วันที่ 14 ธ.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ...ในวาระที่ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยในช่วงต้นของการประชุม ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้แจ้งว่า กฎหมายฉบับนี้มีความยาวเป็นพิเศษ ซึ่งต้องขอมติที่ประชุมทุกมาตรา คาดหมายว่าน่าจะใช้เวลาพิจารณานาน ไม่ต่ำกว่า 2-3 สัปดาห์ จึงขอกำหนดเวลาอภิปรายของสมาชิกเพียงคนละ 5 นาที เท่านั้น
ก่อนการพิจารณา ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการฉบับนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้าน และมีที่ปรึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงได้มีการเพิ่มร่าง พ.ร.บ. จากเดิม 45 มาตรา เป็น 95 มาตรา ยืนยันได้ว่าคณะกรรมาธิการทุ่มเททำงานด้วยความรอบคอบเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา เสียงข้างมากของที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมาธิการฯ ถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปทบทวน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ก็น้อมรับ เป็นผลให้มีการประชุมทบทวนทั้งสิ้น 2 ครั้ง และพบว่าข้อกังวลต่างๆ ที่สมาชิกทักท้วงมา ที่ประชุมได้มีการหารือกันไปแล้วทั้งสิ้น ประเด็นต่างๆ ก็มีการสงวนความเห็นไว้ทั้งหมด จึงยืนยันว่าร่างฉบับเดิมมีความครบถ้วนเพียงพอ จะไม่เป็นอุปสรรคใดๆ
“การออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆ ยังไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถควบคุมได้อย่างรอบด้านให้รวมอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน และยังไม่มีบทลงโทษที่รุนแรงกับผู้กระทำความผิดอย่างเป็นระบบ ได้มากเท่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ ที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโรค และดูแลสุขภาพด้วยตัวเองได้ดีขึ้น” ศุภชัย กล่าว
รุมท้วงติงคำปรารภ
ต่อมา ที่ประชุมได้พิจารณาไล่เรียงตั้งแต่ชื่อ พ.ร.บ. จนกระทั่งถึงคำปรารภ ที่มีสมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นว่าควรแก้ไขคำปรารภให้รัดกุมชัดเจนขึ้น เช่น นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ในคำปรารภที่ปรากฏว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ตนขอยืนยันว่าไม่สามารถนำกัญชาออกจากยาเสพติด 100% ตนสนับสนุนและส่งเสริมในการใช้เพื่อรักษา แต่ไม่สนับสนุนให้เสพที่ใดก็ได้ ยังคงเป็นยาเสพติดอยู่
เช่นเดียวกับ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ที่มองว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ซึ่งสภาได้รับหลักการกฎหมายฉบับนี้ไป สภาพสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะในคำปรารภตัดคำว่าเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และบุคคลกลุ่มเสี่ยง ทำให้ไม่ได้โฟกัสที่กลุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ย้ำว่า ตนเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ไม่ได้รับหลักการและสงวนความเห็น การจั่วหัวว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังเป็นการท้าทายพันธกรณีต่างๆ ที่ไทยมีไว้กับนานาชาติ
สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ชี้ว่า คำปรารภนั้นสร้างความเข้าใจผิดต่อการทำงานของสภา ให้เข้าใจว่าสภาชุดนี้ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดแล้ว อีกทั้งยังรับหลักการในวาระแรก แล้วเหตุใดมากลับลำตอนนี้ ทั้งที่ความจริงในประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับล่าสุด ไม่ได้ระบุว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่เป็นไปตามอนุสัญญาเดี่ยวของสหประชาชาติ คือเป็นยาเสพติดแต่สามารถใช้เพื่อทางการแพทย์ การวิจัย ศึกษาและทดลอง เจตนารมณ์ชัดเจนว่าไม่ได้ใช้ทางสันทนาการ แต่การสร้างความเข้าใจที่ผิด ทำให้ประชาชนพากันปลูก จนถูกจับกุมดำเนินคดี
สุทิน กล่าวว่า เหตุที่สภารับหลักการในวาระแรก เพราะมีการนำ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาเป็นตัวประกัน ความจริงควรต้องมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาก่อน แล้วจึงค่อยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อปลดล็อกกัญชา แต่กลับมีการออกประกาศฯ เพื่อปลดล็อกก่อน แล้วจึงออก พ.ร.บ.นี้ตามมา ซึ่งไม่รู้ว่าจะผ่านหรือไม่ สภาจึงต้องรับหลักการ เพื่อให้มีการควบคุมหลังปลดล็อกดังกล่าว
ด้าน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ สภารับหลักการในวาระที่หนึ่ง โดยมีเงื่อนไข เพราะต้องการเห็นกัญชาที่ใช้ในการแพทย์เท่านั้น ตนเป็นผู้เสนอให้ถอนร่างนี้ไปเพื่อทบทวนใหม่ เพราะยังมีจุดประสงค์ที่หละหลวมกำกวม และไม่ได้จำกัดว่าใช้เพื่อการแพทย์อย่างชัดเจน เป็นที่น่าเสียดายว่าคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้ปรับแก้ และสะท้อนให้เห็นผ่านคำปรารภ
“สถานการณ์ในช่วงเวลานี้ เป็นสภาพของเสรีกัญชาอย่างสุดขั้ว เพราะเป็นการปลดล็อกกัญชาอย่างเต็มที่ก่อนจะมีกฎหมายใดๆ มาควบคุม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เราไม่สามารถเอาเรื่องกัญชาไปเสี่ยงกับอนาคตของเยาวชนไทยโดยรัฐสภายังไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบได้ คำปรารภดังกล่าวจึงแก้ไขได้ไม่ดีพอ และผมไม่อาจเห็นชอบได้” สาทิตย์ อภิปราย
ในที่สุด ที่ประชุมได้มีการลงมติว่าจะเห็นควรให้มีการแก้ไขคำปรารภหรือไม่ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 193 ไม่เห็นด้วย 87 งดออกเสียง 56 เสียง เห็นควรให้มีการแก้ไขตามร่างของคณะกรรมาธิการ
กมธ.ยอมตัดมาตรา 3
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 3 ที่ระบุว่ากัญชาไม่ใช่สารเสพติดนั้น ตามที่สมาชิกรวมถึงกรรมาธิการเสียงข้างน้อย และผู้แปรญัตติได้แสดงความกังวล คณะกรรมาธิการได้ประชุมกันในช่วงเช้า แล้วเห็นว่าควรตัดมาตรา 3 ออกทั้งมาตรา เพื่อให้การประชุมดำเนินต่อไปได้โดยราบรื่นและรวดเร็ว อีกทั้งยังทราบมาว่ามีผู้ประสงค์จะอภิปรายในมาตรานี้ถึง 40 คน การตัดมาตราดังกล่าวยังจะไม่กระทบกับกฎหมายโดยภาพรวม
แต่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แย้งว่า คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีอำนาจในการตัดทั้งมาตราออกแล้ว เนื่องจากกระบวนการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ได้จบลงแล้ว แม้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะต้องการให้ตัดมาตราดังกล่าวออก แต่การทำเช่นนี้เป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ การชิงตัดมาตรานี้ออก อาจจะตัดสิทธิในการอภิปรายของสมาชิกที่เห็นปัญหามากมายในมาตรา 3 นี้ด้วย
จากนั้น สาทิตย์ ทักท้วงว่า การตัดมาตรา 3 ออกเช่นนี้ จะส่งผลสืบเนื่องอย่างไรต่อไปทั้งทางกฎหมายและทางปฏิบัติ เมื่อเปลี่ยนกลับเป็นยาเสพติดอาจสร้างความสับสนได้ ตนหวังว่าการตัดมาตรานี้จะไม่ใช่เพียงเทคนิคทางการเมืองเพื่อลดแรงเสียดทานเท่านั้น แต่ขอให้คำนึงถึงเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ
ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุมขณะนั้น เห็นว่าควรพักการประชุมก่อนเพื่อหาข้อสรุป อีกทั้งประธานคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้ยืนยันในเหตุผลในการตัดแล้ว ที่ประชุมไม่ควรต้องเสียเวลากับมาตราที่จะตัดออกอยู่แล้ว
ทำให้ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ลุกประท้วง โดยระบุว่า ทางที่ดีควรต้องเปลี่ยนประธานการประชุม เพราะ ศุภชัย เป็นประธานฯ ที่ไม่เป็นกลางในการประชุม ลำเอียง อีกทั้งการประชุมของกรรมาธิการฯ ในช่วงเช้าที่อ้างถึงนั้น ตนขอดูบันทึกการประชุมอย่างน้อย 13 รายจาก 25 ราย ถ้าไม่มีรายชื่ออย่างน้อย 13 ราย จะไม่ถือว่าเป็นการประชุม
ในที่สุด ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ได้ขออนุญาตประธานฯ ให้พักการประชุม เพื่อให้กรรมาธิการฯ ได้หารือกันอย่างถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยประธานฯ จึงสั่งให้พักการประชุมให้กรรมาธิการได้หารือกัน ในเวลา 14.30 น.
สภาฯ มติเอกฉันท์ ตัดมาตรา 3 ออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังผ่านไปราว 40 นาที การประชุมดำเนินต่อในเวลา 15.11 น. ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ แจ้งต่อที่ประชุมว่า เมื่อครู่คณะกรรมาธิการฯ จำนวน 15 คน ได้ประชุม และมีมติเอกฉันท์ให้ตัดมาตรา 3 ออกทั้งมาตรา
อย่างไรก็ตาม จุลพันธ์ ยืนยันว่า แม้จะมีมติให้ตัดมาตราดังกล่าวออกไปแล้ว สิทธิในการอภิปรายและสงวนความเห็นของสมาชิกยังคงมีอยู่ แต่จะพยายามจำกัดเวลาและจำนวนผู้อภิปราย เพราะการอภิปรายก็ถือเป็นการสื่อสารกฎหมายฉบับนี้ให้ประชาชนได้ทราบด้วย จากนั้น ที่ประชุมจึงได้พิจารณาต่อไปในมาตรา 3 อย่างกว้างขวาง โดยเน้นถึงเหตุและความจำเป็นที่ต้องตัดมาตรา 3 ออก