หน่วยงานความร่วมมือด้านนโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ (IDPC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา IDPC มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM) เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON) และมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ได้ร่วมกันจัดงานประชุมสัมมนา หัวข้อ การเข้าถึงบริการสุขภาพและการปกป้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ และมีเวทีเสวนาในประเด็นดังกล่าวที่มีความเชื่อมโยงตั้งแต่ความเข้าใจของชุมชนที่มีต่อสารเสพติดและความหลากหลายทางเพศไปจนถึงระดับนโยบายที่มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพต่อผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศอันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิ ตีตราและเลือกปฏิบัติ
ในการสัมมนาได้มีการบรรยายและจัดวงเสวนา เริ่มจากการบรรยายพิเศษ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ศาสตราจารย์กิตติคุณและที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและนโยบาย IHRI ขึ้นกล่าวบรรยายพิเศษเรื่องการจัดระบบบริการสุขภาพที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพและคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้รับบริการว่า การจัดระบบบริการสุขภาพที่อยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลายของผู้รับบริการต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้รับบริการ สิทธิที่พึงมี เหมือนกับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ไม่ใช่สิทธิพิเศษ การเข้าถึง การอยากเข้ารับบริการ (acceptability) ด้วยความสบายใจ ปราศจากความกลัวเรื่องการตีตรา และเลือกปฏิบัติ ไม่มีทัศนคติเชิงลบต่อพฤติกรรมของคนไข้ โดยบริการเหล่านั้นจะต้องได้มาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว และสามารถรับได้ในที่เดียว (one-stop service) ซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการจัดหาบริการเหล่านั้นตามมาตรฐานสากล มีการจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางของความคิด เป็นผู้วางรูปแบบการบริการ และมีส่วนร่วมในการจัดและให้บริการที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองตรงตามสถานการณ์ ควบคู่ไปกับบริการของภาครัฐที่ควรเน้นหนักไปกับการบริการสุขภาพแบบทุติยภูมิ และตติยภูมิ
จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้จัดการโครงการด้านการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) บรรยายต่อในเรื่องเพศที่หลากหลายกับการใช้สารเสพติด และมายาคติของสังคม โดยได้ให้ข้อมูลการให้บริการด้านสุขภาพต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีการใช้สารเสพติดมีข้อจำกัดที่มีความซับซ้อนจากมายาคติของสังคมไทยตั้งแต่ระดับกฎหมาย นโยบายยาเสพติดที่เอาผิดกับผู้เสพและการบังคับให้สมัครใจบำบัดภายใต้วาทกรรม “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ที่ทำให้เกิดแบบแผนการจัดการปัญหายาเสพติดในชุมชนที่มีการจัดโซน “สีขาว” ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสีขาว โรงงานสีขาว หรือชุมชนสีขาว และการจัดการปัญหายาเสพติดด้านสาธารณสุขที่เน้นให้ผู้ที่ใช้ยาเสพติดทุกคนต้องเข้ารับการบำบัดโดยไม่ได้ยึด Harm Reduction (การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด) เป็นแนวคิดหลักในการจัดการให้บริการ หรือแม้กระทั่งการจัดการปัญหายาเสพติดในระบบการศึกษาและสาธารณะที่มีการนำเสนอสื่อสารในลักษณะของการห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยว เสนอโทษ และภาพข่าวในเชิงลบ ที่ส่งผลต่อการจัดการในครอบครัวหากมีสมาชิกในครอบครัวใช้ยาเสพติดจะต้องถูกส่งไปบำบัดและต้องเลิกยาให้ได้หากเลิกไม่ได้จะถูกส่งไปเรือนจำ ทำให้ตัวผู้ใช้ยากล่าวโทษ ลดทอนคุณค่าและศักยภาพจนนำไปสู่การตีตราตนเอง
