ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 11.00น. การประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาวาระให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ทักท้วงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงเช้าที่ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการเสนอชื่อนายกฯ นำมาตรา 159 มาพิจารณาก่อน กรณีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและการเสนอชื่อต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส.เท่าที่มีอยู่
จากนั้นนายชวน นำเข้าสู่วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี โดยย้ำว่า มาตรา272 ของรัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนการเลือกนายกฯ ไว้ชัดเจนแล้ว โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ส.รับรองตามกฎหมายกำหนด
จากนั้น น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ ขอเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
จากนั้นนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อ ไทย ทักท้วงประธานดำเนินการผิดตามรัฐธรรมนูญไม่เคารพเสียงประชาชนในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีว่าที่ผ่านการโหวตนายกฯ ไม่เคยมีการลงมติในรัฐสภา แต่มาตรา 159 ให้กระทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่กระทำในที่ประชุมรัฐสภา ดังนั้นต้องทำตามมาตรา 159 วรรคสองก่อน จึงเข้าสู่มาตรา 272 ได้
โดยนายชวน วินิจฉัยกฎหมายบัญญัติชัดเจนในมาตรา 272 แล้วทางรัฐสภาต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากสมาชิกจะอภิปรายประเด็นใดก็ให้กำหนดไว้ก่อนโดยเฉพาะประเด็นคุณสมบัตินายกฯ
จากนั้น นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติให้ ผู้เสนอชื่อเป็นนายกฯแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งนายชวน ระบุว่า การแสดงวิสัยทัศน์ไม่มีกฎหมายห้าม ถ้าที่ประชุมต้องการต้องขอมติที่ประชุม ในอดีตไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ถ้าลงมติไป ตัวผู้ได้รับเสนอชื่อไม่อยู่ในห้องประชุม คนอื่นจะแสดงวิสัยทัศน์แทนไม่ได้ จะสมควรหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องลงมติ
ด้าน น.ส.ภาดา วรกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติไม่ให้ผู้เป็นนายกฯ แสดงวิสัยทัศน์ และไม่มีข้อบังคับการประชุมระบุให้แสดงวิสัยทัศน์
ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า ประธานเคยบอกว่าสามารถให้พูดในที่ประชุมรัฐสภา อีกทั้งประชาชนก็เฝ้ารอการโหวตนายกฯ เรารอนายกฯ เลือกตั้งมา 5 ปีแล้ว และเชื่อว่าประชาชนต้องการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ
โดยนายชวน ชี้แจงว่า หากจะให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติชี้ขาดกรณีให้แคนดิเดตแสดงวิสัยทัศน์โดยหากลงมติจะต้องลงมติแบบเปิดเผยอาจต้องเสียเวลาจึงไม่อยากให้มีการลงมติในเรื่องที่ไม่จำเป็น ทำให้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ตัดสินใจถอนญัตติออกเพื่อให้การประชุมได้เดินหน้าต่อโดยเข้าสู่การอภิปรายคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
จากนั้นเปิดให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ โดยนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายยืนยันพล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้เงินประชาชนไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นอะไร ถ้าเสนอคนไม่มีคุณสมบัติถือว่าไม่ได้เสนอ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยมาจากการยึดอำนาจจากประชาชนเข้ามาปกครองบริหารบ้านเมืองเพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อ ผันตัวเองมาเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นคุณสมบัติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เลื่อมใสการปกครองประชาธิปไตยมีการออกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบิดเบี้ยวในรัฐธรรมนูญทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้าปล่อยให้สภาเลือกนายกฯ จะเข้าสู่ความล้มเหลว วิธีคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดเอารัฐราชการเป็นศูนย์กลาง และเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปีทำให้อนาคตประเทศชาติล้มเหลว
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทยระบุว่า มีส.ส.ท่านหนึ่งบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หมายความว่ากติกาที่ทำออกมาเอาเปรียบประชาชนหรือไม่ ตนขอร้องประธานรัฐสภาเป็นผู้นำขอเอกสารคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และโหวตเตอร์ก็สำคัญ โดยพรรคเพื่อไทยทำเรื่องไปยัง กกต. ขอคำสั่งแต่งตั่งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เพราะใช้งบฯ สรรหา ส.ว. 1,300 ล้านบาท แต่ กกต.ก็ไม่ให้ ทั้งนี้เป็นห่วงเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน อีกทั้ง มีคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 ได้ชี้สถานะ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีคำว่าเจ้าพนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ตนเห็นว่าเจ้าพนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีนี้นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เคยเป็นจำเลย โดยจำเลยต่อสู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าพนักงานจึงไม่สามารถไปรายงานตัวได้ คดีนี้สู้ 3 ศาลจนถึงศาลฎีกา โดยศาลชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจตามกฎหมายเป็นเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว ศาลฎีกายืนตามว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าพนักงานหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นนายกฯไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ
นายชวลิต ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีเงินเดือน โดยพรรคเพื่อไทยตรวจสอบพบว่ามี พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่ง ระบุว่า หัวหน้า คสช.มีเงินประจำตำแหน่ง ได้รับเงินเดือน และมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 265 บัญญัติอำนาจหน้าที่ คสช. ชัดเจน รวมทั้งมีเงินเดือนของ คสช. กำหนดใน พ.ร.ฎ. การปฏิบัติหน้าที่ประจำยังเข้าข้อนี้ อีกทั้งมีการออกคำสั่งพักงานนายก อบจ. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และพอใกล้เลือกตั้งให้หยุดพักงาน ดังนั้นคำสั่ง คสช. คือคำสั่งตามกฎหมาย รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ต้องปฏิบัติหน้าที่ และสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์นั่น ผผุ้ตรสจการแผ่นดินเคยชี้ว่าไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 แต่หัวหน้า คสช.เป็นตำแหน่งที่ใช้รัฏฐาธิปัตย์เป็นอำนาจสูงสุด ตนเห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ใช่องค์กรวินิจฉัยชี้ขาดแต่เป็นองค์กรส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ส่งเรื่องจึงหยุดที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน
นายชวลิต ระบุว่า ตนเคยไปค้นความหมายของคำว่ารัฏฐาธิปัตย์ว่าเป็นอำนาจปกครองสูงสุดของรัฐ หากยึดคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตก็มีอำนาจเพียงตอนยึดอำนาจการปกครองประเทศเท่านั้น ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์แล้วเพราะรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว และไม่นิรโทษกรรมในเรื่องคุณสมบัติให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ
ขณะที่นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ ไม่แบ่งฝ่ายไม่ว่าประชาชนจะอยู่ภาคไหนถ้าประชาชนเดือดร้อนก็ลงพื้นที่ทันที พล.อ.ประยุทธ์ กล้าตัดสินใจมากกว่ารัฐบาลอื่นๆ
ทำให้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทยประท้วงนางกรณิศ ระบุว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นประธานการประชุมปล่อยให้นางกรณิศ พูดถึงผลงานของพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้นายพรเพชร ระบุว่าขอให้เวลานางกรณิศได้อภิปรายก่อนสัก 1-2 นาทีซึ่งเป็นการทำตามแนวทางที่นายชวนสนับสนุนให้พูดเต็มที่
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายยืนยันการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันนี้ ส.ว. ทุกคนจะพิจารณาโหวตเลือกด้วยเหตุผล ไม่ได้มีใครมาต่างตอบแทนใคร พร้อมกล่าวถึงเหตุการยึดอำนาจปี 2557 ว่าไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มีเหตุที่ทำให้เกิด ที่ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ มีการสู้รบกันเอง ปิดถนนหลายเดือน เผาบ้านเผาเมือง ทำให้นายคารม พลพรกลาง ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ้นประท้วง นายเสรี จึงระบุว่า ไม่ต้องมาตีฝีปาก สอนนักการเมือง รวมถึงอย่าอ้างคำว่าเผาบ้านเผาเมืองเพราะศาลฏีกามีคำวินิจฉัยชัดเจนแล้ว อย่าใช้ความเก๋าทางการเมือง มารับใช้อำนาจที่ท่านชอบ ทำให้เกิดการประท้วงกันไปมาอยู่ช่วงหนึ่ง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานในที่ประชุมต้องตัดบท ให้นายเสรีอภิปรายต่อ โดยให้อยู่ในประเด็นที่จะอภิปราย
จากนั้นนายเสรีอภิปราย ยอมรับว่า ตัวเองสนับสนุน พลเอกประยุทธ์จริง และเป็นสิทธิของตัวเอง ขณะเดียวยืนยันว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ได้กระทำผิดจริยธรรม เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น จำเป็นต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ และพลเอกประยุทธ์ผ่านกระบวนการตามรัฐธรรมนูญผ่านพรรคการเมือง จึงไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง เนื่องจากเห็นว่า นายเสรี ได้อภิปรายใช้เวลาพอสมควรแล้ว ควรจะยุติการอภิปราย โดยระบุว่า เป็นสิทธิของนายเสรีที่จะนิยมในระบบเผด็จการ และมีที่มาด้วยวิธีพิเศษ ทำให้นายเสรีตอบโต้ โดยระบุว่า แม้จะเป็นเผด็จการ แต่ก็เป็นเผด็จการประชาธิปไตย ดีกว่าการเป็นประชาธิปไตยแบบจอมปลอม ทำให้ที่ประชุมมีเสียงฮือฮาต่อการประท้วงดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: