ไม่พบผลการค้นหา
‘พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์’ ระบุผลเลือกตั้ง ส.ก.ทำนายเลือกตั้งสมัยหน้ายาก มองปัจจัยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งตัดสินใจทางการเมือง 3 ระดับแตกต่างกัน ระดับชาติ-มหานคร-ชุมชน / ยังไม่ซื้อ ‘เพื่อไทยแลนด์สไลด์’ จากคะแนนส.ก. เพราะคะแนรวมไม่หนีจากของเดิม สรุปการเลือกตั้งผู้ว่า-ส.ก.ทุกพรรควิน-วิน พร้อมชี้เลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า เจอการเมือง 3-4 เฉด แต่ปัญหาร่วมทุกพรรคคือ ขาด ‘ผู้นำ’ ที่ทุกฝ่ายยอมรับ เชื่อ ‘ชัชชาติ’ ยังไม่เล่นการเมืองระดับชาติ

ชาว กทม.ผู้มีทะเบียนบ้านในเมืองหลวงเพิ่งผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มาหมาดๆ และพอจะมองเห็นภาพรวมคะแนนที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้ว นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มของผลคะแนนรวมในคราวนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้น

 ‘วอยซ์’ พูดคุยกับ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์การเลือกตั้งทั้ง 2 ระดับนี้ว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ เพียงไร โดยเขาให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน หากจะนำคะแนนผลการเลือกตั้งโดยเฉพาะ ส.ก.ไปเป็นฐานการวิเคราะห์ มันอาจบ่งชี้การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ต้องมีคำเตือนประกอบการวิเคราะห์ เหมือนกับการกินเครื่องดื่มชูกำลัง “ห้ามดื่มเกินวันละสองขวด”

ประยุทธ์ เลือกตั้ง ผู้ว่า กทม 1-1C166E997DCD.jpeg
แบ่งการตัดสินใจทางการเมือง 3 ระดับที่แตกต่างกัน

พิชญ์ อธิบายหลักคิดพื้นฐานว่า คงต้องมองการเมืองออกเป็น 3 ระดับ คือ

1.การเมืองกรุงเทพฯ ที่เชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติ ซึ่งเน้นจุดยืน อุดมการณ์

2.การเมืองกรุงเทพฯ ในระดับมหานคร ที่ข้ามเรื่องอุดมการณ์ ไปเน้นความร่วมมือ

3.การเมืองกรุงเทพฯ ในระดับชุมชน ก็คือ กรณีของ ส.ก. ที่จำนวนไม่น้อยเน้นตัวบุคคลของผู้สมัคร

 “เวลาเราจะวิเคราะห์ทั้ง 3 ระดับ มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อย่าโยงมันเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด บางเรื่องมันเป็นเหตุเป็นผล บางเรื่องมันสัมพันธ์กัน แต่ความสัมพันธ์นั้นไม่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน หรือมันอาจจะเป็น แต่ยังหาจุดเชื่อมต่อไม่ได้”

นอกจากนี้ยังมีอีกมิติหนึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายประชากรไปจังหวัดปริมณฑล และการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในบางเขต เช่น การมีคอนโดเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงนี้กันมากนัก

 
เลือก ส.ก.ที่ตัวบุคคลก็มาก แบ่งฝ่าย ‘ประชาธิปไตย’ ไม่ง่าย

พิชญ์ ตั้งสังเกตสำคัญว่า ประชากรในกรุงเทพฯ ลดลงตลอด แต่ไปเพิ่มจำนวนที่ขอบหรือจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น 40-60% เมื่อสังเกตการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ในกรุงเทพฯ มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 4,489,681 คนแต่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 72.51% ซึ่งสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของพรรคเพื่อไทย (19.5%) และอนาคตใหม่ (25.9%) รวมกันแล้วได้รับคะแนนเกือบ 50%  

ขณะที่ข้อมูลในส่วนของการเลือกตั้ง ส.ก. พบว่า ผลคะแนนรวมเบื้องต้น สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระรวบรวมไว้ว่า เพื่อไทยได้คะแนนราว 26.77% ก้าวไกล 20.85% ไทยสร้างไทย 10.45%

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับพิชญ์ คือ พรรคไทยสร้างไทยได้ 10.45% ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้ 11.8% แต่ทั้งคู่ได้ 2 เก้าอี้ในสภา กทม.เท่ากัน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาให้ลึกไปกว่านั้น เขตราษฎร์บูรณะ ผู้ชนะคือ ไสว โชติกะสุภา จากพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งแต่เดิมเคยเป็น ส.ก.ประชาธิปัตย์ มาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2541 ก่อนที่จะโดนปลดโดย คสช. ส่วนเขตสายไหม ผู้ชนะคือ รัตติกาล แก้วเกิดมี พรรคไทยสร้างไทย ซึ่งแต่เดิมเป็น ส.ก.เขตสายไหม เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า แม้ไทยสร้างไทยจะชนะ แต่เป็นคนเก่าของพรรคประชาธิปัตย์

“ในระดับท้องถิ่น ความเป็นพรรคไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด เพราะผู้สมัครย้ายพรรคกันได้ มันชัดเจนมากว่า แพทเทิร์นสีเสื้อไม่ได้เปลี่ยน” 

“ถามว่าสรุปแล้วสัดส่วนคะแนนการเลือกตั้ง ส.ก. สามารถเอาไปประเมินการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ไหม ก็พอได้ แต่เราต้องวิเคราะห์ให้ลึกลงไปด้วยเพราะมันมีการที่ผู้สมัครย้ายสังกัด” 

พิชญ์อธิบายว่า การเมืองระดับ ส.ก. มีหลายส่วนผสมกัน ทั้งส่วนที่เป็นตัวบุคคล โดยพิจารณาว่าในชุมชนของตัวเองใครดูแลพื้นที่ ดังที่จะเห็นว่าเขตดุสิตเลือกเพื่อไทย ทั้งส่วนที่เป็น ‘การเมืองระดับชาติ’ ซึ่งผู้เลือกตั้งอาจพิจารณาจากพรรค กรณีที่เห็นชัดคือพรรคก้าวไกล เพราะก้าวไกลไม่มีป้าย แต่ใช้ ‘วิโรจน์’ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ขณะที่การเมืองท้องถิ่นก็มีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาเพิ่มด้วยเช่นกัน เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในเขตนั้นเป็นคนใหม่ที่ย้ายเข้ามา ซึ่งอาจจะเป็นบ้านมีรั้วและคอนโด

ตัวอย่างเช่นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางอย่าง ‘เขตบางซื่อ’ แต่เดิมเป็นประชาธิปัตย์ทั้งหมด แต่เมื่อเป็นเลือกตั้งระดับชาติกลายเป็นว่า สีเขียว (พลังประชารัฐ) คุมหมด พอมาถึงการเลือกตั้ง ส.ก.รอบนี้ สีส้มกินเข้าไปในพื้นที่ ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แต่สีแดงก็กินเข้าไปในโซนเขตคอนโด

 
คะแนน ส.ก. เพื่อไทย พอๆ กับการเลือกตั้งปี 2562

“แต่ผมยังไม่ซื้อเรื่องเพื่อไทยแลนสไลด์กรณี ส.ก. มันเหมือนจะเป็นอย่างนั้น แต่คะแนนรวม ส.ก.ได้ 620,000 พอกับคราวที่แล้ว (เลือกตั้งปี 2562) 604,000 มันเพิ่มขึ้นมาแค่หลักหมื่น เรียกว่าคะแนนพอกับคราวที่แล้ว” 

อย่างไรก็ดี พิชญ์มองว่า แม้พรรคเพื่อไทยไม่แลนสไลด์ แต่เพื่อไทยเก่งกาจในเรื่องการชนะเลือกตั้ง ยกตัวอย่างการเลือกตั้งปี 2562 คะแนนเพื่อไทยได้ 19.5% อนาคตใหม่ได้ 25.9% พลังประชารัฐได้ 25.5% แต่เพื่อไทยได้ ส.ส. 9 ที่นั่ง เท่ากับอนาคตใหม่ ขณะที่พลังประชารัฐได้ 12 ที่นั่ง นั่นเพราะมีเขตเล็กๆ อย่างสัมพันธวงศ์ ป้อมปราบฯ พระนคร ซึ่งพลังประชารัฐชนะหมด