จารุณี เสนอทางออกต่อการปรับมุมมองของสังคมที่มีต่อกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือผู้ใช้สารเสพติดโดยการมองถึงข้อเท็จจริงที่รอบด้านและเรียนรู้แนวความคิดของผู้ใช้สารเสพติด เช่น ทำไมบางคนถึงเลือกใช้ Chemsex ที่มีรูปแบบของการใช้สารเสพติดที่มีความถี่และเสี่ยงต่อการเกิดการใช้ยาเกินขนาด (Overdose) และการมีมุมมองและหลักคิดแบบองค์รวม มีความเข้าใจความเป็นมนุษย์และการจัดการให้บริการสุขภาพที่ครอบคลุมรอบด้านที่ทำให้ผู้ใช้สารเสพติดสามารถเผชิญสถานการณ์ด้วยตนเอง
เสวนาช่วงแรกเป็นการถอดบทเรียนจากการทำงานของภาคประชาสังคมในการสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่คำนึงถึงความหลากหลายในมิติเพศ มีตัวแทนของภาคประชาสังคมร่วมให้ความเห็นที่น่าสนใจในการจัดการบริการสุขภาพโดยชุมชน ซึ่งอาร์ม อัครเษรต เชวงชินวงศ์ ผู้ก่อตั้ง KRUBB Bangkok ได้ให้แนวคิดในการจัดการให้บริการด้านสุขภาพที่ต้องมีความเข้าใจ มีความรู้ การยอมรับจากสังคมในการอยู่ร่วมกับผู้ใช้สารเสพติด ที่ต้องมีการสื่อสารต่อสาธารณะ และการใช้ Harm Reduction เป็นแนวทางหลักในการให้บริการที่รัฐเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น รวมถึงอาร์ค สาโรจน์ คุณาธเนศ ตัวแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องการใช้สารเสพติด และเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ติดยาเสพติดนิรนาม (Narcotic Anonymous: NA) ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดให้คนที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัยได้เดินเข้ารับการบำบัดและไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน โดยมีรูปแบบการบำบัดแบบกลุ่มที่จะมีการนั่งล้อมวง การแบ่งปันประสบการณ์ ที่เป็นระบบสนับสนุนการยอมรับปัญหาและเปิดใจเข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจด้วยตนเอง
ดนัย ลินจงรัตน์ จากสมาคมฟ้าสีรุ้งประเทศไทยที่มีการศึกษาการใช้ Chemsex ในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีการฉีด (PWID) ที่มีความหลากหลายทางเพศตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาสามารถทำงานเข้าถึงเพื่อนผู้ใช้สารเสพติดภายในกรุงเทพได้มากขึ้นโดยใช้รูปแบบการให้บริการในรูปแบบ KLPHS หรือการบริการสุขภาพที่นำและดำเนินการโดยชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย (Key population-led health services) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเพื่อนได้ง่ายและเป็นมิตรต่อเพื่อนผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีคุณเชาว์พิชาญ เตโช เจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านจิตวิทยา สำนักอนามัย คลองเตย ได้ให้ข้อมูลว่ามีการตั้งคลินิกก้าวใหม่การให้บริการพื้นที่บริการ 18 แห่งทั่วกรุงเทพฯ จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้เกิดศูนย์บำบัดฟื้นฟูแห่งแรกของประเทศไทยและของเอเชียโดยชุมชนเป็นฐานที่ร่วมดำเนินงานกับสมาคมฟ้าสีรุ้ง
และในช่วงสุดท้ายในการสัมมนา มีวงเสวนาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและการปกป้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดฯ ที่มีประเด็นหลักคือ การยกเลิกความผิดโทษทางอาญาในกรณีที่ผู้ใช้สารเสพติดเพื่อเสพได้หรือไม่ ประกาญจน์ ชอบไพบูรณ์ นิติกรชำนาญการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้ให้มุมมองในแง่ของประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบันว่าเนื้อหาของกฎหมายยาเสพติดในประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกยังอยู่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่ผู้ใช้สารเสพติดยังถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่ในประมวลกฎหมายฉบับใหม่ของไทยอนุญาตให้สามารถใช้สารเสพติดในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้ คือแพทย์สามารถสั่งใช้สาเสพติดในผู้ป่วยในกรณีที่มีความจำเป็น และนักวิจัยที่สามารถทำการวิจัยการใช้สารเสพติดในมนุษย์ได้ โดย พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองศาสตราจารย์, ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เสริมมุมมองของรัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและผู้บังคับใช้กฎหมายในการทำงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่ยังมีรูปแบบการจัดการในรูปแบบเดิมดังนั้นควรมีการสื่อสารให้รัฐยึดหลักการ Harm Reduction มากขึ้น
ปรีชญาณ์ นักฟ้อน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กล่าวในมุมมองของนักวิชาการต่อประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ว่ากฎหมายฉบับนี้มีความพยายามที่จะลดทอนความผิดทางอาญาในการเสพสารเสพติดโดยมีกระบวนการส่งต่อเพื่อเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู แต่ในเชิงมิติทางสังคมผู้เสพได้กลายเป็นอาชญากรแบบไม่เป็นทางการจากการตีตราทางสังคมไปแล้ว และการเข้าไปเป็นผู้ป่วยและรับการบำบัดยาเสพติดโดยรัฐก็ทำให้เขายังคงรู้สึกว่ายังเป็นผู้ใช้ยาที่มีความผิดอยู่
นอกจากนี้ยังมีความพยายามของภาคประชาสังคมที่มีการติดตามการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ให้ความเห็นในฐานะที่ทำงานในภาคประชาสังคมมาอย่างยาวนานว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้มีลักษณะของการตีตราและเลือกปฏิบัติรวมถึงการไม่ได้ยึดแนวทางการ Harm Reduction ที่เป็นรูปแบบที่นานาประเทศยึดเป็นแนวทางการทำงานด้านยาเสพติด และภาคประชาสังคมได้พยายามผลักดันและได้ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้ใช้ยาเสพติดฯ (ภาคประชาชน) โดยประธานสภาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้มีสาระสำคัญคือ มุ่งเน้นหลักการบำบัดรักษา ฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด และส่งเสริมให้ชุมชน องค์การภาคประชาสังคม และ เอกชน เข้ามามีบทบาทด้านการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดหรือ Harm Reduction เพื่อให้ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถเข้าถึงและเข้ารับบริการด้านสุขภาพโดยไม่ถูกตีตรา ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและไม่ถูกบังคับให้บำบัดรักษา แต่ประธานสภาได้มีคำวินิจฉัยว่า ร่างฯ พรบ. นี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีทำให้ไม่ได้รับการพิจารณา ดังนั้นการทำงานด้านนโยบายและกฎหมายจะยังคงต้องทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งในการยื่นแก้กฎหมาย ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจใหม่ในสังคมที่มีต่อผู้ใช้สารเสพติด การติดตามและการสร้างเครือข่ายเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิโดยมี “นิติกรชุมชน” ที่จะเป็นกลไกที่ทำงานร่วมกับนักกฎหมายในชุมชน
และในช่วงท้ายของการเสวนาได้มีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมว่ารัฐควรส่งเสริมการเข้าถึงการให้บริการสุขภาพของของกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่คำนึงถึงความหลากหลายในมิติเพศทั้งในด้านการให้บริการสุขภาพ ด้านสิทธิที่ผู้ใช้สารเสพติดจะไม่ถูกละเมิด ถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงสังคมมีความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศและการใช้สารเสพติดมากขึ้นทั้งในระดับบุคคล เครือข่ายคนทำงาน และในระดับนโยบายที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการให้บริการสุขภาพที่เป็นมิตร มีระบบกลไกการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ และการให้ความรู้เรื่องสารเสพติดและความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรรับรู้ และการเปิดพื้นที่ Friendly Safe Place อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ภาคประชาสังคมสามารถร่วมจัดการให้บริการในชุมชนได้