ไม่พบผลการค้นหา
สัมภาษณ์ สุขุม เลาหพูนรังษี อดีตนักศึกษานิติศาสตร์ ผู้ไม่ยอมเรียนหนังสือแต่ผันตัวทำละครในยุคประชาธิปไตยแบ่งบานหลัง 14 ตุลาฯ ก่อนถูกทำลายด้วยความโหดเหี้ยมในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จนต้องเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. เช่นเดียวกับหนุ่มสาวจำนวนมาก เขาเล่าบรรยากาศในช่วงนั้น คนรุ่นใหม่ในเวลานั้น การเคลื่อนไหวในเวลานั้น ซึ่งอาจเป็นมุมมองที่เป็นประโยชน์หรือกำลังใจในเวลานี้

เปิด ‘กล่องฟ้าสาง’ มองขบวนในอดีต สะท้อนปัจจุบัน

สุขุม เลาหพูนรังษี เป็นอดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเรียนปี 2517 ทำหน้าประหลาดใจชั่วครู่ ขณะเปิดกล่องนิทรรศการ 6 ตุลา เคลื่อนที่ ‘กล่องฟ้าสาง’ ก่อนจะหยิบวัตถุชิ้นแรกออกมาพร้อมกับใบหน้าเปื้อนยิ้ม และเล่าเรื่องจากความทรงจำ ในบางจังหวะแววตาที่สดใสถูกสวมทับด้วยความเจ็บปวด หม่นเศร้า ถึงอย่างนั้น ตลอดการพูดคุยกว่า 3 ชั่วโมง เราไม่เห็นน้ำตาที่ไหลมาอาบแก้ม แต่สัมผัสได้ว่ามีน้ำตาที่ไหลลงไปที่ใจ

แปรงทาสี กระปุกกาวแป้งเปียก และโปสเตอร์รณรงค์ทางการเมือง ที่ถูกเขียนขึ้นด้วยมือ เป็นของกลุ่มแรกที่ถูกหยิบขึ้นมา เขาเล่าถึงของเหล่านี้ว่า เป็นสิ่งที่นักกิจกรรมแทบทุกคนจะต้องได้หยิบจับ ถือเป็นงานแรกรับที่ทุกคนจะได้ทำ ในสมัยนั้นการพิมพ์โปสเตอร์ยังมีราคาแพงจึงต้องใช้วิธีเขียนเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ต้องใช้แป้งเปียกก็เพราะทำขึ้นเองได้ไม่ยาก และมีประสิทธิภาพเกาะติดทนทาน 

“มันเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สุด สำหรับคนทำกิจกรรมยุคนั้น เด็กที่ทำกิจกรรมยุคนั้นจะรู้ว่านี่คือ อาชีพเก่าของพวกเรา โปสเตอร์ในยุคที่ผมเข้าธรรมศาสตร์ปี 17 ตอนนั้นยังใช้ปากกาเคมีเขียนกันอยู่ ของพวกนี้คืออุปกรณ์พื้นฐานเลยนะ ตอนทีมงานเขามาบอกว่าจะทำกล่องนิทรรศการผมก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะทำกันยังไง เออ เข้าใจคิด แล้วในนี้ยังจะมีอะไรอีก”

สุขุม เลาหพูนรังษี
  • เปิดกล่องฟ้าสาง นิทรรศการเคลื่อนที่ในยุคโควิด (2564)

สุขุมพูดพร้อมหยิบสิ่งของแต่ละชิ้นออกมาเรื่อยๆ พร้อมกับเล่าเรื่องราวไม่ขาดสาย มีน้อยชิ้นที่เขาเองก็จำไม่ได้ว่าคืออะไร ส่วนใหญ่จะจำได้แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชื่อคนในภาพ เหตุการณ์ และเรื่องราวที่อยู่ลึกเข้าไปในสิ่งของเหล่านั้น 

ของอีกสิ่งที่เขาหยิบมาพร้อมพูดด้วยความภูมิใจคือ ผ้า 3 ชนิด กระเป๋ากางเกงยีนส์ - กระเป๋าเสื้อม่อฮ่อม - กระเป๋าเสื้อนักศึกษา ในมุมมองเขามันสัญลักษณ์แทนเข็มมุง 3 ประสาน กรรมกร-ชาวนา-นักศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวของคนในยุคนั้นที่ต้องการรวมพลัง 3 ส่วนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่เพียงแต่การเอ่ยถึงปัญหาของกรรมกร และชาวนาบนเวทีของปัญญาชนเท่านั้น สุขุมให้ภาพของความเอาจริงเอาจังในการทำงานของนักกิจกรรมรุ่นก่อนผ่านเพื่อนที่เขาเรียนมาพร้อมกัน แต่อยู่ก็หายหน้าไปเป็นเดือนๆ  กลับมาเจอกันถึงได้รู้ว่า เพื่อนไปทำงานอยู่ที่โรงงาน ไม่ก็ไปใช้ชีวิตเป็นชาวบ้าน เรียนรู้ทุกปัญหาด้วยการเดินเข้าไปหามัน พร้อมไปกับปลุกให้พวกเขาลุกขึ้นสู้

