'วอยซ์' พาสำรวจเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ฉบับพรรคภูมิไทยเสนอ ควบคู่ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมการใช้กัญชากัญชง ฉบับพรรคพลังประชารัฐเสนอ ที่ ส.ส. เห็นชอบรับหลักการในวาระแรก โดยมีเป้าหมายให้เกิดการควบคุมการใช้กัญชาการทางการแพทย์/ครัวเรือน อย่างมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
พปชร. ชงนายกฯ นั่งหัวโต๊ะคุมกฎ/นโยบาย
ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ฉบับพรรคภูมิไทยเสนอ กำหนดให้มีคณะกรรมการกัญชา กัญชง 25 คน มาจากหัวหน้าส่วนราชการ โดยมีปลัดกระทรวงสารณสุข เป็นประธาน และเลขาฯ อย. เป็นเลขาฯ มีอำนาจและหน้าที่ 1. กำหนดนโยบายและการส่งเสริม วิจัย ทั้งการแพทย์ และอุตสาหกรรม 2. ให้คำแนะนำ/ข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรี 3. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง และ 4. กำหนดปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล
เช่นเดียวกับร่างกฎหมายฉบับ พปชร. แตกต่างกันตรงที่ สัดส่วนคณะกรรมการ ซึ่งกำหนดให้มีตัวแทนจากฝ่ายการเมือง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ภท. ใช้ท้องถิ่นจัดแถว
ส่วนข้อกำหนดเกี่ยวกับการจดแจ้งเพื่อใช้ในครัวเรือน มีความแตกต่างกันตรงที่ ร่างฉบับพรรคภูมิใจไทย ส่งเสริมหลักาการกระจายอำนาจ โดยให้ ผ่านการพิจารณาจาก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายก อบจ. โดยหลักเกณฑ์ฯ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี ส่วนฉบับพรรคพลังประชาชนรัฐ กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่ในการพิจารณา
สำหรับการขออนุญาตในด้านอื่น ๆ ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีความคล้ายคลึงกัน ดังนี้
การขออนุญาต ผลิต/นำเข้า/ส่งออก/ขาย ต้องได้รับใบอนุญาต จากการพิจารณาของ อย. โดยหลักเกณฑ์ฯ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี สามารถอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขภายใน 30 วัน ให้รัฐมนตรี พิจารณาภายใน 60 วัน ขยายเวลาได้ไม่เกิน 60 วัน ถ้าไม่ได้รับอนุญาต โทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำปรับ
การพิจารณาอนุญาต โดย 1) เจ้าที่ที่ได้รับมอบจาก อย. 2) ผู้เชี่ยวชาญ องค์กร หน่วยงานรัฐ/เอกชน ในและต่างประเทศ ที่ได้รับการขึ้นบัญชีจาก อย.
การพักใช้ใบอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนให้ อย. สั่งพักใช้ ครั้งละไม่เกิน 180 วัน หรือสั่งเพิกถอน ซึ่งจะขอรับใบอนุญาต/จดแจ้งไม่ได้ 3 ปี สามารถอุทธรณ์ต่อ รมว.สาธารณสุข ภายใน 30 วัน ให้ รมว.สาธารสุข พิจารณาภายใน 60 วัน ขยายเวลาได้ไม่เกิน 60 วัน
ส่องค่าธรรมเนียม
สำหรับค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตมีรายละเอียด มีดังนี้
ใบอนุญาตการผลิต (ปลูก) 50,000 บาท
ใบอนุญาตการผลิต (สกัด) 50,000 บาท
ใบอนุญาตนำเข้า 100,000 บาท
ใบอนุญาตส่งออก 10,000 บาท
ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออกเฉพาะคราว 20,000 บาท
ใบอนุญาตจำหน่าย 5,000 บาท
การต่ออายุใบอนุญาต ครึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมนั้น คำขออนุญาตอื่น 7,000 บาท ค่าขึ้นบัญชีจัดเก็บจากผู้เชี่ยชาญ องค์กร หน่วยงานรัฐ เอกชน ในและต่างประเทศ 100,000 บาท
ค่าตรวจสถานประกอบการ 50,000 บาท
ล็อกเข้มห้ามโฆษณาฝืนปรับ 3 หมื่น
ขณะที่การโฆษณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ มีการกำหนดห้ามโฆษณา เว้นได้แต่ อย. อนุญาต ประกอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกำหนด ในประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยไม่ใช้บังคับการโฆษณาส่วนกัญชา กัญชง สารสกัด กาก ผู้ใดฝ่าฝืน อย. มีอำนาจสั่ง 1) แก้ไขข้อความ/วิธีการโฆษณา 2) ห้ามใช้ข้อความ/วิธีการโฆษณา และ 3) ระงับการโฆษณา ผู้ใดฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 30,000 บาท
เช่นเดียวกับการคุ้มครอง ผู้ได้รับอนุญาตขายได้ห้ามขายกัญชา กัญชง เพื่อการบริโภค แก่ 1) บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี 2) สตรีมีครรภ์ 3) สตรีให้นมบุตร 4) บุคคลอื่นตามที่ รมว.สาธารณสุขกำหนด ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตขาย มีหน้าที่ติดประกาศ/แจ้ง ณ สถานที่ขาย ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคล ตามวรรคหนึ่ง ตามหลักเกณฑ์ฯ ที่ รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยไม่ใช้บังคับกับ แพทย์ แพทย์แผนไทยที่จ่ายยาให้แก่คนไข้
ส่วนบทเฉพาะกาล ยกเว้นให้ 5 ปีแรก การนำเข้ากัญชา กัญชง เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และ ประโยชน์ทางการแพทย์หรือราชการ ให้สามารถทำได้ ส่วนใครที่มีใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ตามกฎกระทรวง 2563/2564 ให้ใช้ได้ต่อไปจนหมดอายุ ส่วนคำขอก่อนหน้านี้ให้เป็นใบอนุญาตตามกฎหมายฉบับนี้
ห่วงติดดาบ จนท.ค้นไร้หมายศาล เปิดช่องถ่วง-ไถ
ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการการรับฟังความเห็นบนเว็บไซต์รัฐสภา ก่อนนำเสนอเข้าสู่สภาโดยมีผู้เข้าชม 7,323 คน แสดงความเห็น 97 คน ซึ่งเห็นด้วยในเชิงหลักการให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาในครัวเรือน/การแพทย์ แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 3 ประเด็นที่ต้องจับตา คือ
1.การกำหนดให้มีคณะกรรมการ - ควรเพิ่มตัวแทนภาคประชาชน ประชาสังคม ผู้มีประสบการณ์ใช้ วิสาหกิจชุมชน เข้าไปเป็นกรรมการกัญชา กัญชง โดยบางส่วนระบุว่า เมื่อปลดล็อกแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการอีก ถ้าจะมีคณะกรรมการควรเป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่ข้าราชการประจำ
2. การให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปสถานที่ผลิต ขาย หรือพาหนะที่มีกัญชา กัญชง - ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า ควรไปตามหายาเสพติดอื่น เปิดช่องเจ้าหน้าที่รีดไถ กลั่นแกล้ง ถ่วงเวลาการขออนุญาต เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากจะมีอำนาจค้นต้องใช้หมายศาลตามหลักการ ไม่ใช่เพียงแสดงบัตรเจ้าหน้าที่เท่านั้น สอดคล้องกับความคิดเห็นด้วยกับการตรวจสอบ ก็ยังมองว่า ควรมีหนังสืออนุญาตจากคณะกรรมการกัญชา กัญชง ก่อนตรวจสอบ
“ความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายบนเว็บไซต์ โดยรวมมองว่า กัญชากัญชง ควรเป็นสมุนไพรที่ไม่ต้องขออนุญาตจากบุคคลใด ทั้งการผลิต/ปลูก/ขาย มิฉะนั้นจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ ควรเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิ่งทีต้องควบคุมคือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหมือนการควบคุมภาพผลิตภัณธ์ สมุนไพรอื่น ๆ”
3. การกำหนดโทษ – เมื่อไม่เป็นยาเสพติด ก็ไม่ควรมีโทษอาญา มีแต่โทษปรับเท่านั้น หรือไม่ควรมีบทกำหนดโทษอันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสาระดังกล่าวเป็นเพียงร่างที่ได้รับการเห็นชอบวาระแรก โดยสภาผู้แทนราษฎรยังเหลือการพิจารณาในวาระที่ 2 - 3 และขั้นการพิจารณากลั่นกรองโดย ส.ว. อีก 3 วาระ บทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการใช้ประโยชน์จึงต้องติดตามว่า ท้ายที่สุดผลประโยชน์จะตกแก่ประชาชน หรือนายทุนที่ฉกฉวยโอกาส