ไม่พบผลการค้นหา
'ธนาคารโลก' แนะไทยต้องมีกฎหมายที่เหมาะสม สำหรับผลักดัน 'เศรษฐกิจดิจิทัล'

ในยุคแห่งการแทรกแซงของเทคโนโลยี การผลักดันประเทศไปข้างหน้าจำเป็นต้องก้าวให้ทันและก้าวนำเทรนด์เหล่านั้น ซึ่งต้องอาศัยทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติรูปธรรมและนามธรรมของรัฐบาล การพัฒนาต่อยอดผ่านการแข่งขันในตลาดเสรีจากรัฐบาล และการใช้งานอย่างชาญฉลาดและเต็มประสิทธิภาพของประชาชน

ประเทศไทยในมิติของเศรษฐกิจดิจิทัล แท้จริงแล้วมีการดำเนินการทั้งในระดับรัฐบาล เอกชน รวมถึงประชาชน อย่างไรก็ตาม ความเป็นรูปธรรมและการใช้ประโยชน์จากหลากหลายโครงการเหล่านั้นหากไม่อยู่ในขั้นการวิจัย-ทดลอง ก็ยังไม่สามารถวัดผลให้เป็นรูปธรรมได้มากเท่าที่ควร

รัฐบาลชูโครงการ-ยืนยันความก้าวหน้า

โครงการอินเทอร์เน็ตประชารัฐฯ ถูกนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเด่นในการอธิบายความก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย 

งาน worldbank

โดยอ้างว่า ประเทศไทยโดยเฉพาะในหมู่บ้านห่างไกลจะมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างทั่วถึงภายในสิ้นปีนี้ พร้อมชี้ว่าสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ยังได้มอบรางวัลชนะเลิศให้กับโครงการอินเทอร์เน็ตประชารัฐฯ จากการเข้าไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่แท้จริงของประชาชนไทยนั้นยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 85 หรือคิดเป็นจำนวน 120 ล้านเครื่อง และ อินเทอร์เน็ตบ้าน ผ่านเทคโนโลยีบรอดแบรนด์ ซึ่งมีการเข้าถึงของประชาชนเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น

ส่วนประเด็นที่นายพิเชฐ นำไปเสนอต่อธนาคารโลกนั้น เป็นโครงการที่จะสร้างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ส่วนกลางของแต่ละหมู่บ้านเท่านั้น โดยทำการติดตั้งไปแล้วทั้งหมด 57,000 หมู่บ้าน และยังเหลืออีกประมาณ 15,000 หมู่บ้าน ซึ่งภาครัฐจะเปิดโอกาสให้บริษัทรายย่อยที่อยากเข้ามาพัฒนาบริหารสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ถูกจัดเตรียมไว้มีโอกาสในการประกอบธุรกิจ

เสาสัญญาณ.jpg

ซึ่งหมายความว่าประชาชนจะไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรีอย่างที่ภาครัฐพยายามให้ประชาสังคมและหลายภาคส่วนเข้าใจ 

นอกจากโครงการเชิดหน้าชูตาอย่างอินเทอร์เน็ตประชารัฐฯ โครงการเมืองอัจฉริยะ (smart cities) ก็ถูกหยิบขึ้นมาพูดเช่นเดียวกัน โดยมีการอธิบายความก้าวหน้าของเมืองนำร่องทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ถึงการร่วมมือกับภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม กลับไม่ได้มีการพูดถึงว่าเมืองเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเมืองอัจฉริยะอย่างไร นอกจากประเด็นที่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็น 3 เมืองในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) 

สิ่งสำคัญคือ 'กฏหมาย' ไม่ใช่ 'เทคโนโลยี'

ธนาคารโลกชี้ประเด็นความสำคัญของรัฐบาลต่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล โดยยกตัวอย่างถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อาทิ การวางโครงข่ายสัญญาณบรอดแบรนด์ที่ทั่วถึง โดยตัวเลขจากรายงานธนาคารโลกชี้ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น และยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ขณะที่อัตราการเข้าถึงระบบการชำระเงินออนไลน์ซึ่งกลายมาเป็นระบบหลักร่วมในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วมีเพียงร้อยละ 19 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก

'นาตาชา เบสชวอเนอร์' ผู้เชียวชาญด้านไอซีทีอาวุโส ของธนาคารโลก เสริมว่า รัฐบาลควรต้องมีระบบการพัมนาทรัพยากรมนุษย์ที่เหมาะสมและตอบโจทย์กับสิ่งที่อุตสาหกรรมในอนาคตต้องการ โดยต้องสร้างระบบการเรียนรู้ระยะสั้นร่วมกับการเรียนรู้ระยะยาวและตลอดชีวิต โดยมีการผสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อหาการเรียนการสอนตอบโจทย์ตลอดอย่างแท้จริง

งาน worldbank

นาตาชา ชี้ถึงอีกประเด็นสำคัญคือการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะจากบริษัทให้บริการต่างประเทศซึ่งตามกฎหมายรัฐบาลไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้ โดยชี้ว่าประเทศอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย มีการนำรูปแบบการเก็บภาษีที่เน้นไปที่ตัวสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแทนที่จะไปเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันและไม่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างประเทศ 

"คำถามสำคัญอยู่ที่รัฐบาลจะหาสมดุลในการเก็บภาษีจากบริษัทแต่ยังส่งเสริมให้พวกเขาลงทุนอย่างไร" นาตาชา กล่าว

แท้จริงแล้วการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยหรือโลกอีกต่อไป หลายภาคส่วนเริ่มเรียกช่วงเวลาปัจจุบันว่าเป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นคลื่นลูกที่ 3 แล้วด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าผิดหวังกับช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ที่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถสร้างนโยบายที่เป็นรูปธรรมในเชิงประจักษ์และในเชิงผลลัพธ์ให้กับประชาชนได้สักที 

การยิ่งปล่อยให้เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าขณะที่ประเทศยังไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนได้ใช้อย่างทั่วถึงและไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ได้เป็นเพียงการตามโลกไม่ทัน เพราะแท้จริงแล้วนี่คือการเดินถอยหลัง หรือจะเรียกว่าวิ่งลงเหวก็ไม่ดูเป็นการกล่าวเกินจริงสักเท่าไหร่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: