ไม่พบผลการค้นหา
"สาเหตุทาง 'การเงิน' ตกไปอยู่อันดับที่ 6 ของตาราง ทั้งๆ ที่เรื่องค่าตอบแทนคือสิ่งที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด แต่กลับไม่จริงเสมอไป"

แม้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่มีสาเหตุหลักๆ มาจากการโรคระบาดและการทำสงครามของรัสเซียต่อยูเครน หลายคนอาจมองว่าการมีงานให้ทำคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะอย่างน้อยก็ยังมีหนทางที่จะสามารถหาเลี้ยงชีพได้ในยามคับขันเช่นนี้ที่คนหลายล้านต้องตกงาน แต่เชื่อหรือไม่ว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะ 'ลาออก' ขณะที่หลายคนไม่มีแม้แต่งานใหม่รองรับด้วยซ้ำ

สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ เผยตัวเลขที่ระบุว่าในเดือน ธ.ค.2564 ประชาชนมากกว่า 4.3 ล้านคนเลือกลาออกจากงานโดยสมัครใจในเดือนเดียว ซึ่งน้อยกว่าเดือนก่อนหน้า พ.ย.2564 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

การลาออกที่เกิดขึ้นสร้างช่องโหว่ขนาดใหญ่ให้กับตลาดแรงงาน ปัจจุบันพบว่ามีตำแหน่งงานเปิดรับมากราว 10.9 ล้านตำแหน่ง แต่มีการสมัครเข้าทำงานใหม่เพียง 6.3 ล้านตำแหน่งเท่านั้น 

ม็อบ - ผู้คน - สถานทูตเยอรมนี

แมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี (McKinsey & Company) บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์กและสำนักงานอีก 74 แห่งใน 38 ประเทศทั่วโลกทำการสำรวจพนักงานจำนวน 600 คนที่เลือกลาออกโดยไม่มีงานใหม่รองรับ พบว่ามากถึง 44% ระบุว่าพวกเขาไม่มีความต้องการกลับไปทำงานรูปแบบดั้งเดิมอีกอย่างน้อยในช่วง 6 เดือน

โลกเปลี่ยนไป ความท้าทายก็กำลังเปลี่ยนไปด้วย และที่สำคัญไม่เพียงแค่ความท้าทายที่ลูกจ้างต้องเผชิญเท่านั้น เพราะ 'นายจ้าง' ก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการค้นหาและรักษาทรัพยากรบุคคลเช่นกันโดยเฉพาะกลุ่มนายจ้างในองค์กรหรือบริษัทที่มีลักษณะการทำงานแบบดั้งเดิม บริษัทจะต้องรับมือกับความท้าทายนี้ด้วยกลยุทธ์แบบใหม่เพื่อ 'ดึงดูด' คนเก่งและ 'รักษา' พวกเขาไว้ให้ได้

เพื่อให้เข้าใจความต้องการของพนักงานหรือเหล่า 'Talents' ให้มากขึ้น แมคคินซีย์ได้ทำการสำรวจเหตุผลที่ว่าเพราะอะไร พนักงานจึงเลือกลาออกจากบริษัทแม้ไม่มีงานอื่นมารองรับ โดยสามารถแยกสาเหตุได้ดังนี้ คือ


เพราะพวกเขาเลือกที่จะลาออกได้

ในอดีตการลาออกจากงานอาจเป็นเรื่องใหญ่และน่ากลัว แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลาออกก็ค่อนข้างต่ำลงอย่างมาก ไม่มีการตีตราเช่นในอดีต และการการลาออกจากงานเดิมสู่ที่ทำงานใหม่ในระยะเวลาอันสั้นก็ไม่ได้ "น่าเกลียด" เช่นเคยอีกต่อไป 

พนักงานในหลายอุตสาหกรรมมีความมั่นใจมากขึ้นว่าพวกเขามีดีมากพอที่จะหางานใหม่ได้อีกครั้งเมื่อพวกเขาต้องการกลับมาทำงานในสถานการณ์ที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลในปัจจุบันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นนั้นให้กับผู้คน ส่งผลให้ระบบการจัดหางานแบบดั้งเดิมเริ่มเสื่อมสภาพลง อีกทั้งพวกเขายังมองเห็นว่าเพื่อนร่วมงานทั้งสาขาอาชีพเดียวกันและต่างกันต่างก็สามารถหางานใหม่ได้ "ทำไมฉันจะทำบ้างไม่ได้ล่ะ"


เพราะพวกเขารู้สึก 'ไม่พอใจ'

"หัวหน้างานไม่เคยแคร์" คือหนึ่งในเหตุผลหลักที่ผู้สมัครใจลาออกมักกล่าว รวมถึงความคาดหวังในเนื้องานที่มากเกินกว่าจะทำแบบยั่งยืนได้ รวมถึงการขาดความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เหล่านี้คือสิ่งที่บั่นทอนจิตใจจนผู้คนตัดสินใจลาออก

พนักงานจำนวนมากยังมีประสบการณ์ไม่ดีเมื่อเพื่อนร่วมงานของเขาถูกสั่งปลดหรือไล่ออกในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ส่งผลให้คนที่ยังเหลืออยู่ต้องรับภาระงานหนักกว่าเดิมหลายเท่าเพื่อผลิตผลงานทดแทนบุคคลที่ถูกเลย์ออฟออกไป เพื่อให้งานในภาพรวมดำเนินต่อไปได้

Unsplash - ออฟฟิศ ทำงาน WFH

ขาดการช่วยเหลือทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน

จากการจัดอันดับโดยรวม 'Uncaring Leader' หรือผู้นำที่ไม่ใส่ใจคือสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนลาออกจากงาน ตามมาด้วยความคาดหวังในผลงานที่มากเกินไปจนไม่ยั่งยืน ขาดความก้าวหน้า ขาดการทำงานที่มีความหมาย และขาดการดูแลเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี ขณะที่สาเหตุทาง 'การเงิน' ตกไปอยู่อันดับที่ 6 ของตาราง ทั้งๆ ที่เรื่องค่าตอบแทนคือสิ่งที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด แต่กลับไม่จริงเสมอไป


สภาพจิตใจย่ำแย่-ความเหนื่อยล้าเกินทน

งานวิจัยจากแมคคินซีย์แอนด์คอมปะนีชี้ว่า 'สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ความเหนื่อยล้า การหมดไฟ' 'ข้อเรียกร้องในการดูแลครอบครัว' 'การสะท้อนเรื่องจุดหมายของชีวิต' สามอย่างนี้คือสิ่งที่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้คนเลือกลาออกช่วงวิกฤตโควิด-19 แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีงานใหม่รองรับก็ตาม

หลายครอบครัวต้องทนอยู่ในสภาพยากลำบากติดต่อกัน 2-3 ปี กับข้อจำกัดช่วงโควิด-19 ที่ไม่สามารถใช้เวลากับครอบครัวได้มากนักเพราะต้องทุ่มเวลาให้กับหน้าที่การงานที่เคร่งเครียดและกดดันสูง และแม้จะเป็นอาชีพที่มั่นคง หลายคนกลับเลือกที่จะลาออกเพราะมองเห็นแล้วว่าสามารถอยู่ได้ด้วยรายได้จากคนใดคนหนึ่งในครอบครัว และสามารถเอาเวลาที่เหลือไปทำกิจกรรมอย่างอื่นและดูแลครอบครัวแทน

อาชีพที่ผู้คนมักตัดสินใจลาออกเช่นนี้คือกลุ่มอาชีพค้าปลีก สุขภาพ และการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะโรคระบาด

จากเหตุผลเบื้องต้นที่กล่าวมานี้ทำให้เราเห็นว่าสภาพแวดล้อมในตลาดแรงงานอย่างสหรัฐฯ เริ่มแสดงให้เห็นแนวโน้มที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ผู้คนในสหรัฐฯ มีความมั่นใจมากขึ้นในสถานะการต่อรองเพื่อเลือกค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกับสภาพแวดล้อมและสภาพการทำงานที่ดีกว่าเดิม 

อีกทั้งยังเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้มีอิทธิพลมาจากระบบเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์ของประเทศ แต่เป็นเพราะผู้คนยุคใหม่เริ่มใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของตัวเองมากขึ้นแล้วจริงๆ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมาเติบโต และมีการแข่งขันของบรรดานายจ้างในตลาดแรงงานอย่างจริงจัง

นิวยอร์ก