นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา ประธานศูนย์ข้อมูลยาสมุนไพรการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ฤดูร้อนถือเป็นช่วงวิกฤตที่สุดแห่งปีสำหรับผิวพรรณ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว รังสีต่างๆ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มากระทบกับเซลล์ผิว โดยเฉพาะผิวหน้า ซึ่งเป็นส่วนแรกของการพบปะผู้คน ช่วงฤดูร้อนมักจะเจอปัญหาผิวไหม้จากแสงแดด เกิดฝ้า กระ ผิวหน้าหมองคล้ำไม่สดใส วัยรุ่นมักมีสิวขึ้นช่วงนี้ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ขาดความมั่นใจในตัวเอง
ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรมาใช้ในการประทินผิวหน้ากันมากมาย ซึ่งสมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณในการดูแลผิวที่แตกต่างกัน จึงขอแนะนำวิธีการพอกหน้าด้วยสมุนไพรให้เหมาะกับสภาพผิวของแต่ละคนในช่วงฤดูร้อน ดังนี้
ผู้ที่มีผิวแห้ง ผิวมักจะเกิดการอักเสบ เกิดริ้วรอย และเกิดฝ้าได้ง่าย ให้ใช้ใบเตยหอม 3 ใบ ปั่นกับน้ำ 2 ช้อนโต๊ะ ใบบัวบก 3 ใบ ปั่นกับน้ำ 1 ช้อนโต๊ะ ดินสอพองสะตุ (ฆ่าเชื้อแล้ว) 3 ช้อนโต๊ะ (ช่วยลดการอักเสบของเซลล์ผิว ช่วยกระชับรูขุมขน) น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ (ช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น) ผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน นำมาพอกหน้า 15 – 20 นาที เว้นรอบดวงตาและริมฝีปาก แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ข้อควรระวัง สำหรับคนผิวแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการขัดหน้าบ่อย ๆ เพราะจะทำให้เกิดฝ้าได้ง่าย และหลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรรสเปรี้ยว เพราะทำให้ผิวบางเกิดการอักเสบได้ง่าย
ผู้ที่มีผิวมัน ผิวมักจะเกิดสิว และรูขุมขนกว้าง ให้ใช้ดินสอพองสะตุ (ฆ่าเชื้อแล้ว) 3 ช้อนโต๊ะ (ช่วยกระชับรูขุมขน ลดสิวอักเสบ) น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ (ช่วยลดความมันบนใบหน้า ช่วยให้ผิวกระจ่างใส) น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ (ช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น) ผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน นำมาพอกหน้า 15 – 20 นาที เว้นรอบดวงตาและริมฝีปาก แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ข้อควรระวัง สำหรับคนผิวมัน ไม่ควรนวดหน้าหรือขัดหน้าในช่วงหน้าร้อน เพราะทำให้เพิ่มความมันและกระตุ้นการเกิดสิว ควรใช้สมุนไพรรสเปรี้ยว เพราะจะช่วยลดความมันบนใบหน้า
ผู้ที่มีผิวผสม สามารถเลือกใช้สมุนไพรได้หลายชนิด เช่น ใบย่านาง 6 ใบ คั้นกับน้ำ 2 ช้อนโต๊ะ ดินสอพองสะตุ (ฆ่าเชื้อแล้ว) 3 ช้อนโต๊ะ น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน นำมาพอกหน้า 15 – 20 นาที เว้นรอบดวงตาและริมฝีปาก แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
นอกจากนี้ นายแพทย์สรรพงศ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากการพอกหน้าด้วยสมุนไพรจะช่วยดูแลผิวหน้าให้กระจ่างใสแล้ว ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสขม เย็นจืด เช่น ฟัก แฟง แตง บวบ ตำลึง ผักบุ้ง ผักกาด ใบบัวบก ขี้เหล็ก สะเดา มะระ ย่านาง ฯลฯ ก็จะเป็นการช่วยคลายความร้อนจากภายในร่างกายเช่นกัน