คำพูดข้างต้น เป็นหนึ่งในความคิดเห็นที่ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร หรือ ซีอีโอ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) แลกเปลี่ยนกับ 24 คนรุ่นใหม่ ที่คัดเลือกจากกลุ่มธุรกิจในเครือฯ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีเอฟ ซีพีออลล์ แม็คโคร โลตัส และกลุ่มทรู และนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนระดับโลก ONE YOUNG WORLD 2022 ระหว่างวันที่ 5-8 กันยายน 2565 ณ เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองภายใต้แนวคิด “Catalyst of Change” ผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อความก้าวหน้าที่ยั่งยืน
โดยปีนี้กำหนดประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาวาระเร่งด่วนของโลกที่ต้องการให้เยาวชนจาก 190 ประเทศ ร่วมถกร่วมคิด 5 ด้านคือ 1. การป้องกันความขัดแย้ง (Conflict Prevention) 2. ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) 3. มหาสมุทร (Oceans) 4. ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม (Ethical Leadership) และ 5. สุขภาพ (Health) และมีบุคคลสำคัญระดับโลก อาทิ บัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ, พอล โพลแมน ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิ IMAGINE, จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีประเทศแคนาดา มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
หัวเรือใหญ่แห่ง CP เห็นว่าวาระสำคัญของโลก คือสิ่งที่สุดยอดผู้นำต้องประเมิน จินตนาการ ตั้งเป้าหมาย สร้างปัญญาและค้นหานวัตกรรมเพื่อผลักดันและแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้สำเร็จ
"เวลาคุณคิด อย่าลดละความฝันของคุณนะ อย่าลืมตั้งเป้าหมาย มันอาจจะเป็นเป้าหมายทีละสเต็ปสั้นๆ ที่เราทำได้ก่อน แต่อย่าหยุดเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงนั้น มันเสมือนเป็นสารตั้งต้นที่จะส่งคุณค่ามหาศาลต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลง"
เครือซีพีสนับสนุนการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนโลก One Young World ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 จนถึงปัจจุบันมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ One Young World ภายใต้การสนับสนุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์รวมทั้งสิ้น 165 คน รวมถึง ณิชา - ณิชาภัทร หาญเมธี และ แบงค์ - ไดโนเสาร์ พันธฤทธิ์ ที่เป็นตัวแทนในปีนี้พร้อมความสนใจด้านความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) และมหาสมุทร (Oceans)
ประสบการณ์ส่วนตัวที่ ณิชา - ณิชาภัทร หาญเมธี ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ทรู มันนี่ เผชิญในอดีตทำให้เธอตั้งคำถามและอยากผลักดันในประเด็น ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ Gender Equality ผ่านเวที ONE YOUNG WORLD 2022
หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยเธอและเพื่อนสนิทที่เป็นผู้ชาย ได้เข้าทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่งในบทบาทและตำแหน่งเดียวกัน โดยเธอทราบในเวลาต่อมาว่าอีกฝ่ายได้เงินรับเงินเดือนมากกว่า นั่นกลายเป็นคำถามที่ค้างคาและจุดประกายความรู้สึกไม่ยุติธรรมในใจเธอ
"ประสบการณ์เท่ากัน จบที่เดียวกัน เกรดพอกัน ตำเเหน่งเดียวกัน แต่ค่าแรงไม่เท่ากัน มันทำให้เราตั้งคำถามถึงความไม่เท่าเทียมกับโอกาสของผู้หญิงในที่ทำงาน" ณิชาภัทร เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการศึกษาประเด็น Gender Equality ซึ่งมีข้อเท็จจริงเชิงวิชาการ ตัวเลขสถิติต่างๆ ในหลายวงการตั้งแต่การศึกษา การจ้างงาน ตำแหน่งสำคัญในองค์กร รวมถึงพื้นที่ทางการเมือง ขณะเดียวกันในเชิงความรู้สึกก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงยังมักตกเป็นรอง โดยเฉพาะในประเทศไทย
ไอเดียของเธอคือการใช้การศึกษาและครอบครัวนำการเปลี่ยนแปลงเชิงความรู้สึกนึกคิดที่ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน
“ผู้หญิงหลายคนเติบโตมากับความรู้สึกว่าต้องเป็นผู้ดูแลเรื่องในบ้าน ความรับผิดชอบอะไรบางอย่างที่พ่วงมากับความเป็นผู้หญิง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของทุกคนในครอบครัว สิ่งพวกนี้คิดว่าพ่อแม่สามารถให้คำอธิบายหรือปลูกฝังได้ตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก”
ผู้นำที่โดดเด่นของ ‘ณิชา’ คือคนที่มีความกล้าและทรงอิทธิพลต่อผู้อื่น
"กล้าในที่นี้คือกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง" ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ วัย 30 ปีขยายความ
จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งนิวซีแลนด์ คือผู้นำที่เธอยกย่อง โดยประทับใจการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อประเด็นอ่อนไหวต่างๆ ทั้งโรคระบาดและอาชญากรรมได้อย่างมืออาชีพ จนได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก
"เธอเป็นคนกล้าที่จะทำ กล้าที่จะเปลี่ยน และทำมันได้อย่างรวดเร็ว"
อีกเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ของผู้นำคือ Passion แพสชัน และ Empathy ความเห็นอกเห็นใจ
“อย่าคิดว่าเราเป็นจุดศูนย์รวมของโลก เราอยู่ในสังคมที่รายล้อมรอบไปด้วยผู้อื่น เราเป็นเพียงแค่จุดๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นอย่าสำคัญตัวเองผิดหรือมากเกินไป”
ผู้นำวัย 30 ปี คาดหวังว่าจะได้เจอกับ “คนเก่งๆ” จากทั่วโลกในการประชุม ONE YOUNG WORLD เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดีย เก็บเกี่ยวพลังนำกลับมาผลักดันและเปลี่ยนแปลงตามโอกาสของตัวเอง
“จะไปเปิดรับให้เต็มที่เลยค่ะ ฟัง ตั้งคำถามและแชร์เพื่อให้เราตกผลึกมากกว่านี้”
เด็กที่เกิดและโตในพื้นที่ชนบทแห่งท้องทะเลสงขลาอย่าง แบงค์ - ไดโนเสาร์ พันธฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปี 3 สาขาศึกษาศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยทักษิณ ถูกสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ใกล้ตัวปลุกภาวะผู้นำในตัวเอง
“ผมสนใจเรื่องท้องทะเลและมหาสมุทร เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยังเด็ก สมัยก่อนผมเคยเห็นทะเลยิ้มได้ แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ทั้งปัญหาระบบนิเวศเสื่อมโทรม โลกร้อน การกัดเซาะชายฝั่ง การลดลงของปริมาณสัตว์น้ำปะการัง รวมถึงเรื่องพื้นฐานอย่างขยะ”
วิกฤตของมหาสมุทรและภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่อยู่ใกล้กันมากกับ ‘ปากท้องและการดำรงอยู่ของมนุษย์’
“คุณพ่อของเพื่อนผมเป็นชาวประมง ทุกวันนี้เขาออกไปหาปลาไม่ได้ หรือถ้าจะออกก็ต้องไปให้ไกลกว่าเดิม ซึ่งนั่นหมายถึงต้นทุนที่แพงขึ้น ทั้งค่าแรงและค่าน้ำมัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นเลยว่ามนุษย์กับสิ่งแวดล้อมนั้นสัมพันธ์กันมากกว่าที่คิด”
จำเป็นมากที่ต้องพยายามเชื่อมโยงให้ผู้คนเห็นภาพที่เกี่ยวโยงกัน เพื่อให้โลกใบนี้ฟื้นฟูหรือเขยิบเข้าใกล้เคียงกับความยั่งยืนให้มากขึ้น ซึ่งหน้าที่นั้นหนีไม่พ้นบทบาทของ “ผู้นำ”
“ผู้นำสำหรับผมคือคนที่ริเริ่ม สร้างแรงบันดาลใจและทำให้เกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่” เขาให้คำนิยาม
ในวัย 20 ปี ไดโนเสาร์อธิบายสเป็กหรือคุณสมบัติของผู้นำที่เขายอมรับและอยากก้าวไปเป็น “ผมคิดว่ามีสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยอยู่ 3 อย่างครับ”
1.มองบวก : มองบวกในแง่ความเป็นจริง แต่ไม่ละเลยในเชิงความรู้สึก การจะชักนำคนอื่นได้ เราต้องเห็นปัญหา เห็นโอกาส บวกไม่ได้หมายถึงการมองโลกในแง่ดี แต่หมายถึงการคิดต่อยอดเพื่อคลี่คลายปัญหานั้นๆ “บวกต่อไปเรื่อยๆ ครับ”
2.รับฟัง : การฟังอย่างจริงใจเป็นพื้นฐานของผู้นำ เราหลีกหนีเสียงวิจารณ์ไม่ได้ ต้องรับฟังเพื่อให้เห็นจุดอ่อนและเปลี่ยนมันเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงตัวเอง
3.กระตุ้นและผลักดันผู้อื่น : ผู้นำต้องเปิดกว้าง ไม่เพิกเฉยต่อปัญหา พยายามออกแบบวิธีการพัฒนาและกระตุ้นผู้อื่น
“ผู้นำต้นแบบผมมีหลายคน แต่ที่คิดว่ามีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมคิดหวังคือ คุณสืบ นาคะสถียร ผมหยิบเขามาเป็นแรงบันดาลใจ เขาพูดแทนสัตว์น้อยใหญ่และปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนของเสียงที่พูดกับเราไม่ได้ ผมชื่นชมในการอุทิศตัวเองให้กับสิ่งที่เขาหลงใหลจริงๆ
“หากวันหนึ่งหากผมต้องเข้าไปอยู่ในระบบราชการ ก็อยากสร้างอิมแพคในเชิงบวกให้มากที่สุด” ไดโนเสาร์บอกทิ้งท้าย
ในวันที่ศุภชัยพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ 24 ตัวแทนเยาวชนไทย เขาบอกด้วยความเชื่อมั่นว่า “การจะทำโลกก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้ จะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง”
“ผมคิดว่าการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนมี 2 ประเด็นสำคัญ 1.) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทุกประเทศทั่วโลก ต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน เหมือนเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งจะกลายเป็นกลไกสำคัญที่ภาคเอกชนจากทั่วโลกจะได้ขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริงๆ เพราะว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งโลก คือ GDP 90% ของโลก และการจ้างงาน 90 % ของโลก 2.) เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือการปฏิรูปการศึกษา เพราะคนที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ก็คือเด็กวันนี้ ไม่ใช่วัยผมแล้ว ซึ่งใช้เวลาไม่นานเลย 15 ปีเท่านั้นเอง ถ้าเรา education reform ได้ เขาก็จะเปลี่ยนโลกได้ และเปลี่ยนได้ดีกว่าเราที่โตมาในยุค 2.0 อีก ซึ่งเราต้องสนับสนุนให้เขามีเครื่องไม้เครื่องมือมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ในโลก 4.0 ด้วย”
ตัวแทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมในเวที One Young World โดยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของเครือซีพีมากว่า 7 ปี จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มี Passion และ Mindset เปี่ยมพลัง และมุ่งมั่นขับเคลื่อนโลกใบนี้สู่ความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป