ไม่พบผลการค้นหา
จาก 'ดราม่าแบนศรีพันวา' สู่การตั้งคำถามถึง 'กองทุนประสังคม' ผู้ถือหุ้นใหญ่ ใช้เหตุผลใดอุ้มธุรกิจที่มีความเสี่ยง

หลัง ปลาวาฬ-วรสิทธิ์ อิสสระ เจ้าของรีสอร์ทศรีพันวา จ.ภูเก็ต ได้แสดงความเห็นทางการเมือง พาดพิงถึง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กรณีการกล่าวปราศรัยบนเวทีชุมนุม '19 กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร' ด้วยถ้อยคำรุนแรง

sripanwa02.jpg
  • จุดกำเนิดดราม่า

จนเป็นเหตุให้มีการติดแฮชแท็ก 'แบนศรีพันวา' ในโลกโซเชียลมีเดีย พร้อมขุดคุ้ยว่าในอดีต ปลาวาฬ-วรสิทธิ์ เคยร่วมชุมนุม กปปส.และมีการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทย 

ต่อมาได้มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า 3 อันดับแรก ได้ปรากฎชื่อดังนี้ 

1.) สำนักงานประกันสังคม ที่มีจำนวนหุ้น 63,072,615 หุ้น หรือ 22.60 %

2.) บริษัท ชาญอิสสระ เรสซิเดนซ์ จำกัด จำนวนหุ้น 54,390,157 หุ้น หรือ 19.49 %

3.) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 16,715,000 หุ้น หรือ 5.99 %

อย่างไรก็ดีเมื่อข้อมูลถูกเผยแพร่ การตั้งคำถามของคนในสังคมย่อมตามมา เนื่องจากการที่กองทุนประกันสังคม นำเงินของประชาชนจำนวนกว่า 16 ล้านคน ไปลงทุนในเครือศรีพันวา เพราะผลประกอบการที่ผ่านมานั้น เมื่อปี 2561 ขาดทุนกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจมีความเสี่ยงสูง

ก่อนที่ สุชาติ ชมกลิ่ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) แรงงาน ออกมายืนยันว่าประกันสังคมลงทุนไปเพียง 500 ล้านบาท แต่ผลกำไรงอกเงยแล้ว 200 ล้านบาท พร้อมชี้แจงว่าตามกฎหมายนั้น รมว.แรงงานไม่มีสิทธิรู้ข้อมูลในการลงทุน เนื่องจากเป็นการทำงานของหน่วยงานดังกล่าว

capture-20200922-092323.jpg

สำหรับประเทศไทยนั้นมีผู้ประกันตนกว่า 16 ล้านราย (ข้อมูลเมื่อเดือน มิ.ย. 2563) ใน 3 รายมาตรา แบ่งเป็น 

  • ม.33 หรือ ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีผู้ประกันตนจำนวน 11,295,514 คน 
  • ม.39 หรือ เคยเป็นผู้ประกันตน ม.33 มาก่อน มีผู้ประกันตน 1,737,744 คน 
  • ม.40 หรือ บุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปี มีผู้ประกันตนทั้งหมด 3,374,151 คน  

เตรียมสอบสวนการลงทุน

ความเคลื่อนไหวในการตรวจสอบการลงทุนของประกันสังคม 'จิรายุ ห่วงทรัพย์' ประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ อัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน ยืนยันว่าจะทำการสืบสวนสอบสวนกรณี กองทุนประกันสังคมนำเงินจำนวนมาก ไปลงทุนซื้อหุ้นประเภทเสี่ยงสูง

เช่นโรงแรมศรีพันวา ว่ามีเหตุผลอะไร และการดำเนินการมีผลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่อย่างไรเพราะที่ผ่านมาแค่การเยียวประชาชนที่ถูกหักเงิน ไปเข้ากองทุนประกันสังคมที่มีเงินในกองทุนปีๆหนึ่งจำนวนหลายแสนล้านบาทกลับล่าช้า จนถึงวันนี้ก็ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส บริษัทหยุดกิจการให้พนักงานพักงานทั้งที่เป็นเงินของพวกเขาเอง

รมว.แรงงานยันผลกำไรคุ้มค่า 

ขอคืนไม่ได้ขอทาน
  • กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน

สุชาติ ชมกลิ่น รมว. ชี้แจงถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กองทุนประกันสังคม ว่าตามกฎหมายรัฐมนตรีไม่มีสิทธิรู้ข้อมูลการลงทุน เนื่องจากมีคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มีลูกจ้างนายจ้าง และเลขาธิการประกันสังคม เป็นกรรมการ ทำหน้าที่อนุมัติกรอบหน้าที่การลงทุน ว่าจะลงทุนได้ภายใต้ความเสี่ยงกี่เปอร์เซ็น

ก่อนส่งต่อให้บอร์ดการลงทุน และผู้จัดการการลงทุน และจะรับประกันผลตอบแทน ซึ่งจัดจ้างมาเพื่อบริหารกองทุน กำหนดรายได้ไว้ที่ปีละ 5 % ทั้งนี้การร่วมลงทุนกับโรงแรมศรีพันวา มีมาตั้งแต่ 2556 ซึ่งตั้งคณะกรรมการบริหารลงทุนมาในปี 2558 ส่วนผลกระทบจากการแบนศรีพันวา ในโซเชียล รมว.แรงงาน ระบุว่า ลงทุนไปเพียง 500 ล้านบาท แต่จนถึงวันนี้ ได้ผลกำไรมาแล้ว 200 กว่าล้านบาท 

ขอคืนไม่ได้ขอทาน

ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้มีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า 'ขอคืนไม่ได้ขอทาน' ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) คืนเงินกองทุนชราภาพ ตามมาตรา 33 และ มาตรา 39

เนื่องจากเห็นว่าพระราชบัญญัติประกันสังคมนั้น มีความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกันตน เพราะจะจ่ายคืนให้ตอนอายุครบ 55 ปี จึงออกมาผลักดันให้ยกเลิกการบังคับ โดยให้ความอิสระต่อการตัดสินใจของผู้ประกันตน ว่าจะแบ่งเงินบางส่วนของกองทุนชราภาพมาใช้ในช่วงวิกฤต

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น นสพ.บูรณ์ อารยพล แกนนำขอคืนไม่ได้ขอทาน ได้เสนอทางออกว่า อยากให้ สปส.ปรับเปลี่ยนระบบกองทุน มาเป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อความโปร่งใสในการบริหารเงินลงทุน

ทั้งนี้คาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ เยาวชนที่เติบโตขึ้นจะไม่เข้าระบบ หากไม่ปรับตัวเพื่อสร้างความมั่นใจให้คนรุ่นใหม่ ยากที่กองทุนประกันสังคมจะยั่งยืน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง