หากย้อนอดีตไปเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทนได้รับความนิยมที่สูงจากผู้ลงทุนในตลาดหุ้น จากแผนการสนับสนุนด้านพลังงานที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนจากพลังงงานสะอาด นำมาสู่การรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูง เพื่อดึงดูดภาคเอกชนให้หันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทดแทนจากโซลาร์ฟาร์ม หรือ โซลาร์รูฟ รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม การเติบโตที่สูงทำให้มีบริษัทในกลุ่มดังกล่าวเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก
โดยปัจจุบันพบว่า บริษัทด้านพลังงานทดแทนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีมากกว่า 11 บริษัท และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) อีกกว่า 10 บริษัท
แต่แล้วก็มีข่าวช็อกวงการ เมื่อรัฐมนตรีพลังงานเปิดเผยนโยบายการงดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงานรายงานว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วงระยะ 5 ปีนับจากนี้ ทั้งในส่วนที่เป็นการผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และรายเล็กมาก (VSPP) เนื่องจากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบเพียงพอกับความต้องการใช้อยู่แล้ว
ขณะที่ผ่านมาการส่งเสริมจากรัฐทั้งในรูปแบบของ Adder และ Feed in Tariff (FiT) นั้น มีผลให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-25 สตางค์ต่อหน่วยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวจะยกเว้นสำหรับโครงการที่ส่งเสริมความมั่นคงให้กับชุมชน เช่น โครงการชีวมวลสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 300 เมกะวัตต์ และโครงการที่สามารถผลิตเพื่อขายไฟฟ้าได้ในอัตราที่ไม่แพงไปกว่าราคาขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ราคา 2.40 บาทต่อหน่วย
สำหรับกรณีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาบ้านแบบเสรี หรือโซลาร์รูฟท็อปเสรีนั้น หากจะผลิตเองใช้เอง กระทรวงพลังงานก็ไม่ได้ปิดกั้น แต่หากจะขายเข้าระบบนั้น ขณะนี้มีข้อจำกัดเรื่องความพร้อมของสายส่งที่จะกระจายให้ทั่วถึง ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติมให้เป็น Smart Grid ที่จะมีทั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System -ESS) ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นั้นคงต้องรอแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) เสร็จก่อน
ดังนั้น อาจทำให้เกิดความกังวลในหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนกับอนาคตที่ไม่ชัดเจนว่ากลุ่มดังกล่าวจะสามารถเข้าลงทุนได้หรือไม่ และการเติบโตหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
พลังงานทดแทนกลายเป็นหุ้นไร้เสน่ห์
นายวัชระ แก้วสว่าง เซียนหุ้นเทคนิคชื่อดัง เปิดเผยมุมมองของผู้ลงทุนต่อธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนว่า ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีอยู่เดิมปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ยังไม่เปลี่ยน ธุรกิจยังสามารถทำกำไรได้ตามปกติ สิ่งที่ต้องจับตาคือผู้เล่นหน้าใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดจะทำได้ยากมากขึ้น และเสน่ห์ของการลงทุนหายไป
“พลังงานทดแทนจะกลายเป็นหุ้นที่ขาดเสน่ห์ ความเชื่อมั่นมันหายไป เพราะการเติบโตในอนาคตไม่แน่นอน เมื่อรัฐบาลให้ความเห็นว่า พลังงานของประเทศไทยเพียงพอแล้ว ก็เท่ากับว่า หลังจากนี้โอกาสการขยายตัวของธุรกิจพลังงานก็จะหายไปด้วย เมื่อโอกาสทางธุรกิจหายการเติบโตก็หาได้ยาก ไม่ว่าพลังงานทดแทนชนิดไหนก็หมดเสน่ห์”
ทั้งนี้ โอกาสเติบโตก็จะยากขึ้น ในด้านความน่าสนใจลงทุน นักลงทุนต้องประเมินว่า ผลกระทบกับภาวการณ์นี้มีอะไรบ้าง และราคาหุ้นที่เทรด (ซื้อ-ขาย) กันอยู่แพงเกินไปหรือไม่ กับแนวโน้มการเติบโตในอนาคตคุ้มกับราคาหรือไม่
และสิ่งที่ต้องจับตาคือ "นโยบายหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป" และ "โอกาสของการเติบโตในกลุ่มนี้ยังมีอีกหรือไม่"
ทั้งนี้ การลงทุนในตลาดหุ้นในปีนี้ ลงทุนยากเพราะตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมาหลายปี ต้องระวังตัว ซึ่งปีนี้จะเป็นปีที่ดีสุดของตลาดหุ้น แต่ไม่รู้ว่าจะจบตรงไหน จะ 1,900 จุดหรือไม่
ธุรกิจพลังงานทดแทนเข้าระดมทุนยากขึ้น
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในเครือ บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงิน นำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ให้มุมมองว่า การระดมทุนของกลุ่มพลังงานทดแทนในตลาดหุ้นไทยในอนาคต มีโอกาสจะลดลง เพราะทิศทางการเติบโตจำกัด โอกาสจะหาผลตอบแทนยากขึ้น กำไรต่างๆ อาจเติบโตลดลง
“การะดมทุนของกลุ่มพลังงานทดแทนในอนาคต คาดว่าจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยลดลง เพราะทิศทางการโตจำกัด เมื่อการเติบโตจำกัด กำไรในอนาคตก็จำกัดไปด้วย ทำให้การระดมทุนในตลาดทุนจะยากขึ้น” นายเอกจักร กล่าว
ทิศทางการระดมทุนในระยะถัดไป ต้องรอความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะมีการส่งเสริมพลังงานทดแทนต่อเนื่องหรือไม่ หากไม่มีการส่งเสริม ก็ขึ้นอยู่กับสตอรี่ของแต่ละบริษัท หากมีสตอรี่ที่ดี เช่น การทำธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ ก็ยังสามารถเติบโตได้ เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทในกลุ่มพลังงานทดแทนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก และมีการเติบโตที่สูง จึงถือว่าเป็นปีทองของการระดมทุนของกลุ่มพลังงานทดแทน
สำหรับบริษัทที่เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่แคปปิตอล วันฯ ดูแลอยู่นั้น มีทั้งสิ้น 15 บริษัท ซึ่งปีนี้ยังไม่มีกลุ่มพลังงานทดแทน โดยในปีนี้ จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนทั้งสิ้น 3 บริษัท ในกลุ่ม ไอที และโรงพยาบาล และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอทั้งหมด
พลังงานไทยออกไปโตต่างประเทศ
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทยังให้ความสนใจขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศไทย แต่สิ่งที่บริษัทต้องการคือ แผนการขยายพลังงานทดแทนที่ชัดเจนของไทยว่าจะไปทิศทางไหน เพื่อประกอบกับการวางแผนการเติบโตในอนาคต
“บริษัทมีความพร้อมอย่างมากที่จะขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในไทย ซึ่งทิศทางของธุรกิจพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโซลาร์ฟาร์ม ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างมาก โดยเฉพาะการรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูง”
แต่ในภาวะปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนพัฒนาไปไกลมาก ต้นทุนต่างๆ ลดลง ทำให้ไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม สามารถเข้าไปแข่งในด้านต้นทุนกับโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ได้ แต่ต้องรอดูแผนในอนาคตว่า รัฐบาลจะมีทิศทางอย่างไร
อย่างไรก็ตาม สำหรับ ‘ซุปเปอร์บล๊อก’ การขยายธุรกิจในอนาคต จะให้ความสำคัญกับต่างประเทศมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ทำเอ็มโอยูกับประเทศเวียดนามในการขยายโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 700 เมกะวัตต์ ทำให้การเติบโตในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะมาจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 90
Photo by American Public Power Association on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: