ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาเรียกร้อง รัฐปฏิรูประบบประกันสังคมต้องเป็นอิสระไม่อยู่ใต้รัฐครอบงำ ย้ำต้องฟังเสียงประชาชน ยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยกกรณี 'ศรีพันวา' ถูกสังคมจับตาไร้การตรวจสอบที่มาการลงทุน นัด 7 ต.ค. ยื่นจดหมายเปิดผนึกขอความชัดเจนบริหารเงินกองทุนฯ

เวทีเสวนา 'ฟังเสียงเจ้าของเงิน : ประชาชนต้องมีสิทธิร่วมบริหารประกันสังคม' จัดโดย เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้ประกันตนและนักเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกฎหมายประกันสังคม กล่าวว่า ก่อนจะมีกฎหมายประกันสังคม สถานการณ์คนงานค่อนข้างแย่ ยากจน มีเพียงค่าแรงขั้นต่ำ อยู่ในโรงงานขนาดเล็กและถูกนายจ้างเอาเปรียบ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เวลาเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ จะไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการจากนายจ้าง ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาให้ความรู้ เริ่มขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการ เริ่มมีนักการเมืองสนใจชูเป็นนโยบายพรรค เกิดแรงกระเพื่อม แรงงานตื่นตัว มีแนวร่วมต่างๆ เข้ามาสนับสนุน ทั้งกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการรณรงค์กฎหมายประกันสังคม ที่มาจากกลุ่มคนงานในหลายพื้นที่ เช่น แรงงานอ้อมน้อมน้อย อ้อมใหญ่ พระประแดง รังสิต เอ็นจีโอ สื่อมวลชน นักวิชาการ พนักงานเอกชน ห้างร้าน ธนาคาร เห็นถึงความสำคัญ สู่การผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้มีอุปสรรคเพราะเป็นช่วงรอยต่อเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เต็มใบ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทหาร นายทุน ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ พยายามต่อต้านมาตลอด 

โดยจะเด็จ กล่าวด้วยว่า จุดอ่อนประกันสังคม คือ โครงสร้างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ การตรวจสอบจึงทำได้ยาก เงินที่นำไปลงทุน กรรมการบอร์ดที่มาจากฝั่งลูกจ้างจะรับรู้น้อยมาก รู้แค่ว่ามีกำไรขาดทุนไหม แต่จะไม่รู้เลยว่าการลงทุนนี้นำมาสู่การเติบโตอย่างไร หรือเกิดความโปร่งใสได้อย่างไร ตรงนี้จึงเป็นปัญหา เป็นจุดอ่อนของการมีส่วนร่วม เพราะตรวจสอบไม่ได้ พออะไรที่รวมศูนย์อำนาจ การบริหารงานที่นำไปสู่ความโปร่งใสจึงมีน้อย เช่น เกิดการตั้งคำถามของประชาชนต่อกรณีโรงแรมศรีพันวา จ.ภูเก็ต เพราะไม่รู้เลยว่าธุรกิจที่ประกันสังคมไปสนับสนุนอยู่ เอาเปรียบคนงานหรือไม่ ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่

ทางออก คือ ระหว่างนี้จะมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม จากเดิมที่ให้ราชการคัดเลือก ภายใต้มาตรา 44 ของ คสช.จึงถึงเวลาแล้วที่จะมีเลือกตั้งบอร์ดใหม่ เพื่อให้ผู้ประกันตนที่มีอยู่ 14 ล้านคน ได้มีสิทธิเลือก ไม่ควรจะยืดเวลา ขอให้ภาครัฐที่บริหารงานอยู่ตอนนี้ เร่งให้เกิดการมีส่วนร่วม และปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมให้ชัดเจน มีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้รัฐ มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับ สปสช.ที่มีความเป็นอิสระ และปฏิรูปเรื่องการบริหารจัดการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ต้องครอบคลุมคนงานนอกระบบด้วย รวมถึงสวัสดิการรักษา ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้ง สปสช.และประกันสังคม เพราะเรื่องนี้คนงานเรียกร้องมานานกว่า 10 ปีแล้ว

ด้าน อรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) กล่าวว่า ประกันสังคมใช้มานาน 30 ปี จำเป็นต้องสังคายนา ปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างบริหารจัดการ ให้ทันยุคทันสมัย ต้องปฏิรูปให้ดีขึ้น การบริหารงานต้องเป็นอิสระ เอาคนเก่งจริงๆ เข้ามาบริหาร ให้ทันต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงาน เช่น ช่วงที่แรงงานเจอปัญหาโควิด-19 ระบบระเบียบเงื่อนไขล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทั้งที่ต้องดูแลแรงงานอย่างเฉียบพลันทันที ดังนั้นการมีส่วนร่วม จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมานานกว่า 10 ปี กรรมการบอร์ดประกันสังคมที่มาจากผู้แทนลูกจ้างนายจ้าง อยากให้เกิด 1 สิทธิ 1 เสียง มีโควตาแรงงานนอกระบบ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน

อรุณี กล่าวด้วยว่า กว่าจะได้กฎหมายประกันสังคม ต้องสูญเสียหยาดเหงื่อแรงงานไม่ใช่น้อย เวลานำเงินไปลงทุน เช่น กรณีโรงแรมศรีพันวาภูเก็ต ก็ไม่เคยลงลึกหรือแจ้งรายละเอียดให้บอร์ดทราบ คนที่รู้เรื่องจะมีแค่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานประกันสังคม ที่สำคัญไม่เคยรู้เลย ว่าการลงทุนครั้งนี้เขาดูแลลูกจ้างดีหรือไม่อย่างไร 

ดังนั้นต้องมีเงื่อนไขว่าธุรกิจนั้นๆ ต้องเคารพศักดิ์ศรี กติกาการเป็นหุ้นส่วนกับคนงาน จะต้องดูแลคนงานเป็นมาตรฐานสากล อย่าเอาเปรียบ อย่าไปจ้างงานแบบผิดกฎหมาย เพราะคุณเอาเงินผู้ประกันตนไปทำธุรกิจ คุณก็ต้องให้เกียรติคนงาน หากตรวจสอบว่าธุรกิจเอาเปรียบในลักษณะนี้ก็ไม่สมควรที่ประกันสังคมจะไปลงทุนด้วย 

นอกจากนี้ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับฟังเสียงของผู้ประกันตนเพื่อให้เกิดกติกา เกิดความเป็นธรรม ส่วนผู้ประกันตน ต้องสนใจระบบบริหารจัดการงานของประกันสังคมให้มากกว่านี้ ว่าเขาทำหน้าที่สมบูรณ์หรือไม่ เพื่อกลั่นกรองคุณภาพ นำไปสู่การจ้างงานที่เป็นสากล

ขณะที่ บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ระบบบริหารของสำนักงานประกันสังคมที่ผ่านมา มีปัญหา คือ 1.บริหารแบบราชการรวมศูนย์ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว 2.ระบบต้องดูแลประโยชน์ทดแทน 7 กรณี เรื่อง เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ การเสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ บำเหน็ดบำนาญ ว่างงาน มีสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน อาจนำไปสู่ปัญหาธรรมาภิบาล ระบบราชการต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายการเมือง แต่งตั้งโดยรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นอิสระ นโยบายการทำงานจึงขึ้นอยู่ภายใต้ฝ่ายการเมือง นำมาซึ่งความไม่โปร่งใส นอกจากนี้ยังมีเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน นายจ้าง ทั้งมาตรา 33 39 44 โดยการคัดเลือก นโยบายการบริหารเงินสมทบ สิทธิประโยชน์ ระยะยาว การแต่งตั้งก็มาจากอำนาจของ คสช.

“จนถึงตอนนี้ การเลือกตั้งบอร์ด ยังไม่คืบหน้า เนื่องจากเงื่อนไขของกฎหมายกำหนดให้ รมว.แรงงานจะต้องออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือก ร่างระเบียบตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงแรงงาน อีกทั้งนายจ้างผู้ประกันตนไม่มีส่วนได้รับรู้การตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้ จึงควรนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างในการบริหารจัดการให้เป็นองค์กรอิสระ ไม่ใช่เป็นแบบราชการรวมศูนย์อย่างที่เป็นอยู่ คือต้องเป็นองค์กรนิติบุคคลที่ไม่ใช่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ สามารถคัดเลือกคณะกรรมการบริหารองค์กร ที่มีคุณสมบัติความรู้ ประสบการเชิงประจักษ์ เข้ามากำกับดูแลงาน ประเด็นต่อมา คือเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ต้องมาจากการสรรหาตามเงื่อนไขของคณะกรรมการกำหนด ไม่ใช่เป็นข้าราชการประจำที่ขึ้นอยู่กับรมว.กระทรวงแรงงาน” บัณฑิต กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังเสวนาเสร็จสิ้น ในวันที่ 7 ต.ค.ทางเครือข่ายสหภาพแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และภาคีเครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อบอร์ดประกันสังคม เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องการบริหารงานประกันสังคม รวมถึงกรณีศรีพันวาด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: