกคักของงานวันนั้นที่มีการนำชาวบ้านทางพื้นราบขึ้นมาร่วมงานกินนอนอยู่บนค่ายประมาณ 500 กว่าคน มีการจัดการแสดง พวกนักศึกษาก็เตรียมการแสดงไปร่วมเวทีด้วย ส่วนการแสดงอื่นๆ ก็มีหนังตะลุง เพราะมีคณะหนังตะลุง ประเคียง ระฆังทอง หนีเข้ามาทั้งคณะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ส่วนชาวบ้านที่มาก็เห็นนักศึกษาแล้วก็อดที่จะเข้ามากอด ลูบไหล่ ลูบหัว ให้กำลังใจด้วยความเอ็นดู
ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับกลุ่มอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อส.) ซึ่งเป็นกองกำลังฝ่ายพลเรือนของรัฐในเวลานั้นก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในช่วงที่สุขุมประจำการอยู่ เขาพบว่า เวลา อส. จะเข้าลาดตะเวน จะมีการสื่อสารกับแกนในบ้านที่สามารถติดต่อกับสหายได้ โดยบอกพิกัดและเวลาที่จะเข้าไป รวมถึงสัญลักษณ์ผ้าสีเขียวผูกปลายปืนให้รู้กันว่า “พวกเดียวกัน อย่ายิง’ แต่กับการเข้ามาลาดตะเวนของตำรวจตะเวนชายแดนนั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หลังจากประจำการอยู่ที่สุราษฎร์ได้ประมาณ 1 เดือน สุขุมได้รับมอบหมายให้เข้าไปทำงานในเขตงานทางตอนเหนือ เพราะเวลานั้นศูนย์กลางของ พทค.อยู่ที่ภาคเหนือทั้งหมด แต่ก่อนที่ขึ้นไปเขาถูกส่งตัวกลับมาที่กรุงเทพฯ ก่อนอีกหลายเดือนกว่าจะได้รับ ‘เมล์’ ให้เดินทาง ระหว่างนั้นก็มีการเปิดรับสมัครพรรคพวก มีการติดต่อหาคนที่อยากจะเข้าร่วมกับ พคท. เพิ่ม จนกระทั่งได้เมล์ให้เดินในวันที่ 12 เมษายน 2520 การเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นที่ด้วยการนัดหมายไปขึ้นรถสองแถวที่จอดอยู่แถวโรงหนังเฉลิมไทย
“คนขับรถบอกพวกเราว่า การเดินทางมีความเสี่ยง ถ้าขับไปแล้วเจอด่านตรวจก็ให้ร้องเพลงทำเฮฮาให้เหมือนคนที่จะไปเที่ยว เราก็นั่งกันไปไม่มีอะไร ตอนนั้นก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะไปที่ไหน มารู้ตอนเย็นที่เขาจอดให้กินข้าว เขาก็บอกว่าพวกเราจะได้ไปอยู่ที่เขาค้อ”
สุขุม เล่าต่อว่า การเดินทางครั้งนี้ตอนแรกคิดว่ามากันเพียงไม่กี่คน แต่เมื่อฟ้าเริ่มมืด ขณะรถวิ่งอยู่ช่วงถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ก็เห็นว่ามีรถสองแถวขับแซงไป 4-5 คัน แล้วก็พบว่าคนที่นั่งมาในรถเหล่านั้นล้วนแต่คุ้นหน้าคุ้นตา เลยได้รู้ว่ารอบนี้ไม่ได้มีแค่พวกเขาแค่กลุ่มเดียว เมื่อขับไปเรื่อยเวลาประมาณ 3 ทุ่ม รถสองแถวก็ตีไฟสูงและจอดเทียบข้างทาง ให้ทุกคนลงมารอข้างล่าง และนัดแนะว่าหากมีรถขับผ่านมาให้ทำท่าเหมือนยืนฉี่ เพื่อไม่ให้กลายเป็นจุดสังเกต
“รออยู่สักพัก ผมก็ได้กลิ่มเหม็นมาก เหม็นจนแทบจะอ้วก ปรากฏว่า กลิ่นนั้นเป็นกลิ่นตัวที่มาจากสหายที่ออกมารับพวกเรา มันเป็นความประทับใจจริงๆ ครั้งแรกที่ไปสุราษฎร์เจอภาพสหายนุ่งผ้าขาวม้าจับปลา มารอบนี้เจอกลิ่นมาก่อนเลย หันกลับไปดูก็เห็นเป็นสหาย เป็นคนม้ง”
เขาเล่าด้วยว่า หนึ่งในกลุ่มสหายที่ออกมารับพวกเขา มีคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนกันแต่หายไปก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างไรก็ตามการเดินทางจากจุดจอดรถเข้าไปยังค่ายของ พคท. ครั้งนี้ใช้เวลาข้ามคืนข้ามวัน พวกเขาเดินไปถึงฐานที่มั่นในเวลา 6 โมงเย็นของอีกวัน แต่ระหว่างนั้นสหายที่นำทางเห็นว่าพวกเขาเริ่มเหนื่อย จึงให้นอนพักพร้อมเดินไปตัดใบกล้วยมาปูให้นอน รวมทั้งอยู่ยามเฝ้าให้ด้วย
“ภูลูกสุดท้ายที่เราจะต้องขึ้นไปมันชันมาก เราก็เดินขึ้นไปเรื่อยๆ จนได้ยินเสียงคนปรบมือ ร้องเพลงต้อนรับพวกเรา เราก็คิดว่าจะเป็นแบบภาคใต้ เปล่าเลย คนม้งล้วนๆ ไม่มีไฟฟ้า ต้องจุดคบเพลิงใช้ มันก็เป็นอีกบรรยากาศหนึ่ง ที่นี่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรเลย โรงเรือนก็เป็นบ้านคนม้ง หลังเตี้ยๆ ปลูกติดดิน โคตรทรมานเลย แต่ที่นี่สหายทุกคนติดอาวุธอย่างดี เป็นปืนที่ส่งมาจากจีน แต่ทางใต้ไม่มีปืนแบบนี้”
สุขุม เล่าต่อว่า เขาอยู่ที่เขาค้อได้ประมาณ 1 เดือน เพราะเป้าหมายที่จัดตั้งจะส่งเขาไปทำงานคือ ประเทศลาวติดชายแดนประเทศจีน ระหว่างอยู่ที่เขาค้อ สหายที่นี่ก็มอบหมายหน้าที่ให้สุขุมและพรรคพวกเข้าไปแสดงละครของพรรค รวมทั้งการแสดงดนตรีตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง หรือที่เรียกว่าเขตปลดปล่อย เวลานั้นทุกคนก็ได้อาศัยความสามารถเดิมที่มีอยู่ออกมาใช้
สำหรับหมู่บ้านที่อยู่ในเขตปลดปล่อยที่สุขุมได้เข้าไปสัมผัส พวกเขามีระบบกฎหมาย ระบบการจัดเก็บภาษีของตนเอง และมวลชนที่อยู่ภายในหมู่บ้านต่างก็ได้รับการปลุกระดมไว้อย่างดี หากมีสหายเดินผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน พวกเขาก็จะนำผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มาให้สหายหยิบกินฟรี ไม่ว่าจะป็น สับปะรด ลูกท้อ เสาวรส แต่ส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านจะเป็นชาวม้ง มีน้อยคนที่จะสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ส่วนผู้หญิงทั้งหมดไม่สามารถพูดภาษาไทยได้เลย เนื่องจากแต่เดิมก็อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากส่วนกลางเป็นทุนเดิม และเมื่อมีการจัดตั้งเป็นเขตปลดปล่อยแล้วโอกาสที่พวกเขาจะได้เข้าไปในเมืองจึงเท่ากับศูนย์ อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่ไปแสดงละครหรือเล่นดนตรีก็จะมีชาวม้งที่เป็นล่ามคอยแปลเนื้อหาให้พวกเขาฟัง
ส่วนการปรับตัวหลังขบวนนักศึกษายกพลเข้าป่านั้น สุขุมมองว่า เป็นการปรับตัวที่ไม่ยากเท่าไรนัก อย่างเรื่องอาหารการกิน นักศึกษาหลายคนถูกฝึกมาตั้งแต่สมัยอยู่ในเมืองจากการไปออกค่ายอาสา การร่วมงานกับกรรมกรและชาวนา พวกเขากินอะไรนักศึกษาก็กินเหมือนกัน แต่อาจจะมีบางคนที่กินบางอย่างไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นปัญหาใหญ่ ส่วนเรื่องแนวคิดคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม ประชาธิปไตยรวมศูนย์ และการทำงานกับจัดตั้ง สำหรับสุขุมมองว่าเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่นักศึกษาสามารถปรับตัวได้ เพราะแต่ละคนต่างก็มีประสบการณ์การทำงาน ทำกิจกรรมในเมือง กับองค์กรที่มีลักษณะการจัดตั้งที่ไม่แตกต่างจากองค์กรจัดตั้งในป่ามาก
“ผมอยู่เขาค้อได้ประมาณ 1 เดือน ก็มีเมล์มาให้ผมเดินทางไปที่ชายแดนประเทศจีน ผมก็ต้องเดินทางขึ้นไปที่ภูหินร่องกล้า ถ้าใครเคยไปเที่ยวจะรู้ว่ามันสวยมาก แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คิดว่ามันสวย มันโคตรสูงเลย ก็ต้องเดินขึ้นไป จากภูหินร่องกล้าก็ต้องเดินทางต่อมาภูเมียง จากนั้นก็เดินเข้าเขตลาว พอเข้าเขตลาวแล้วการเดินทางจะมี 3 วิธี ส่วนใหญ่จะต้องเดิน บางคนจะมีรถให้นั่ง หรือบางคนก็จะได้นั่งเรือไปต่อ เพราะตอนนั้นลาวได้รับการปลดปล่อยแล้ว”
สุขุม เล่าถึงการเดินทางในครั้งที่สามของเขา เมื่อเขาเข้าสู่หลวงพระบางได้ ก็ได้เดินทางโดยเรือไปยังปากแบง และจากปากแบงเขาได้ต่อรถเดินทางไปตามถนนสายยุทธศาสตร์ของจีนไปยังหลวงน้ำทา และเข้าไปประจำการที่สำนักแนวหลังซึ่งอยู่ห่างจากประเทศจีนราวๆ 10 กิโลเมตร
สำนักแนวหลังที่สุขุมว่า คือ จุดที่มีการลำเลียงทรัพยากรต่างๆ จากประเทศจีนมาพักไว้ เพื่อกระจายต่อไปยังส่วนต่างๆ ในภูมิภาค เวลานั้นจัดตั้งได้สั่งให้เขาไปรักษาตัวก่อน เพราะอาการของเขาไม่สู้ดีนักจากการเดินทางไกลมาตลอด โดยได้รับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ในสำนักแนวหลัง แต่สำหรับสหายที่มีอาการหนักกว่านั้นก็จะถูกส่งตัวเข้าไปรักษาที่ประเทศจีน สุขุมพักรักษาตัวอยู่ได้ประมาณ 2 เดือนก็ได้รับการติดต่อให้กลับเข้ามาที่จังหวัดน่าน โดยให้เข้าไปเรียนในโรงเรียนการเมืองการทหารของ พคท.
“ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรมาก พวกทฤษฎีการเมืองพอรู้มาบ้าง แต่ว่าไม่ได้เข้มข้นอะไรขนาดนั้น สำนักที่ผมเรียนคือสำนัก 61 คนดังๆ หลายคนก็เคยผ่านสำนักนี้ อาจารย์จรัล ดิษฐาอภิชัย อาจารย์ธเนศ ขวัญเมือง จริงๆ หลักสูตรมัน 3 เดือน แต่เดี๋ยวก็เจอไฟป่า เจอพายุ ก็ต้องไปสร้างบ้านกันใหม่ สุดท้ายกว่าจะจบก็หมดไปหลายเดือน ก่อนจะแยกย้ายกัน จัดตั้งเขาก็ส่งแต่ละคนไปฝึกงาน ให้ไปสัมผัสชีวิตชาวบ้านจริงๆ”
อย่างไรก็ตาม หลังจากสุขุมทำงานกับ พทค. ไปได้ระยะหนึ่งก็เริ่มรู้สึกถึงความอึดอัด เพราะการแสดงละครที่เขาทำระหว่างอยู่ในป่าถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองชนิดหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นการแสดงแต่ละชุด เพลงแต่ละเพลงจะต้องถูกกลั่นกรองก่อน เนื้อหาจะต้องปลุกเร้าให้ประชาชนปฏิวัติ เห็นอนาคต ดูหมิ่นศัตรู เชิดชูพรรค
“เราเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นฟอร์แมทเดิมๆ เกินไป จนมาแตกหักตอนที่ผมทำละครครั้งหนึ่ง ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้วและเบื่อมากกับรูปแบบนี้ รบกันทีไร แสดงออกมา พคท. เก่ง ทหารปลดแอกเก่ง ตีศัตรูกระเจิงชนะทุกที และอีกไม่นานเราจะเอาธงแดงไปปักกลางนคร”
“บางขณะที่เราขึ้นไปยอดภู แล้วมองลงมา เราก็เห็นเขตปลดปล่อยของเรามันเล็กแค่นั้นเอง ถึงตรงนั้นก็เป็นเขตศัตรูแล้ว วันดีคืนดีศัตรูก็ยกกำลังขึ้นมาล้อมปราบพวกเรา มันแคบแค่นี้เองหรือ แล้วให้เราแสดงละครโดยบอกว่าอีกไม่นานจะเอาธงแดงไปปักกลางนคร มึงไม่ต้องไปกลางนคร มึงแค่เอาไปปักกลางหมู่บ้านบ่อเกลือนี่ก็อ้วกแล้ว มันไม่ง่ายอย่างนั้น”
“ผมก็เลยเขียนละครเรื่องหนึ่งชื่อ วันสมมติ เล่นมาตลอดเรื่องตามรูปแบบเลย แต่ตอนจบฉากที่กำลังจะบุกเข้ายึดเมือง ไอ้ตัวผู้ร้ายก็จะบอกว่าหยุด! ทุกคนก็หยุดค้าง นี่ก็แค่วันสมมตินะ จริงๆ แล้วคุณแค่อยู่บนยอดภู คุณไม่ได้ลงมาง่ายอย่างนี้หรอก วันนี้ผมกำลังจะไปดูคอนเสิร์ต คุณก็กลับไปกินข้าวปนมันของคุณไป”
“ผมเขียนบทละคร ต้องการสื่อว่า เฮ้ย ไอ้ที่ฝันหวานน่ะมันไม่ง่ายนะ ที่มึงจะต้องทำ มึงจะต้องทำหนักกว่านี้ ทำให้ได้ดีกว่านี้ ทำให้เร็วกว่านี้ ไม่งั้นไอ้สิ่งที่มึงหวังมันเป็นไปไม่ได้เลย ปรากฏว่าทางจัดตั้งเอาบทละครผมไปเซ็นเซอร์ บอกว่าละครของสหายอย่างนี้ไม่เหมาะที่จะเล่น มันเหมาะที่จะเล่นในเมือง ไม่เหมาะที่จะเล่นในป่า”
“คุณคิดดู ผมทำละครในเมืองที่ถือว่าเป็นเขตศัตรู 3 ปี ผมไม่เคยต้องเอาบทละครไปให้ใครเซ็นเซอร์เลย ผมเขียนจากความรู้สึกผม จิตสำนึกของผม แต่พอมาเล่นในป่าที่คุณว่าเป็นเขตของประชาชน คุณมาเซ็นเซอร์บทละครผมได้ยังไง คุณเป็นใครมาบอกว่าเรื่องนี้ไม่ควรมาเล่นตรงนี้ ก็เกิดการทะเลาะกัน เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ละ ของผมถือว่าไม่ได้แหลมคม ไม่ได้ดุเดือด แต่มันเริ่มมีการปะทะกับความคิดของ พคท.เก่า ที่ทำการปฏิวัติมาตั้งแต่ 2480 หรือสหายเข้าป่ารุ่นจิตร ภูมิศักดิ์ ก่อนจิตรภูมิศักดิ์ คือเขาเห็นกรุงเทพฯ ยังพายเรือไปได้ จินตภาพของกรุงเทพฯ ยังอยู่อย่างนั้น พวกนี้เขาอยู่ในป่านานเกินไป เขาล้าหลังไป สังคมมีพลวัตหมุนเวียนไปเร็วมากจนพวกนี้รับไม่ไหว รับไม่ทัน เขาถือคติพจน์ของประธานเหมาเล่มเดียวสามารถครองโลกได้ทั้งโลก นี่คือสภาพตอนนั้นนะ เขาบูชาประธานเหมาเยี่ยงพระเจ้า”
“ขนาดเพลง ตงฟางหง เพลงบูรพาแดงของจีนซึ่งเป็นเพลงเชิดชูประธานเหมา พวกเราก็เอามาดัดแปลงร้อง ของเดิมมันร้องว่า Dōngfāng hóng, tàiyáng shēng, Zhōngguó chū liǎo ge Máo Zédōng, อะไรเนี่ยนะ ที่บอกว่า ประธานเหมาเป็นดุจดังดวงอาทิยต์บูรพาแดง เราก็เอามาร้องใหม่ว่า คนขาโก่ง เดินไม่ตรง มวลชนแกงไก่ กินเข้าไปสองจาน….สหายเก่าร้องไห้เลย แปลกมาก พวกเขาบอกว่า พคท. ติดอาวุธความคิดมาร์กซิสต์ เลนิน ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ไอ้ห่า ที่บูชาประธานเหมาเป็นพระเจ้า ไม่สามารถแตะต้องได้ มันวิทยาศาสตร์ตรงไหนวะ”
จากความแตกหักความความคิดกับจัดตั้ง ท้ายที่สุดทำให้สุขุมตัดสินใจออกจากป่า หลังจากใช้ชีวิตในป่าได้ประมาณ 1 ปีกว่า และพอดีช่วงเวลานั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รัฐประหารล้มรัฐบาลหอยของธานินทร์ กรัยวิเชียร ด้านหนึ่งเพราะชนชั้นนำเห็นว่า ถ้าอยู่กันต่อไปแบบนี้จะมีการสู้กันไม่มีวันจบ และเขาก็อยู่ในสภาพนี้ไม่ได้ เพราะพคท. มีกองกำลังที่เข้มแข็งมาก จนฝ่ายรัฐบาลเริ่มหวั่น มีการเข้าโจมตีทหารหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงหันกลับมาใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร และปล่อยนักโทษการเมืองออกจากคุก ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งหมดนี้จึงทำให้สุขุมตัดสินใจออกจากป่า เพราะเห็นว่าเริ่มมีพื้นที่ให้กลับไปใช้ชีวิตอยู่ได้
“อย่างที่บอก ผมเข้าป่า ไม่ใช่เพราะเป็นประเภทคลั่งลัทธิคอมมิวนิสต์แล้วเข้าไป แต่มันไม่มีทางเลือก พอมันมีทาง ผมก็ขอกลับ ซึ่งในด้านหนึ่งเขาก็ดี เขาบอกขบวนปฏิวัติของเรามันก็เหมือนกันขบวนรถไฟ พอจอดสถานีหนึ่งก็จะมีคนขึ้นและก็มีคนลง ผมขอลง เขาก็ว่าได้ แต่คุณขึ้นทางไหนก็ไปลงทางนั้น ทั้งๆ ที่จุดที่ผมอยู่ เดินทางมาถึงเชียงรายคงใช้เวลาแค่ 2-3 วัน แต่คำว่า ขึ้นทางไหนลงทางนั้น มันหมายความว่าผมต้องเดินทางย้อนกลับลงทางเขาค้อ เท่ากับว่าผมใช้เวลาสำหรับการออกจากป่าทั้งหมด 6 เดือน แต่มันก็ดีนะ ในแง่หนึ่งผมได้อะไรกับมันเยอะมากในช่วง 6 เดือนนี้”