“เพื่อนผมหลายคนหายไปจากมหาวิทยาลัย หายไปเลย มารู้ทีหลังว่า บางคนก็ไปเป็นชาวนา ก็คืออกไปอยู่ชนบทกับชาวนา หายไปทีเป็นเดือน กลับมานี่เนื้อตัวดำมะเมื่อมมาเลย บางคนไปใช้ชีวิตเป็นกรรมกร ก็คือทิ้งการศึกษา ไปสู่โรงงาน โรงนา”

“สมัยนั้นมันทุ่มเทกันจริงๆ เพื่อนผมบางคนยอมโดนรีไทร์ แล้วสมัยก่อนเข้ามหาลัยไม่ได้ง่ายแบบนี้นะ ต้องสอบเอนทรานซ์ พลาดแล้วพลาดเลย อีกอย่างสมัยนั้นมันมีการจัดตั้งในกลุ่มต่างๆ ทั้งนักศึกษา และนักเรียน อย่างนักเรียนเขาก็มีศูนย์นักเรียน คนเหล่านี้จะยอมที่ไปสอบเข้าเรียนในสถาบันต่างๆ ตามความจำเป็นของการต่อสู้ เช่น เด็กคนหนึ่งเรียนเก่งมาก แต่ ‘จัดตั้ง’ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ประชุมกันแบบตัดสินใจร่วมกันมองเห็นว่า ควรไปสอบเข้าเรียนที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ หรือไปเรียนราม หรือโรงเรียนช่างกล เพราะเห็นว่าคณะนี้ยังไม่มีแกนของเรา ก็จะส่งคนเข้าไปทำงานกับนักศึกษาในที่ต่างๆ  เด็กทุกคนก็ยอมรับ เพราะผ่านการหล่อหลอม และรับการบ่มเพาะเรื่องการต่อสู้มาระยะหนึ่งแล้ว”

ดูจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับคนในยุคนี้ และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาโครงสร้าง รูปแบบการทำงานของนักกิจกรรมในอดีตมาสวมทับยุคสมัยปัจจุบัน แต่สุขุมอธิบายให้เห็นถึงปัจจัยรายล้อมต่างๆ ที่ขมวดกันหาเข้าจนผู้คนยุคนั้นมองเห็นความจำเป็นของการต่อสู้ การต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจเผด็จการที่ก่อร่างสร้างตัวมานานกว่าทศวรรษ ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องสู้ยาว ด้วยปริมาณ และคุณภาพของคน

“ยุคนั้นมีข้อได้เปรียบคือ มันเป็นยุคของอุดมคติ คือยุคหลังสงครามเวียดนาม เป็นยุคอุดมคติสังคมนิยมที่เข้ามาอิทธิพลมา คนที่เป็นปัจเจกชน มีไหม ก็มี แต่ว่ามันถูกกระแสหลักของสังคมซึ่งคือกลุ่มนักกิจกรรมครอบงำ จนทุกคนมันมีเป้าหมายอันเดียวกัน ทุกคนเห็นสิ่งดีงาม เห็นสังคมที่ดีงามแบบเดียวกัน ที่สำคัญในขบวนจะมีกระบวนการที่ลดความขัดเเย้งโดยใช้การวิจารณ์เพื่อน แล้ววิจารณ์ตนเองในการทำงาน แต่ที่สำคัญที่สุด มันมีชีวิตรวมหมู่ที่เข้มข้น กินข้าวด้วยกัน นอนอิเหละเขะขะด้วยกัน มันก็เกิดความรักความสามัคคีที่ไม่ต้องบังคับ ความขัดเเย้งก็มีเป็นเรื่องปกติ แต่แก้ปัญหากันได้”


จากเด็กหัวกะทิ สู่นักกิจกรรมผู้สมาทานแนวคิดสังคมนิยม

หลังปิดกล่องฟ้าสางลง เราชวนสุขุมเปิดกล่องถัดไปต่อทันที กล่องใบนี้ไม่มีวัตถุ หากแต่เป็นกล่องความทรงจำที่เขาเก็บไว้กับตัวมากว่า 45 ปี

สุขุมเข้าที่ธรรมศาสตร์ในปี 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก่อนหน้านั้นเขาเป็นนักเรียน มศ.5 อยู่ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และได้มีโอกาสเข้าร่วมการชุมนุมในช่วง 14 ตุลา 

การร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ในครั้งนั้นเองที่จุดชนวนให้เด็กหนุ่มที่กำลังเลือกเส้นทางชีวิตให้เข้ามาใช้ชีวิตในรั้วธรรมศาสตร์ ไม่ใช่ในฐานะคนเรียนหนังสือ หากแต่เป็นการใช้ชีวิตในฐานะนักกิจกรรม พูดอย่างตรงไปตรงมาสุขุมถูกมนต์สะกดเข้าอย่างจังเพราะตลอดระยะกว่า 10 ปีภายใต้รัฐบาลจอมพลถนอม เขาไม่เคยเห็นใครกล้าลุกขึ้นด่าผู้นำเผด็จการอย่างออกรสได้เท่ากับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และดาวไฮด์ปาร์คอีกหลายคน คำพูดที่กระแทกเข้ามาในหัวใจและทำให้เขาลงหลักปักหมายว่าจะต้องเข้าเรียนที่นี่ให้ได้คือคำพูดที่ว่า “ที่นี่คือธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว”

เพราะอะไรเด็กหนุ่มคนหนึ่งถึงประทับใจกับคำพูดเรื่องเสรีภาพนี้นักหนา ทั้งที่ในความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ดูจะกลายเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อดาดๆ เท่านั้น หากเทียบเคียงกับสถานการณ์การขอใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ถูกปิดกั้นโดยผู้บริหารสถาบัน 

นักศึกษา
  • ที่มา : เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา

สุขุมเล่าให้เห็นถึงสภาพสังคมการเมืองในเวลานั้นว่า ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่ต่อเนื่องและยาวนาน สังคมไทยเผชิญหน้ากับสภาวะการกดทับทางปัญญา องค์ความรู้ต่างๆ ถูกแบ่งแยกจัดประเภทว่าอะไรรู้ได้ อะไรกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เสรีภาพจึงกลายเป็นสิ่งที่คนถวิลหา

คำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ ถูกทำให้เป็นปีศาจร้าย มีโปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ติดอยู่ทุกห้องเรียน มีการสั่งสอน ปลูกฝัง ชี้นำว่า คอมมิวนิสต์จะทำลายศาสนา จับคนไปทำนา จับพระไปไถนา เขาเติบโตขึ้นมาในสถานะของเด็กที่ถูกสั่งห้ามมาตลอด จนกระทั่งกรงขังปัญญาทลายลง

“หลังได้รับชัยชนะ 14 ตุลาฯ บรรยากาศมันเหมือนกับระเบิดที่แตกออก ความอัดอั้นทางปัญญา ความกระหายใคร่รู้ที่ถูกบีบอัดมากว่า 10 ปีก็ระเบิดออก บรรยากาศแห่งสิทธิเสรีภาพ การแสวงหาก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ผมจำได้เลยหนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ที่ผมอ่านคือ สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง ผมเปิดอ่านครั้งแรกไม่รู้เรื่องเลย พูดอะไรก็ไม่รู้ แต่เวลาถือไปไหนมันเท่จริงๆ”

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คอมมิวนิสต์เปลี่ยนจากปีศาจ กลายมาเป็นความเท่ของยุคสมัยได้ สุขุมเห็นว่าเป็นเพราะสงครามตัวแทนในเวียดนามเริ่มใกล้ถึงจุดจบแล้ว กระแสสำนึกของผู้คนในยุคนั้นมองเห็นสหรัฐอเมริกาที่เข้ามารุกรานในเวียดนามเป็นภัย จึงทำให้สังคมนิยมอยู่ในกระแสสูง ขณะเดียวกันสภาวะกดทับภายในประเทศก็กลายเป็นแรงเหวี่ยงด้านกลับ ยิ่งปิด ยิ่งอยากรู้ ยิ่งห้าม ยิ่งอยากทำ พูดให้ง่ายที่สุดการกดทับได้ปลุกวิญญาณขบถในตัวคนหนุ่มสาวขึ้นโดยตัวของมันเอง

“บรรยากาศที่ถูกบีบอัดมานานมันระเบิดออก มันก็จะสวิงเหมือนนาฬิกาลูกตุ้ม ถ้าลูกตุ้มหมุนไปทางขวามากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งสะสมพลังศักย์ และเหวี่ยงกลับมาทางซ้ายเเรงมากเท่านั้น”

สุขุม ยังเล่าอีกว่า เขาเลือกสอบเข้าธรรมศาสตร์เพียงแห่งเดียว ทั้งที่สมัยนั้นเลือกได้ 7 อันดับ เพราะ “ตอนนั้นผมบ้า ไม่ได้ก็ไม่เรียน” แต่โชคดีที่เข้าสอบติด และได้คะแนนเป็นอันดับสองของธรรมศาสตร์ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาเป็น 1 ใน 10 คนที่ได้รับทุนภูมิพล แน่นอนนี่คือหัวกะทิ เขานั่งนับนิ้วไป 4 ครั้งแล้วพูดขึ้นอีกว่าจาก 10 คน มี 4 คนที่มาทำกิจกรรมด้วยกัน 

“ผมเข้ามาก็เริ่มทำกิจกรรมเลย เพราะมันรู้สึกว่านี่คือตักศิลาของเราเล้ว แล้วเพื่อนผม พวกที่ได้ทุนภูมิพลมี 10 คน แยกเป็นสายวิทย์ สายศิลป์ อย่างละ 5 ทุน มีที่มาทำกิจกรรมกับผม 4 คน พอจะพูดได้ว่าถ้าไม่บ้าเรียนมากๆ พวกหัวกะทิมันเทมาทางนี้หมดเลยนะในเวลานั้น”

“เราก็จะมานั่งถกเถียงทฤษฎีการเมือง อ่านหนังสือมาก็มาเถียงกัน ขณะเดียวกันเราก็เข้าไปร่วมการต่อสู้กับประชาชน แล้วปรัชญาความคิดแบบสังคมนิยมก็ค่อยๆ เข้ามา มันเข้ามาโดยการศึกษาด้วยส่วนหนึ่ง และเราเองก็เห็นว่ามันตอบโจทย์สังคมไทยที่อดอยาก ยากจน คนงานสมัยก่อนได้ค่าแรงวันละ 8 บาท ทำงาน 12 ชั่วโมง ห้องน้ำทั้งโรงงานที่มีคนงานหลายร้อยคนมีอยู่ 2 ห้อง น้ำดื่มก็ไม่มี ต้องไปรองน้ำในส้วมกิน ชาวนาไม่มีที่ดิน โดนโกง ถูกกดราคา ไม่มีอำนาจต่อรอง เหล่านี้เริ่มตะล่อมเราให้คิดอย่างนี้ และมันต้องต่อสู้ คุณจะไปเรียกร้องอ้อนวอนให้นายทุนเขายอมเสียผลประโยชน์ไม่มีทางเป็นไปได้ มีแต่ต้องสู้”


เริ่มทำละครเพราะเพื่อนยุ การชุมนุมต้องการความบันเทิง

นอกจากการถกเถียงแนวคิดทฤษฎี ไปม็อบ ออกปฏิบัติการเขียนโปสเตอร์ นำไปติดด้วยแป้งเปียกแล้ว สิ่งหนึ่งที่กลายมาเป็นตัวตนของเขาในเวลาต่อมาคือ การเขียนบทละคร และการแสดงละครล้อการเมือง 

ละครเรื่องแรกของเขาคือ ละครที่ทำขึ้นเพื่อประท้วงการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ในช่วงรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ จากคนที่ไม่เคยเขียนบทหรือแสดงละครมาก่อน ในช่วงนั้นการชุมนุมจะมีแต่การปราศรัยเพียงอย่างเดียว และคนที่มาชุมนุมก็เริ่มเบื่อ รู้หมดแล้วว่าจะพูดอะไร เพื่อนคนหนึ่งโยนโจทย์ใหญ่มาให้เขา “เฮ้ย ขุม มึงทำละครมาแสดงหน่อย เอาน่ามึงทำได้”

ด้วยความเป็นคนบ้ายุ เขาจึงใช้ประสบการณ์ทั้งหมดจากที่เคยเขียนกลอน ดูละคร ลิเก โขน ลำตัด งิ้ว มาดัดแปลงเป็นละครหนึ่งเรื่อง และเดินไปขอให้เพื่อนชมรมดนตรีไทยอัดเสียงพิณพาทย์ให้ มีเวลาซ้อม 4-5 วัน ผลปรากฎว่าคนดูเฮฮา ปรบมือกันยกใหญ่ นั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ว่าที่นักกฎหมาย กลายเป็นผู้เขียนบทละคร และจัดตั้งคณะละคร ‘ตะวันเพลิง’

เขาเรียกละครเรื่องนั้นว่า ‘ละครสลึงเดียว’ เพราะเป็นละครที่ใช้ประท้วงการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์จาก 75 สตางค์เป็น 1 บาท ในยุคสมัยนี้ฟังดูอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พูดให้เห็นภาพค่าเงินในเวลานั้น ก๋วยเตี๋ยวขายกันชามละ 3 บาท ข้าวราดแกง 1 อย่าง 3 บาท 2 อย่าง 4 บาท กรรมกรทำงานวันละ 12 ชั่วโมงได้ค่าแรง 8 บาทต่อวัน การขึ้นค่ารถเมล์แม้เพียง 1 สลึง ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของคนมีรายได้น้อย และก่อนหน้านี้ก็เพิ่งขึ้นค่ารถเมล์ไปแล้วครั้งหนึ่ง ส่วนนักแสดงสุขุมก็หยิบจับเพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้ตัว หนึ่งในนั้นมี รสนา โตสิตระกูล ร่วมแสดงด้วย

แม้ละครที่ทำออกมาจะยังไม่ใช่ระดับมืออาชีพ แต่เสียงตอบรับที่ดีก็เพียงพอให้สุขุมและเพื่อนเห็นว่า ละครคือ การสื่อสารที่ทรงพลังอีกทางหนึ่ง จากนั้นเขาและคณะได้มีโอกาสไปเรียนการแสดงละครอย่างจริงจังกับ อาจารย์คำรณ คุณะดิลก ครูผู้ก่อตั้งพระจันทร์เสี้ยวการละคร โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ขณะที่ลงสนามจริง เรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติมไปด้วย

“ที่ไหนมีม็อบกรรมกร อ้อมใหญ่ อ้อมน้อย ที่ไหนมีการประท้วงเราไปหมด ระหว่างที่เราไปแสดงให้กรรมกรดูก็เห็นปัญหาของพวกเขา สวัสดิภาพห่วย ค่าแรงต่ำ อยู่กินกันน่าสงสาร ถ้าคุณอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง คุณต้องไปดูยูทูปพวกกรรมกรในโซมาเลีย มันเป็นอย่างนั้นจริง ลำบากมาก ขณะเดียวกับเราก็เก็บรับเอาสิ่งที่เขาเปิดให้เราเห็นมาเป็นวัตถุดิบในการเขียนละคร เป็นการศึกษาไปในตัว”

เรียกได้ว่าชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเขาแทบจะไม่ได้เข้าเรียน แต่โชคดีที่เพื่อนคอยผลักดันให้ไปร่วมติวก่อนสอบจนสอบผ่าน แต่เพื่อนบางคนที่ทำกิจกรรมก็ยอมโดนรีไทน์ บางคนแม้ไม่ค่อยได้เข้าเรียนแต่ผลสอบออกมาได้เกรด 4 ทุกวิชา หนึ่งในนั้นคือ เกษียร เตชะพีระ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง สุขุมเล่าวว่าเขาเรียกเกษียรซึ่งเป็นรุ่นน้องว่า “ไอ้สี่” เพราะได้เกรด 4 ทุกวิชา


‘การแสดงแขวนคอ’ ดาวสยาม-ยานเกราะ ปลุกปั่นหมิ่นรัชทายาท

เราเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า การแสดงแขวนคอที่กลายเป็นชนวนเหตุของ 6 ตุลา ถือเป็นละครเรื่องสุดท้ายหรือไม่ คำตอบที่ได้รับในอีก 1 ชั่วโมงถัดมาคือ ไม่ใช่ 

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา สุขุมถูกบีบให้ต้องเข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย (พคท.) และใช้ชีวิตอยู่ในเขตป่าเขา หน้าที่ของสุขุมยังเป็นคนเขียนบทและแสดงละครอยู่เช่นเดิม และละครเรื่องสุดท้ายที่เขาแสดงก็เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้เขาต้องออกจากป่าอีกเช่นกัน แต่ก่อนที่จะไปถึงชีวิตในเขตป่าซึ่งจะเล่าต่อไปในตอนที่ 2 สุขุมชวนย้อนกลับไปวันที่ 4 ต.ค. 2519 อีกครั้ง เพื่ออธิบายให้เห็นภาพว่า ละครแขวนคอนั้นมีความเป็นมาอย่างไร

19 ก.ย. 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำรัฐบาลเผด็จการที่ถูกเขี่ยออกจากอำนาจหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  ได้เดินทางกลับเข้าไทยพร้อมครองจีวรในฐานะสามเณร และเพียง 5 วันหลังจากนั้นปรากฏข่าวพนักงานการไฟฟ้า 2 คนถูกฆ่าแขวนคออยู่ที่ประตูแดง กลางไร่แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม หลังจากพวกเข้าออกไปติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับมาของถนอม นี่คือสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง 

การกลับมาของจอมพลถนอม และการฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าถือเป็นเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้นักกิจกรรมในธรรมศาสตร์เริ่มจัดม็อบอีกครั้ง ทว่าในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่นักศึกษามีสอบพอดี พวกเขาจึงคิดหาวิธีที่จะดึงความสนใจของเหล่านักศึกษา ทั้งการรณรงค์หยุดสอบและหาสิ่งที่จะดึงดูดความสนใจของคนได้ สุดท้ายก็มาจบที่การแสดง แต่ในเวลานั้นสุขุมเป็นรุ่นพี่แล้ว ไม่ได้เป็นหัวเรือใหญ่ของคณะละครเหมือน 2 ปีแรก เขาจึงมีหน้าที่ให้คำปรึกษา เสนอแนะ และสนับสนุนการทำกิจกรรมของรุ่นน้องเท่านั้น 

“ละครแขวนคอในวันที่ 4 ตุลาคม จริงๆ มันไม่ใช่ละครนะ มันไม่มีบท ไม่มีการซ้อม ไปถึงก็แสดงเลย เพียงแต่ว่ามีการเตี๊ยมกันนิดหน่อยก่อนขึ้นแสดง ใครจะเป็นถนอมที่บวชเข้ามา ใครจะเป็นทหาร ใครจะเป็นประชาชนที่ถูกยิงตายในวันที่ 14 ตุลา แค่นี้เองแล้วทุกคนก็ขึ้นไปไหลกันที่ลานโพธิ์”

ดาวสยาม

“วันที่ 4 ช่วงสายๆ ผมเดินเข้าไปที่ชุมนุมนาฏศิลป์ เขาก็เล่าให้ผมฟังว่าจะทำหุ่นแขวนคอ ผมก็ เฮ้ย ทำไมไม่ใช้คนแสดงไปเลย ผมก็เล่าให้เขาฟังว่าผมเคยดูหนังเรื่อง ปาปีญอง (Papillon 1973) เวอร์ชั่น สตีฟ แม็คควีน แสดงร่วมกับดัสติน ฮอฟแมน มันมีอยู่ฉากหนึ่งที่ปาปีญองแขวนคอในคุก ผู้คุมตกใจเลยรีบเปิดประตูห้องขังเข้าไปแล้วก็โดนเตะ ปาปีญองก็หนีออกมาได้ ผมเสนอเขาไป แต่ทำยังไงก็ยังไม่รู้ รู้สึกแค่ใช้หุ่นมันดูไม่สมจริง รุ่นน้องเขาก็ช่วยกันคิด สุดท้ายก็เอาผ้ามาคาดหน้าอกผูกขึ้นไป แล้วก็ทำเงื่อนหลอกมาผูกไว้รอบคอแค่นั้นเอง เขาก็เรียนรู้กันตรงนั้น แล้วก็เอาเครื่องสำอางมาแต่งหน้าให้คนแขวนคอดูฟกซ้ำดำเขียว เอาดินสอเขียนคิ้วมาเขียนข้อมือให้ดูเป็นรอยกุญแจมือ”

“คนแสดงตอนแรกมีแค่คนเดียวคือ เฮียวิโรจน์ (ตั้งวาณิชย์) แล้วต้นไม้ที่จะขึ้นไปแขวนใช้ต้นโพธิ์ก็ไม่ได้ มันสูงเกินไป ตอนนั้นยังต้นไม้เล็กต้นหนึ่ง ฉะนั้น คนแสดงอีกคนก็ต้องตัวเล็กพอๆ กับเฮียวิโรจน์ พอดีชุมนุมผมมันเป็นที่ตั้งของชุมนุมดนตรีไทยด้วย วันนั้นเจอ เจี๊ยบ อภินนันท์ (บัวหภักดี) เขาเป็นคนเป่าขลุย แล้วเขาก็ตัวเล็กพอดี เลยชวนกันมาแสดง ตอนแรกเขาปฏิเสธเพราะมีนัดแล้วรีบออกไป ในจังหวะนั้นพอดีมีเด็กขายหนังสือพิมพ์ที่เข้ามาในธรรมศาสตร์ มาดูการซ้อมละคร เขามาขอแสดงแทน เราก็ไม่มีตัวเลือกกำลังตัดสินใจจะให้ไอ้เด็กคนนี้แสดง สุดท้ายอภินันท์เดินกลับมา ผมก็บอก เฮ้ย เจี๊ยบ เอาน่าช่วยกันหน่อย เขาก็ยอม ได้ๆ เพราะเขาเพิ่งโดนเพื่อนเลิกนัด ก็เลยรีบจับเจี๊ยบแต่งหน้า”

“พอถึงเวลาแสดง เนื่องจากมันสมจริง คนก็มามุงดูกันว่าพวกนี้มันทำอะไรกัน นักศึกษาปีหนึ่งพักเที่ยงก็ลงมาดู นักข่าวก็มาดู อาจารย์ก็มายืนดู คนมาดูกันเป็นร้อย ไม่มีใครสักคนพูดว่ามันเป็นการล้อเลียนหรือหมิ่นอะไร ไม่มีเลย เราเองก็ยังรู้สึกว่าพวกนี้มันแสดงดี”

“แต่ในเย็นวันที่ 4 หนังสือพิมพ์ดาวสยามเริ่มโจมตีเรื่องการเล่นละครหมิ่นรัชทายาท พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น วันที่ 5 ผมก็ไปธรรมศาสตร์แต่เช้า ตอนนั้นเริ่มมีม็อบ มีประชาชนมาร่วม น้องที่ชุมนุมวิ่งมาบอก พี่ขุม มีข่าวว่าดาวสยามมันเเอาเรื่องนี้ไปขยายเป็นเรื่องการหมิ่น เราก็ยังหัวเราะ เฮ้ย มันจะไปเหมือนได้ยังไง พอเดินไปที่ชุมนุม ประธานชุมนุมก็บอกว่า ขอให้แสดงอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ว่าเราไม่ได้มีเจตนาจะหมิ่นอะไร แต่วันนั้นหาเจี๊ยบไม่เจอ ก็เลยมีแค่เฮียวิโรจน์ขึ้นแขวนคอคนเดียว แล้วผมก็ขึ้นไปเป็นตัวประกอบเล็กๆ น้อยๆ ทำไปเพื่อยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ของเรา”

หลังจากทำการแสดงเพื่อพิสูจน์ตัวเองจบไปในวันที่ 5 สถานการณ์ก็ยังคงปกติ แต่เริ่มมีม็อบนอกมหาลัยที่สนามหลวงแล้ว สุขุมประเมินสถานการณ์ว่ารอบนี้คงสู้กันอีกยาว จึงกลับบ้านไปเขียนบทละครเรื่องใหม่ก่อน จากเย็นวันนั้นสุขุมนั่งเขียนบทละครจนดึก จนกระทั่งรู้ข่าวอีกทีในช่วงเช้า 


“ภาพนั้นผมจำจนวันตาย” ลากศพมาเผา 

“เช้าวันที่ 6 ตั้งแต่เช้ามืด ที่บ้านผมมาตะโกนเคาะประตูสนั่น อย่าไปธรรมศาสตร์นะ อย่าไปธรรมศาสตร์ เขายิงกันแล้ว ผมก็รีบเปิดวิทยุ กี่คลื่นกี่คลื่นตอนนั้นมันถ่ายทอดมาจากสถานียานเกาะแห่งเดียวเลย หมุนไปกี่คลื่นมันก็เจอ อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา , อุทิศ นาคสวัสดิ์ , ทมยมตี พวกนักปลุกระดมทั้งหลายพูดกรอกหู คุณไม่มีสิทธิปฏิเสธการสื่อสารของเขาได้เลย พอรู้ว่ามีการยิงกันแล้ว เราในฐานะรุ่นพี่ ในฐานะที่มีส่วนรับผิดชอบการแสดงตรงนั้นอยู่ ก็รีบเปลี่ยนเสื้อผ้าขึ้นรถเมล์ไปธรรมศาสตร์ ตอนนั้นก็ยังไม่คิด ไอ้ช่วงก่อนหน้านี้มีม็อบมีอะไรมันก็มียิงกันธรรมดา เป็นเรื่องปกติ ปาระเบิด ไม่คิดว่าจะร้ายแรงอะไรมาก”

“ผมลงรถตรงแถวสะพานผ่านพิภพลีลา แล้วก็เดินมาใกล้ๆ พระแม่ธรณีบีบมวยผม เห็นคนยืนมุงอะไรกันอยู่ เห็นควันลุก ไฟลุก เขาดูอะไรกัน ก็เลยเดินแวะเข้าไปดู ภาพที่เห็นคือ ศพ 2-3 ศพ ถูกเผาโดยใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อเพลิงเผาจนดำเป็นตอตะโก ไม่รู้เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เด็กหรือแก่ คนที่ยืนล้อมรอบศพ ก็คือลูกเสือชาวบ้าน ทุกคนผูกผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้าน แล้วก็ด่าตะโกน ไอ้พวกญวณ ไอ้แกว ไอ้พวกคอมมิวนิสต์ ด่ากันหยายๆ คายๆ บางคนไปเอายางรถยนต์มาจากที่ไหนมารู้ไปโยนเพิ่ม ภาพนั้นผมจำจนตายเลย”

6 ตุลา
  • ที่มา : เว็บไซต์ บันทึก 6 ตุลา

“ภาพนั้นผมจำจนตายเลย” วินาทีก่อนที่คำนี้หลุดจากปาก เขาสูดลมหายใจลึก น้ำเสียงแปร่งไปจากเดิม แววตาของชายวัย 60 กว่าปีเริ่มเปลี่ยนไปคล้ายกับมีน้ำคลออยู่ แต่เราไม่เห็นมันไหลมาอาบแก้ม ดูเหมือนเขาพยายามควบคุมไม่ให้ไหลลงมา ไม่นานนัก เขากลับมาเล่าเรื่องต่อ น้ำตาที่คลออยู่หายไปแล้ว แต่ไม่แน่ชัดว่าเขาเก็บมันไว้ตรงไหน บางทีอาจเป็นหัวใจ หรือบางทีอาจจะเป็นจิตวิญญาณของนักสู้ในวัยหนุ่ม

“จากนั้นผมก็เดินผ่านสนามหลวงไปที่ข้างหอประชุมใหญ่ พื้นหญ้ามันเป็นรอย เหมือนเวลาเกิดอุบัติแล้วเขาเอาสเปรย์มาฉีดคล้ายรูปคน แต่ที่ผมเห็น มันไม่ใช่สีสเปรย์ มันเป็นสีของเลือกที่ชุ่มนองอยู่เต็มพื้นหญ้าเป็นรูปร่างคน แล้วก็ได้ยินคนที่ยืนอยู่ตรงนั้นคุยกันว่า เอามันไปแขวนคอแล้ว เขาบอกคนข้างๆ ผมทำได้แค่ยืนเซ่ออยู่ตรงนั้น มันอะไรขนาดนี้ แต่ผมก็ไม่เห็นภาพการแขวนคอ ถ้าผมเห็นผมคงช็อคอยู่ตรงนั้น”

สักพักก็มีรุ่นน้องของเพื่อนมาสะกิดสุขุมให้รีบหลบออกจากพื้นที่ เพราะกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย เนื่องจากอาจจะมีคนจำหน้าเขาได้ เขาจึงรีบกลับบ้าน

“ผมนั่งรถกลับก็รู้แล้วว่ามันต้องรัฐประหาร ถ้ามันทำในธรรมศาสตร์ได้ขนาดนี้ รัฐประหารแน่ และคงกวาดจับแน่ วันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่ผมได้นอนบ้าน ก่อนจะหลบไปอยู่กับพี่คนหนึ่งที่รู้จักกัน ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเพื่อนเรา น้องเราเป็นยังไงบ้าง ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเลย ก่อนออกจากบ้านผมหอบแฟ้มบทละครตะวันเพลิงที่ผมเขียนไว้เป็นปีๆ ออกมาด้วย มีร้อยกว่าเรื่อง ผมรักมันมาก”

ุสุขุม เลาหพูนรังษี

“ผมกบดานอยู่ที่บ้านพี่ได้ 3-4 วัน ก็มีหมายจับผม อ้างว่าผมเป็นคนแต่งหน้าให้คนแสดงแขวนคอ ก่อนหน้านั้นก็มีข่าวมาเรื่อยว่าไปจับคนนั้น คนนี้ ผมคิดว่าอีกไม่นานก็สืบเจอ แล้วพี่ที่ผมพักอยู่ด้วยจะเดือดร้อนด้วย พวกหนังสือต้องห้ามอะไรผมก็ไม่มี มีแค่บทละคร ด้วยความกลัว ผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ก็คิดไปว่าถ้ามันจับแล้วเจอละครพวกนี้ มันจะต้องเอาไปเป็นพยานหลักฐานแล้วจะเดือดร้อนถึงพี่เขาด้วย ผมก็ต้องทำลาย”

“บทละครร้อยกว่าเรื่องนะ แล้วที่พักเป็นห้องแถวสร้างใหม่ เราก็ไม่รู้จะเอาไปเผาตรงไหน ผมก็เอากะละมังใส่น้ำให้เต็ม เอาแฟ้บโรยไปสามกำมือ แล้วฉีกบทละคร คุณลองนึกดูสิ บทละครที่ผมเขียนมาเป็นปีๆ ผมฉีกมันแล้วแช่ไปในน้ำแฟ้บ รอจนมันเปื่อยก็ช้อนขึ้นมาขยำๆ ยัดลงโถส้วม ราดน้ำตาม... มันเหมือนจิตวิญญาณของเราถูกราดลงไปในโถส้วมด้วย ก็ตอนนั้นที่เราตัดสินใจแล้วว่า มันอยู่ไม่ได้แล้วสังคมแบบนี้” 

จากวันนั้นผ่านไปหนึ่งปี ชีวิตของนักกิจกรรมคนหนึ่งก็ได้เข้าไปยังสถานที่แห่งใหม่ พื้นที่ที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เข้าไปมาก่อน ใช่ สุขุมเลือกเดินทางเข้าป่าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ แม้ชีวิตในป่าจะให้ทั้งรอยยิ้มและน้ำตากับเขา แต่เขาก็ยืนยันว่า ที่เลือกทางนี้เป็นเพราะผู้มีอำนาจไม่เหลือทางอื่นๆ ให้พวกเขาเลยนอกจากคุก ความตาย และการเข้าป่า

“มันไม่เหลือทางให้เราเลือก วินาทีนั้นบอกกับตัวเองว่า กูไม่อยู่แล้ว ผมเข้าป่าไม่ใช่เพราะมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่เลย แต่เพราะฝ่ายอำนาจรัฐไม่เปิดโอกาส ไม่เหลือทางเลือกให้ผมเลือกเลย ถ้าคุณไม่ถูกจับเข้าคุก คุณก็ต้องไปอยู่อีกฟากหนึ่ง ไม่มีทางเลือกที่สามในสังคมไทย ด้านขวามันเบียดคุณมาจนติดกำแพงแล้ว ถ้าคุณไปทะลุไปด้านซ้าย คุณก็โดนอัดก๊อปปี้ตายอยู่ตรงนั้น”


โปรดติดตามต่อตอน 2