ไม่พบผลการค้นหา
‘กัณวีร์ ’ หนุนสภาฯ ตั้ง กมธ.สร้างสันติภาพชายแดนใต้ ชี้รัฐยังไม่แก้รากเหง้าปัญหา ต้องต่อสู้การลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน เสนอ ‘ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ-ยกเลิกกฎหมายพิเศษ-ปรับโครงสร้างราชการ’ ย้ำทหารคุยกันเองสันติภาพไม่เกิด ภาคประชาชนต้องนำการเจรจา

วันที่ 11 ต.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาญัตติร่วม เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ที่พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

ในช่วงหนึ่ง กัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้อภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว โดยระบุว่า รากเหง้าของปัญหายังไม่เคยถูกแก้ไขตั้งแต่อดีต ทั้งนี้เราไม่ได้ต่อสู้กับกลุ่มความรุนแรงใดๆ แต่กำลังต่อสู้กับการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกของประชาชน การปิดกั้นพื้นที่สาธารณะและอัตลักษณ์ แต่ด้วยการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด ทำให้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

กัณวีร์ ชี้ว่า จำเป็นต้องตั้งสมมติฐานและสมการใหม่ โดยพรรคเป็นธรรมเสนอแนวทางการแก้ไข 3 ขา เพื่อเข้าไปพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญอย่างตรงไปตรงมา ขาแรกคือ ต้องยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ สส.ทุกคนในสภาฯ จำเป็นต้องพูดถึงและวิเคราะห์ทางแก้ไขร่วมกัน ต้องหารือการเสนอกฎหมายรองรับเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น และต้องจัดให้มีการพูดคุยในพื้นที่ประเทศไทยโดยได้รับการคุ้มกัน

“การพูดคุยสันติสุขกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นว่าการให้ทหารมานั่งกับทหารแล้วจะสร้างสันติภาพได้ สันติภาพไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยปลายกระบอกปืน แต่สันติภาพจำเป็นต้องมีการพูดคุย โดยใช้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงต่างๆ เข้ามาเป็นผู้นำ แล้วให้รัฐบาลกับฝ่ายผู้เจรจามานั่งพูดคุยกันว่าการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร” กัณวีร์ กล่าว

ขาที่ 2 คือ แก้กฎหมายที่ทับถมปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน กฎหมายพิเศษต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการพิจารณายกเลิกหรือแก้ไข เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายความมั่นคง มาตรา 113, 116, 215 ต้องยกเลิกให้ได้ เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน

และขาที่ 3 คือ คณะกรรมาธิการต้องพูดคุยอย่างละเอียดเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างรัฐราชการ หน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทหน้าที่ซ้อนทับกัน เช่น กอ.รมน. ศอ.บต. และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จึงต้องศึกษาพูดคุย หากข้อเสนอเหล่านี้ได้รับการพูดคุยในกรรมาธิการฯ เชื่อว่าจะสามารถตกผลึกแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่ปาตานีได้อย่างสัมฤทธิ์ผล