ด้วยสายตาของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้คลุกคลีกับป้ายหาเสียง และติดตามประเด็นทางการเมืองมายาวนาน ส่งผลให้ บาส-ภาณุพงศ์ จันทร์โสภา เห็นว่า ป้ายหาเสียงที่ติดอยู่ทุกหัวมุมถนน แม้จะดูคล้ายๆ กัน แต่มันออกแบบมาเป็นเอกลักษณ์ เพราะหากลองตัดออกแค่ส่วนหนึ่งออกมาทำกระเป๋าก็ยังสามารถแยกออกอยู่ดีว่า มันมาจากป้ายหาเสียงของพรรคใด
“ผลงานทำเอาสนุก อยากโพสต์ให้เพื่อนๆ บนเฟสบุ๊คฮากันเล่นๆ โดยนำเพียงบางส่วนของป้ายหาเสียงมาออกแบบเป็นกระเป๋า แต่หลายคนก็ยังดูออกว่าเป็นพรรคไหน ส่วนรูปแบบกระเป๋าใช้ของฟรายถาก (Freitag) สีขาว เพราะตัดต่อง่ายแค่นั้นเอง"
บาสเสริมว่า ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 54 เกิดความคิดร่วมกับเพื่อนๆ เกี่ยวกับป้ายหาเสียงว่า สามารถนำมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เนื่องจากกราฟิกป้ายหาเสียงไม่ใช่สิ่งสวยงาม แต่ในฐานะนักออกแบบก็อยากหยิบชิ้นงานเหล่านี้มาทำให้สวยงานยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา หลายคนคงชินตามกับป้ายหาเสียงที่มักถูกนำกลับมาใช้ใหม่เป็นผ้าปูโต๊ะ หรือกันสาดตามร้านอาหาร หรือบ้านเรือน ทว่าหากมองด้วยสายตาของนักออกแบบผลิตภัณฑ์บาสบอกว่า ป้ายหาเสียงนั้นไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้จริง อีกทั้งยังต่อยอดยาก
“จะเอามาบังแดดก็ไม่ได้ทนเท่ากันสาดของจริง ผมไม่ค่อยมีไอเดียเท่าไหร่ว่าจะนำไปต่อยอดอย่างไร เพระป้ายหาเสียงไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการรีไซเคิล
จากที่เคยลองจับ ถ้าเอามาทำเป็นกระเป๋าอาจจะฉีกขาดง่าย เพราะกระบวนการทำกระเป๋าต้องมีการพับ หรือเย็บ ไวนิลของป้ายหาเสียงไม่มีความเหนียว หรือหนาเพียงพอ”
ปัจจุบัน กระเป๋าป้ายหาเสียงของบาสยังเป็นเพียงม็อคอัพจากคอมพิวเตอร์ ทว่าเมื่อสอบถามความเป็นไปได้ในการผลิตกระเป๋าป้ายหาเสียงออกมาจริงๆ บาสตอบว่า เขาทดลองทำอาตเวิร์กเลียนแบบป้ายหาเสียงจริง แต่ก็ยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ผิดกฏหมายหรือไม่ มากไปกว่านั้นยังศึกษาเรื่องวัสดุอย่าง ‘ไวนิล’ เพราะมันมีความหนาหลากหลาย
“ทำออกมาสนุกๆ อย่างมากก็ขายเพื่อน แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากหิ้วไปคูหาเหมือนกัน (หัวเราะ)”
ถ้าของเมืองนอกเป็นฟรายถาก (Freitag) ของเราก็เป็นฟายไทย (Faithai) น่าจะล้อเลียนอะไรได้เยอะดี แต่ถ้าอยากใช่ชื่อเท่ๆ อาจจะตั้งว่า เดอะ แคนดิเดต (The Candidate)
เจ้าของไอเดียกระเป๋าป้ายหาเสียงบอกว่า ประหลาดใจพอสมควรหลังจากเห็นผลงานของตัวเองได้รับความนิยมสูงบนเฟซบุ๊ก และเมื่อพิจารณาลึกลงไปจะเห็นว่า คนแชร์ส่วนใหญ่คือ ‘กลุ่มวัยรุ่น’ ซึ่งส่วนตัวบาสมองว่า คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น 24 มีนาคมนี้
“เหตุผลที่วัยรุ่นหันมาสนใจคงเป็นเพราะ ทรงกระเป๋าแบบที่พวกเขาใช้งานกันอยู่ อีกสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ ประเทศไทยไม่ได้เลือกตั้งมานานแล้ว คนอายุ 18 กำลังจะได้เลือกตั้งครั้งแรก หรือคนอายุเลย 18 มานานแล้วก็ไม่ได้เลือกตั้งสักที ทำให้หลายคนตื่นตัวทางการเมือง และความจริงคนรุ่นใหม่อาจจะสนใจการเมืองอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้พวกเขาแสดงออกได้ไม่เต็มที่” บาสแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลตอบรับของกระเป๋า และความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่
บาสเล่าต่อว่า การออกแบบมีความสามารถในการสื่อสารกับคนหมู่มาก ไม่ใช่แค่ตัวอักษร แต่การเลือกรูป หรือการจัดวาง สามารถฝังเข้าไปในหัวของผู้ชม ซึ่งตนเองอยากทำกระเป๋าที่เลือกส่วนหนึ่งของป้ายหาเสียงออกมา เพื่อให้เห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น
การออกแบบคือ เครื่องมือหนึ่งในการแสดงออกทางการเมือง มีพลังในการชี้นำไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม
“ศิลปะตีความได้หลากหลาย ศิลปินไทยหลายคนใส่ข้อความทางการเมืองลงไปในผลงาน จะเห็นได้ว่าช่วงที่ถูกปิดกั้นในการแสดงออก งานศิลปะก็มีมากขึ้นตามไปด้วย” บาสกล่าวทิ้งท้าย