“ดังนั้น เพื่อไทยอาจจะไม่ได้ป๊อปปูลาร์ที่สุด แต่เขาทำพื้นที่เก่ง เขาอาจจะชนะแต่ฉิวเฉียด เขาชนะทุกการเลือกตั้ง แต่แพ้สงคราม” 

 
อย่าประมาท ยังไม่มีพรรคไหนแพ้ราบคาบ

“ผมว่าโดยรวมทุกพรรรคยังรักษาพื้นที่ตัวเองได้ระดับหนึ่งเลย เลือกตั้งรอบนี้ วิน-วิน ไม่มีใครแพ้” พิชญ์ กล่าว

พิชญ์ สรุปว่า สำหรับพรรคพลังประชารัฐนั้น ตอบไม่ได้แน่ชัด เพราะมันเป็นการรวมตัวของกลุ่มก๊วนนักการเมือง ซึ่งสามารถสลายและรวมตัวกันได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ส.ก.10 กว่าเขตของพลังประชารัฐเสนอตัวชัดอยู่แล้วว่าสนับสนุน ‘สกลธี’ และเป็นเครือข่ายของ กปปส. ซึ่งผลลัพธ์ชี้ให้เห็นว่า สกลธีมีเสียงใน กทม.พอสมควร ทั้งนี้ พลังประชารัฐประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง ถ้าจะพูดว่าพลังประชารัฐคะแนนน้อยลง ก็ต้องดูด้วยว่าเป็นเพราะความนิยมในตัวของพรรคลดลง หรือเพราะประยุทธ์ทำให้พรรคมีปัญหา 

ขณะที่ประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จตรงที่เปลี่ยนผ่านผู้นำในการเมืองได้ นั่นก็คือ ‘สุชัชวีร์’ ทำให้พรรคไม่ต้องพึ่ง ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ในส่วนกนุงเทพมหานคร ส่วน ‘จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์’ หัวหน้าพรรคก็ไม่ได้เสียหาย แม้จะเป็นเรื่อง ‘ปริญญ์ พานิชภักดิ์’ ที่แดงขึ้นมา อย่างน้อยประชาธิปัตย์ก็สามารถหาคนใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในพื้นที่ระดับสูงภายในพรรคได้และเขาไม่ได้หายไปจากพื้นที่ 

พรรคเพื่อไทยต่างหากที่หาคนใหม่ไม่ได้ และสุดท้ายก็ตอบโจทย์โดยการเอา ‘ลูกทักษิณ’ มาเป็นหัวหน้าครอบครัว และเดินใน กทม.ในการเลือกตั้งครั้งนี้

 
เชื่อ ‘ชัชชาติ’ ไม่ได้แลนด์สไลด์เพราะพลังประชาธิปไตย 

สำหรับกรณีคะแนนของ ‘ชัชชาติ’ พิชญ์มองว่า ใช้คำว่า ‘แลนด์สไลด์’ ไม่เพียงพอ ทั้งนี้เป็นเพราะการเมืองระดับมหานครนั้นเป็นแบบ Coalition คือการเมืองที่ให้ทุกฝ่ายสนับสนุนเพื่อทำงานให้สำเร็จ ก้าวข้ามความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน

“การเมืองระดับชาติมันยังเป็นเรื่องอุดมการณ์ใหญ่ ขณะที่การเมืองระดับเมืองมันเป็น Coalition (การประสานความร่วมมือ) จึงไม่แปลกที่จะเห็นได้ว่าชัชชาติได้คะแนนจากสีแดงและอาจจะมีสีอื่นล้ำมาด้วย”

พิชญ์ยังให้ข้อสังเกตอีกว่า กรณีของชัชชาตินั้นไม่ได้ชนะเพราะเป็นพลังประชาธิปไตย เพราะการเมืองระดับเมืองใหญ่หลายที่ในโลก ก็เป็นลักษณะเช่นนี้ คือเน้นการทำงานเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วนเพื่อให้ทำงานสำเร็จ

นอกจากนี้คะแนนของชัชชาติยังมีกลุ่มคนฝั่งประชาธิปไตยที่สามารถ ‘ฉีดวัคซีนผสม’ ได้ด้วย คือ เลือกชัชชาติ แล้วก็เลือก ส.ก.ก้าวไกล ส่วนอีกฝั่งอาจจะไม่พอใจประยุทธ์แต่ไว้ใจชัชชาติ ฉะนั้น เรื่องความเชื่อมั่นในชัชชาติ ถูกใช้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้ใช้กับคนฝั่งแดงหรือส้ม

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า การเมืองสามเส้า

“การเมืองรอบหน้าอาจแบ่งเป็น 3-4 เฉดใหญ่ๆ ด้วยซ้ำ เราอาจจะมองว่ามันเป็นสองฝั่งแบบเดิมก็ใช่ แต่สิ่งที่ไม่ใช่คือมันเป็นสองฝั่งที่เป็นเฉด”

เหตุที่เป็นเช่นนั้น พิชญ์มองว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าอย่างไรก็ตกลงกันไม่ได้ โดยเฉพาะในกรณีมาตรา 112 ขณะที่อีกฝั่งก็ยังตกลงกันไม่ได้ระหว่าง ‘เอาประยุทธ์’ กับ ‘ไม่เอาประยุทธ์’ การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าจึงเป็น ‘มิกซ์แมสเสจ’ มีข้อความผสมปนเปไปหมด

“ในอนาคต ไม่ว่าจะอย่างไร แดงกับส้มไม่ร่วมกันอยู่แล้ว ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ฝั่งหนึ่งบี้เรื่อง 112 ส่วนอีกฝ่ายรอกระทืบด้วย 112 ครั้งหน้ามันจะเป็นการเมืองสามเส้า ต่อให้เพื่อไทยชนะ เพื่อไทยก็ปกครองไม่ได้ เพราะกระแส 112 ขึ้นอยู่แล้ว มันไม่ง่าย และมันจะเป็นการเมืองระยะสั้นด้วย เพราะกติกาหลายอย่างมันหมดอายุ ระบอบนี้ก็ต้องดิ้นรนที่จะต่ออายุ”

พิชญ์ ยังให้ความเห็นเรื่องผู้นำอีกว่า ในสังคมตอนนี้อยู่ระหว่าง “คนห่วยแตกแบบประยุทธ์” กับ “คนเพอร์เฟคแบบชัชชาติ” คำถามคือ ผู้นำที่จะยืนระหว่างคนทั้งสองคือใคร แต่ละฝ่ายเลือกได้ไหม

“ถ้าเลือกพิธา ทุกคนเอาหรือไม่ อนุทินหรือจุรินทร์มีคนเอาทั้งหมดหรือเปล่า ส่วนเพื่อไทย คุณแพทองธารไม่น่าจะขึ้นในรอบนี้ ถ้าขึ้นก็โดนอยู่แล้ว การยอมรับโดยฝ่ายอื่นๆ ยังเป็นเรื่องยาก” 

“พูดแบบนี้คนก็จะมองว่าไม่มีความหวัง นี่คือความเป็นจริงในอีกด้าน มันคือตัวหารของความหวัง กทม.มีความหวังแน่นอน แต่การเมืองในระดับชาติมันดูยังไม่มีความหวังนัก”


วิกฤต ‘ผู้นำ’ สองฝ่ายยังหาแคนดิเดตนายกฯ เด่นแบบ ‘ชัชชาติ’ ไม่ได้

พิชญ์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะตัวของชัชชาติด้วยว่า เป็นลูกหลานชนชั้นนำ เป็นไอดอลของคนเจน X และ Y ยึดติดกับความโลกสวย สังเกตจากหนังสือที่ชัชชาติอ่านไม่ได้ต่างกับ ‘ลัทธิบรรณาธิการนิยม’ ที่อ่านหนังสือแนวนี้ พวกทะลุกรอบ พวกมุมมองใหม่ ที่นิยมกันในยุคหนึ่งและอาจจนถึงวันนี้ แต่คนทำหน้าที่เหล่านี้ในปัจจุบันไม่ต้องเป็นบรรณาธิการ เป็นคนที่ทำยูทูปก็ได้ แต่ความต่างคือชัชชาติอ่านแล้วประยุกต์กับประสบการณ์กับความสำเร็จ กับกรณีศึกษาได้มากกว่าพวกที่อ่านแล้วมาสรุปตามสื่อ ชัชชาติเขามีพื้นความรู้และประสบการณ์ที่คนจำนวนไม่น้อยโหยหา อีกตัวอย่างชัชชาติไม่ได้มาสาย work-life balance ที่เน้นความบันเทิง สิ่งที่ชัชชาติพูดคือจริยธรรมของเจนเอ็กและบูมเม่อ ที่เจ็นวายเมื่อโตขึ้นจะเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า การทำงานหนักเป็นเรื่องที่ต้องทำ และก็ต้องออกกำลังกายดูแลตัวเอง ชีวิตต้องทุ่มเทกับงาน ให้กับองคกร ให้กับตัวเอง ให้กับครอบครัว พวกนี้ไม่ใช่จริยธรรมของพวกยัปปี้

ขณะที่สำหรับคนเจน Z ชัชชาติเป็น ‘Cool Dad’ เป็นพ่อที่ลูกไว้ใจได้ ลูกอาจจะไม่ได้เห็นด้วยทุกเรื่อง แต่คุณรู้ว่าพ่อคุณรักครอบครัว ทำงานหนัก และทำทุกอย่างเพื่อคุณ สิ่งเหล่านี้เป็นไปโดยธรรมชาติโดยที่เขาไม่ได้โปรโมท ค้นไปค้นไปตามกันเอง ความแสแสร้งทีทุกคนเคลือบแคลงมันก็ลดลง

“คนบ้าอะไรจะมีเรื่องราวกับคนทุกชนชั้นได้มากขนาดนี้ และมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นปลอมๆ มันเป็นธรรมชาติจริงแท้ของเขา ผู้นำบ้าอะไรวิ่งตี 4 คนอยากจะเห็นก็ออกไปดู แต่เขาไม่ได้ออกแบบให้ชีวิตเขาเป็นแบบนี้ในแง่ของการถูกมองเห็น เขาเป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว”

“ในอนาคตผมก็ยังไม่คิดว่า ชัชชาติจะไปเล่นการเมืองระดับชาติ เพราะชัชชาติเหมาะกับการเมืองแบบนคร การเมืองนครจะชอบหรือไม่ชอบ เราจะเห็นว่า เมืองที่ประสบความสำเร็จ ต้องเป็นเมืองที่สร้างเครือข่าย และมีความค่อยเป็นค่อยไปในการเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแปลงแบบต้องทำให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้ เพราะคุณไปจัดคนรวยมาก คนรวยก็ออกจากเมือง ไม่มีฐานเศรษฐกิจ ไปจัดคนจนมาก คนจนก็จลาจล นี่เป็นธรรมชาติของการพัฒนาเมือง”

พิชญ์ยังวิพากษ์สังคมไทยด้วยว่า การเมืองระดับชาติที่ผ่านมาไม่ได้สร้าง ‘พลเมือง’ แต่สร้างมวลชนที่ยึดติดกับสังกัด ไม่ว่าพรรคหรืออุดมการณ์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ติ่งพร้อมจะตบตีกัน เพราะเชื่อว่า ความจริงหนึ่งเดียวถูกกุมเอาไว้โดยพรรคที่เขาสังกัด ไม่ได้สร้างการทำงานร่วม ฉะนั้น ชัชชาติไม่ใช่ว่าไม่เหมาะที่จะเป็นนายกฯ แต่ชัชชาติเป็นไม่ได้ เพราะความขัดแย้งในระดับอุดมการณ์แบบนี้ยังสูงมาก


ประชาธิปไตยจะทำงานได้ดี เมื่อมีพื้นที่ให้คนลังเล-ยังไม่ตัดสินใจ 

เมื่อมองจากมุมของอุดมการณ์ประชาธิปไตย หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนกรุงเทพฯ นั้น ‘ไว้ใจไม่ได้’ และพร้อมจะเปลี่ยน โดยเฉพาะส่วนของสวิงโหวต

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ประชาธิปไตยที่ทำงานได้ดีต้องประมาณ 40 30 40 คือมีสักประมาณ 30 ที่เปลี่ยนใจไปมา ทำให้คนกลางๆ รู้สึกสวิงได้ การเปลี่ยนใจไปมาทำให้คนยอมรับกติกาว่า กติกาทำให้ทุกฝ่ายมีโอกาส ซึ่งตรงนี้อยู่ที่การวางกรอบคิดเรื่องการเมือง บางคนอาจมองว่าการเมืองคือเอาชนะโค่นล้ม หรือประชาธิปไตยเสียงข้างมาก โดยไม่ได้มองว่าธรรมชาติของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมต้องปกป้องสิทธิพื้นฐานเป็นหลัก และมีทางเลือกทำให้คนเปลี่ยนไปมาได้ การมี undecided voter (ผู้เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจ) สัก 30-40% ทำให้แต่ละฝ่ายลงมาแสวงหาความนิยมกับคนที่อยู่ตรงกลาง การพยายามจับเสียงตรงกลางนี้ทำให้เกิดการเมืองแบบซ้ายกลางหรือขวากลาง ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการเมืองแบบสุดขั้ว (extreme) ซึ่งมีทั้งรัฐประหาร หรือการลุกฮือของประชาชน  ซึ่งมีการบาดเจ็บล้มตาย และหมุนวนแบบนั้น ภายใต้ความเชื่อแบบฝ่ายตนเองคือคนจะพาไปสู่เป้าหมายสุดท้ายทางการเมืองที่ตายตัว

“แต่ผมก็ไม่รู้ว่าใครสร้างใคร รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย มันก็คิดว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู ต้องจัดการปิดปาก อีกฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่าความสำเร็จคือการโค่นล้มเผด็จการ มันเกิดมาคู่กัน ที่ใดมีแรงกด ที่นั่นมีแรงต้าน แต่ในประชาธิปไตยที่เป็นเสรีนิยม มันคือการแข่งขันภายใต้กติกา กติกามันป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง”

“ถ้าการเมืองเป็นแบบทุกคนมีโอกาสที่จะชนะ มันก็เป็นบรรยากาศที่คุณมีคนที่ยังไม่ตัดสินใจค่อนข้างเยอะ ทำให้การเมืองไม่เอกซ์ตรีม แต่อาจถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก ถ้าคุณอยู่ในโหมดที่ประชาธิปไตยต้องเปลี่ยนได้ทุกอย่าง ก็น่าคิดว่านั่นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ที่สำคัญบางครั้งคุณมุ่งหมายหาศัตรูทางการเมืองมากกว่าการมุ่งหาทางแก้ปัญหาที่ไปไม่พ้นกับการกำหนดศัตรูทางการเมือง และใช้การกำหนดศัตรูทางการเมืองเป็นไม้บรรทัดเดียวในการสร้างและบรรลุผลทางการเมือง"

“มันมีเส้นแบ่งนิดเดียวคือ การเป็นผู้ปกครอง คุณปกครองโดยเสียงข้างมาก เพื่อประโยชน์ของคนเสียงข้างมาก หรือคุณปกครองโดยเสียงข้างมากเพื่อประโยชน์ของทุกคน อันนี้เป็นสิ่งที่ยาก ไม่ใช่ว่าคุณจะมีเสียงข้างมากแล้วไม่เอาอะไรเลย เปลี่ยนทุกอย่าง แปลว่าคุณทำให้คนกลุ่มน้อยไม่มีที่ยืน” 

อย่างไรก็ตาม พิชญ์ เสริมด้วยว่า แต่ในหลายๆ สังคม คนกลุ่มน้อยก็มีอำนาจมาก แบบบ้านเรา อำนาจไม่ได้มาจากจำนวน แต่อำนาจอาจจะมาจากสัญลักษณ์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ คนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงก็อาจสร้างให้เกิดอะไรบางอย่างได้ 

"เรื่องทั้งหมดยังไม่มีสูตรสำเร็จ ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ การวิเคราะห์วันนี้เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน เหตุไม่คาดฝันเกินขึ้ทุกอย่างก็ยังเป็นไปได้"

ทัตตพันธุ์ สว่างจันทร์
คนหาข่าวการเมืองประจำทำเนียบฯ-องค์กรอิสระ-กระทรวงมหาดไทย เนิร์ดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม-วาทกรรมการเมือง-เบียร์
18Article
0Video
0Blog