ไม่พบผลการค้นหา
สื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘เฟซบุ๊ก’ ลบโพสต์โฆษณาค้าสัตว์ป่าหลายร้อยโพสต์ออกจากแพลตฟอร์มในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อขจัดการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท่ามกลางการค้าสัตว์ป่าทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น

แม้เฟซบุ๊กจะห้ามการโพสต์ขายสัตว์ป่าผ่านแพลตฟอร์ม แต่ข้อมูลจากนักวิจัยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลระบุว่า ตลอดเวลา 5 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือน พ.ค. 2563 พบว่าแค่ในเมียนมาประเทศเดียว ก็มีการโพสต์ขายสัตว์ป่าบนเฟซบุ๊กมากถึง 2,143 ตัวจาก 94 สายพันธุ์ โดย 92% ของโพสต์เหล่านี้เสนอขายสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตซึ่งรวมถึงนกล่าเหยื่อ ขณะที่ชะนี ค่าง แมวป่า และนกเงือกก็เป็นที่ต้องการสูง  

หน่วยงานการกุศลเพื่อสัตว์ป่าเผยว่า ระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ค. ที่ผ่านมา มีการลบโพสต์ บัญชี และกลุ่มกว่า 500 รายการออกจากเฟซบุ๊ก หลังบรรดาองค์กรการกุศลได้แจ้งเตือนไปยังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ดังกล่าวที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้ลบเนื้อหาซึ่งละเมิดกฎของแพลตฟอร์มอย่างเร็วที่สุดเมื่อได้รับการแจ้งเตือน โดยโฆษกเฟซบุ๊กกล่าวว่า บริษัทมีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกเพื่อช่วยต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย 

นักรณรงค์เผยว่าการเกิดโรคที่ระบาดจากสัตว์ป่า เช่น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องสงสัยว่าแพร่จากสัตว์สู่คน ไม่ได้ทำให้ความต้องการของผู้ซื้อหมดไป โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งสำคัญของการค้าสัตว์ป่าที่ทำเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งยังพบว่าผู้ค้าสัตว์ป่าใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นในการขาย เนื่องจากสามารถเข้าถึงคนได้เป็นวงกว้างและมีช่องทางแชทที่เป็นส่วนตัว โดยผู้จัดการโครงการประจำภูมิภาคของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลระบุว่าพบปรากฏการณ์นี้เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ และปริมาณผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ถูกขายผ่านออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นราว 2 เท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา 

ทั้งนี้ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการเมียนมาเพิ่งถูกวิจารณ์หนักจากนักอนุรักษ์จากแผนที่จะอนุญาตให้เพาะขยายพันธุ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ 175 สายพันธุ์ในฟาร์มได้ โดยครอบคลุมถึงการเพาะเสือและตัวลิ่น โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของกรมป่าไม้เมียนมาให้เหตุผลว่า โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญกระตุ้นการลักลอบค้าสัตว์ป่า และแผนการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์มีเป้าหมายเพื่อลดการล่าสัตว์ป่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักอนุรักษ์นานาชาติมองว่าแผนดังกล่าวอาจยิ่งเพิ่มความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา ซึ่งจะยิ่งบ่อยทำลายความพยายามในการคุ้มครองสัตว์ป่าหายาก และการขยายพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อการค้าก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคที่แพร่จากสัตว์ป่าสู่คนอีกด้วย 

อ้างอิง Reuters / The New York Times