ไม่พบผลการค้นหา
การเป็น LGBTQ ในภูฏานไม่ถือเป็นอาชญากรรม หลังฝ่ายนิติบัญญัติลงมติแก้ไขกฎหมาย 'พฤติกรรมทางเพศผิดธรรมชาติ'

ที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาประเทศภูฏาน ลงมติให้แก้ไขแนวปฏิบัติของประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดโทษอาชญากรรมของผู้มี "พฤติกรรมทางเพศผิดธรรมชาติ" ซึ่งถือเป็นการกำหนดโทษต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

มาตรา 213 และ 214 ของประมวลกฎหมายอาญาภูฏาน ระบุว่า "เพศผิดธรรมชาติ" ซึ่งมักถูกตีความอย่างกว้างขวางว่าเป็นพฤติกรรมการรักร่วมเพศ

โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติ 63 คนจากทั้งหมด 69 คนได้ร่วมลงมติเห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อยกเลิกบทบัญญัติโทษในทางอาญา

แม้จะต้องรอผ่านขั้นตอนการทูลเกล้าฯ เพื่อให้สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อออกเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ แต่ก็นับเป็นความคืบที่ส่งผลให้ภูฏานกลายเป็นประเทศในเอเชียชาติล่าสุด ที่คลายความเข้มงวดของกฎหมายต่อต้านเกย์ ซึ่งควบคุมความสัมพันธ์ส่วนตัวของชาว LTBGQ

ด้านผู้อำนวยการของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในภูฏาน (Rainbow Bhutan) เผยกับรอยเตอร์ว่า การผ่านกฎหมายนี้ถือเป็นการรับรองด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานครั้งล่าสุดของภูฏาน และถือเป็นชัยชนะที่สำคัญของชุมชน LGBT ในประเทศ

ก่อนหน้านี้ในปี 2561 ศาลฎีกาของอินเดีย ได้มีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้กฎหมายอาญาที่ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันเป็นโมฆะ ซึ่งถือเป็นกฎหมายต่อต้านเกย์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ทั้งยังตัดสินว่าชาว LGBT ในอินเดียต้องได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐานตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี นักวิจัยอาวุโสในโครงการสิทธิของชาว LGBT ของกลุ่มฮิวแมนไรท์วอช กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ภูฏานซึ่งเป็นชาติอนุรักษนิยมชาติหนึ่ง มีความพยายามผลักดันให้ตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ แต่ภูฏานยังมีอีกประเด็นที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิของชาว LGBT ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบของสังคมจะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่

ที่มา : Reuters , NYT